วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

นวัตกรรมเอาน้ำกลับมาใช้ใหม่ - ฉลาดคิด

เพราะในปัจจุบันกระแสรักษาสิ่งแวดล้อมได้รับความสำคัญ โดยเฉพาะทรัพยากรน้ำ ที่หลังจากมหาอุทกภัยที่ผ่านมา ทำให้หลายฝ่ายมีความตื่นตัวในเรื่องของน้ำมากขึ้น และเห็นความสำคัญของการจัดการทรัพยากรน้ำมากขึ้น

โดยแนวคิดการจัดการของทรัพยากรน้ำ โดยการ “ลดการใช้น้ำ ใช้ซ้ำ นำกลับมาให้ใหม่” เป็นที่กล่าวถึงในวงกว้าง ทำให้เกิดนวัตกรรมการจัดการทรัพยากรน้ำขึ้นมาอย่างมากมาย

“นายพิพัฒน์ จันทร์ประดิษฐ์ นายอธิราชย์ เริงณรงค์ นายศราวุฒิ แดงสุทัศนีย์ นางสาวศุทธินี จริงจิตร และนางสาวธิดารัตน์ ผลพิบูลย์” นักศึกษาจากคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในชื่อทีม ไบออท-อะโกร (Biot-Agro) เจ้าของผลงาน “3-section for Biogas and water reuse” ที่ชนะเลิศการแข่งขันโครงการประกวดนวัตกรรมจัดการน้ำด้วย 3R จัดโดย อีสท์วอเตอร์

น้องๆ บอกถึงที่มาของผลงานนี้ว่า ในปัจจุบันมีการใช้น้ำอย่างฟุ่มเฟือย แต่ในขณะเดียวกันทรัพยากรน้ำบนโลกกำลังลดลง เลยเล็งเห็นว่า เราจะทำอย่างไรให้น้ำที่ใช้ไปสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ อย่างเช่นการใช้น้ำในการล้างจาน ล้างผัก เป็นการใช้น้ำอย่างฟุ่มเฟือยมาก แต่ถ้าหากเรานำน้ำเหล่านั้นกลับมาใช้ให้เป็นประโยชน์ เช่นนำมาหมักร่วมกับใบไม้แห้งหรือมูลสุกร ก็จะสามารถทำให้เกิดก๊าซชีวภาพ ซึ่งสามารถจะใช้เป็นก๊าซหุงต้มต่อไปได้ และน้ำส่วนที่เหลือหลังจากการตกตะกอนแล้วก็ยังสามารถนำมาใช้ในแปลงผักปลอดสารได้

ดังนั้นจึงจัดทำผลงานนี้ขึ้น เพื่อที่จะสามารถนำน้ำที่ใช้ไปแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด แบบครบวงจร เหมาะสำหรับทั้งในครัวเรือน ชุมชน และในชนบท

พิพัฒน์ อธิบายถึงนวัตกรรมดังกล่าวว่า เป็นนวัตกรรมจัดการน้ำแบบครบวงจร ที่ประกอบไปด้วย ถังหมักชีวภาพ สำหรับหมักน้ำ เศษใบไม้ และมูลสุกร ซึ่งจะมีท่อยางทำหน้าที่ส่งก๊าซชีวภาพที่ได้จากถังหมักนำไปใช้เป็นก๊าซหุงต้มได้ และท่อยางอีกเส้นจะเชื่อมต่อ กับถังตกตะกอนน้ำ เพื่อที่จะนำมาใช้เป็น ระบบน้ำหยดสำหรับใช้งานในแปลงผักออแกนิกส์ โดยทั้งระบบนี้จะทำงานได้ด้วยจักรยานทดไฟ สำหรับในครัวเรือนที่มีขนาดเล็ก และมอเตอร์ไฟฟ้าในขนาดชุมชน

สำหรับจุดเด่นของนวัตกรรมนี้ คือการประยุกต์ใช้อุปกรณ์ในการประดิษฐ์ผลงานนี้ ซึ่งสามารถใช้วัตถุดิบที่มีราคาย่อมเยา และหาได้ง่าย นอกจากในพื้นที่ชนบทที่ยังไม่มีไฟฟ้าเข้าถึง ก็ยังสามารถใช้จักรยานปั่นทดไฟ สำหรับใช้กับผลงานชิ้นนี้ได้


อนาคตจะมีการนำนวัตกรรมนี้ไปใช้ในชุมชนซึ่งจะทำให้คนในชุมชนได้ลดภาระค่าใช้จ่ายได้จำนวนหนึ่ง

ทั้งหมดนี้ก็คือนวัตกรรมจัดการน้ำ ฝีมือเยาวชนไทย ที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและแก้ปัญหาทรัพยากรน้ำให้เคียงคู่อยู่กับเราได้ไปอีกนานแสนนาน
แหล่งที่มา   เว็บไซต์เดลินิวส์ โดยกฤษฎา  เชวงทรัพย์ วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤษภาคม 2555 เวลา 00:00 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...