วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ภาษีกับผลตอบแทนจากการลงทุน

เมื่อพูดถึงการลงทุน สิ่งที่ผู้ลงทุนให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกคือ ผลตอบแทนจากการลงทุน ซึ่งทุกคนย่อมอยากได้การลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงภายใต้ความเสี่ยงที่ต่ำ อย่างไรก็ตาม ผลตอบแทนจากการลงทุนหลายประเภทต้องลดลงจากภาษีที่ผู้ลงทุนต้องเสีย ผู้ลงทุนจึงควรทราบว่า ผลตอบแทนจากการลงทุนแต่ละประเภทมีภาระภาษีอย่างไรบ้าง เพื่อให้สามารถเลือกผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะสมกับตัวเองและได้รับผลตอบแทนที่ดีที่สุด

ผลตอบแทนจากการลงทุนที่ปลอดภาษี
  • ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ ดอกเบี้ยที่ผู้ลงทุนได้รับจากการฝากเงินในบัญชีออมทรัพย์ หากดอกเบี้ยเป็นเงินไม่เกิน 20,000 บาท ต่อปี ผู้ฝากเงินจะได้รับยกเว้นภาระภาษี
  • ดอกเบี้ยเงินฝากประจำรายเดือนแบบปลอดภาษี สำหรับเงินฝากประจำที่ผู้ฝากเงินต้องฝากเงินเป็นประจำทุกเดือนเป็นเวลา 2 หรือ 3 ปี โดยยอดเงินฝากรวมต้องไม่เกิน 600,000 บาท ดอกเบี้ยที่ได้รับจากการฝากเงินไม่ต้องเสียภาษี
  • มูลค่าหน่วยลงทุนที่เพิ่มขึ้นของกองทุน สำหรับผู้ที่ลงทุนในกองทุนรวมทุกประเภท อาทิเช่น กองทุนตราสารหนี้ กองทุนหุ้น กองทุนทองคำ เป็นต้น กำไรจากมูลค่าหน่วยลงทุนที่เพิ่มขึ้นไม่ต้องเสียภาษี อย่างไรก็ตาม หากเป็นการขายกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ที่ผิดเงื่อนไขของกรมสรรพากร ผู้ลงทุนจะต้องนำกำไรที่ได้รับจากการขายหน่วยลงทุนทั้งสองประเภทรวมคำนวณในการยื่นแบบภาษีของปีที่มีการขายหน่วยลงทุน
  • ดอกเบี้ยเงินฝากบัญชีธนาคารของผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ผู้มีเงินได้ที่มีอายุ 65 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป จะได้รับยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้ทุกประเภท ซึ่งรวมถึงเงินได้จากดอกเบี้ยเงินฝาก เป็นเงินไม่เกิน 190,000 บาทต่อปี ดังนั้น สำหรับผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ไม่มีรายได้ประเภทอื่นและรายรับดอกเบี้ยไม่เกิน 190,000 บาท การฝากเงินในธนาคารจะเป็นอีกช่องทางการลงทุนที่ปลอดภาษี
  • กำไรจากการซื้อขายหุ้นสามัญในตลาดหลักทรัพย์ สำหรับผู้ที่ลงทุนในสินทรัพย์ที่มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์และตลาดอนุพันธ์ เช่น หุ้นสามัญ ใบสำคัญแสดงสิทธิ (Warrant) และ Futures เป็นต้น กำไรที่เกิดขึ้นจากส่วนต่างราคาจะได้รับยกเว้นภาษี
  • ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ที่ได้รับจากสหกรณ์
ผลตอบแทนจากการลงทุนที่ต้องเสียภาษี
ผู้ลงทุนที่ได้รับผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยเงินฝากประจำ ดอกเบี้ยพันธบัตรและหุ้นกู้ เงินปันผลของหุ้นสามัญ และเงินปันผลของกองทุน จะเสียภาษีในอัตราที่แสดงดังตารางด้านล่าง
รูปแบบของผลตอบแทน อัตราภาษี (%)
ดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 15
ดอกเบี้ยพันธบัตรและหุ้นกู้ 15
เงินปันผลของหุ้นสามัญ 10
เงินปันผลของกองทุน 10

สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากประจำ พันธบัตร หุ้นกู้ และเงินปันผลของหุ้นสามัญ โดยปกติแล้ว ผู้ลงทุนจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย อย่างไรก็ตาม หากผู้ลงทุนมีฐานภาษีที่ต่ำกว่าอัตราภาษี ขอแนะนำให้นำรายได้เหล่านี้กลับมารวมคำนวณเป็นเงินได้หมวด 40 (4) เพื่อเสียภาษีตามฐานภาษีในการคำนวณเงินได้

ตัวอย่างเช่น นาย ก ซึ่งปัจจุบันเกษียณ มีเงินได้จากดอกเบี้ยเงินฝากประจำและพันธบัตรรัฐบาล ปีละ 150,000 บาท หากนาย ก ไม่ได้ยื่นภาษี ดอกเบี้ยเงินฝากประจำและพันธบัตรรัฐบาลที่ได้รับจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย เป็นเงิน 22,500 บาท แต่หากนาย ก นำรายได้ดังกล่าวไปยื่นแบบภาษีเงินได้ นาย ก จะไม่ต้องเสียภาษี เนื่องจาก เงินได้ตั้งแต่ 0 – 150,000 บาท ได้รับยกเว้นภาษี ในกรณีนี้ นาย ก จะได้รับเงินคืนจากกรมสรรพากรเป็นเงิน 22,500 บาท

อย่างไรก็ตาม การนำเงินได้ในหมวด 40 (4) มาแสดงเป็นเงินได้ จะต้องนำรายได้ประเภทนั้นทั้งหมดมาแสดง เช่น หากนาย ก ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากจาก 5 ธนาคาร และดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล นาย ก ต้องนำดอกเบี้ยของทุกธนาคารและพันธบัตรรัฐบาลมายื่นแบบภาษีเงินได้

ส่วนเงินปันผลของกองทุนถือว่าเป็นรายได้ประเภท 40 (8) โดยผู้ลงทุนสามารถเลือกในขณะที่เปิดบัญชีกองทุนว่า ต้องการหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือนำไปรวมคำนวณในการยื่นแบบภาษีเงินได้ ซึ่งหากผู้ลงทุนเป็นพนักงานมีรายได้ประจำ ขอแนะนำให้เลือกหักภาษี ณ ที่จ่าย แต่หากโดยปกติผู้ลงทุนไม่เสียภาษีเงินได้ การนำเงินปันผลมาคำนวณเป็นรายได้แล้วยื่นแบบภาษี จะช่วยลดภาระภาษีลงได้

สิ่งสำคัญในการนำรายได้จากดอกเบี้ยเงินฝากประจำ ดอกเบี้ยพันธบัตรและหุ้นกู้ เงินปันผลของหุ้นสามัญ และเงินปันผลของกองทุน มารวมคำนวณเพื่อยื่นแบบภาษีเงินได้ คือ หลักฐานแสดงรายได้จากดอกเบี้ยและเงินปันผล เนื่องจากกรมสรรพากรมีโอกาสขอหลักฐานการรับดอกเบี้ยและเงินปันผล ดังนั้น ผู้ลงทุนต้องเก็บหลักฐานเอาไว้ หรือหากไม่มีหลักฐานดังกล่าว สามารถขอจากบริษัทที่จ่ายดอกเบี้ยหรือเงินปันผลให้กับท่านได้

แม้ว่าภาษีจะทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนลดลง แต่ภาษีก็ไม่ใช่ประเด็นหลักในการพิจารณาเลือกสินทรัพย์ในการลงทุน โดยสิ่งสำคัญที่ผู้ลงทุนควรพิจารณาคือ ระดับความเสี่ยงที่ตนเองสามารถยอมรับได้ และผลตอบแทนคาดหวัง เพื่อเลือกลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ตามระดับความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม

แหล่งที่มา   ธนาคารกสิกรไทย โดย : ปานตา ฉัตรมาศ ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาการเงินส่วนบุคคล  ธนาคารกสิกรไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...