วันอังคารที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2560

"พริ้ว" "พลิ้ว" ต่างกันอย่างไร

“พลิ้ว”
ใช้ ล กล้ำถูกต้องแล้ว

แต่ก็ไม่ทราบว่าเดิมทีเดียวจะใช้ ร กล้ำหรือเปล่า และได้เคยมีผู้เสนอให้เก็บคำว่า “พริ้ว” เข้าไว้ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานด้วย แต่คณะกรรมการชำระปทานุกรม และคณะกรรมการปรับปรุงพจนานุกรมท่านไม่ยอมรับ

ทั้งนี้เพราะคำว่า “พลิ้ว” นั้นมีความหมายเช่นเดียวกับ “ปลิว” นั่นเอง
- ตัว ป กับตัว พ เป็นพยัญชนะวรรคเดียวกันสับกันได้ และ
- ไม่ใช่เฉพาะ ป กับ พ เท่านั้น อาจสับกับตัวอื่นคือ ผ ฝ และ ฟ ได้ด้วย
เช่น ปาก กับ ฟาก ซึ่งอาจหมายถึง “ฝ่าย” ก็ได้
เช่น “หัวเมืองปักใต้ ฝ่ายเหนือ” หรือ “หัวเมืองปากใต้ ฝ่ายเหนือ”

คำว่า “ปัก” (ไม่มี ษ การันต์) หรือ
“ปาก” ในที่นี้ก็มีความหมายเท่ากับ “ฝ่าย” นั่นเอง และ
คำว่า “ฟาก” เช่น ข้ามฟาก หรือ “ฟากข้างโน้น” แล้วกร่อนมาเป็น “ฟากขะโน้น” ก็คือ “ฝ่าย”

เช่นเดียวกัน คำว่า “ฝักฝ่าย”
- “ฝัก” ในที่นี้ก็คือ “ฝ่าย” นั่นเอง หรือ
- คำว่า “บานแพนก” ในหนังสือเก่า ๆ เดี๋ยวนี้ก็ใช้ว่า “บานแผนก” หมดแล้ว หรือ
- “แปลก” กับ “แผก” เช่นในคำว่า “ผิดแผก” กับ “ผิดแปลก” ก็มีความหมายอย่างเดียวกัน

คำว่า “พลิ้ว” กับ “ปลิว”
ก็มีลักษณะอย่างเดียวกัน ในพจนานุกรม ฉบับ พ.ศ. ๒๕๒๕ จึงได้เก็บคำว่า “พลิ้ว” ไว้คำเดียว และได้ให้ความหมายไว้ว่า “ก. บิด, เบี้ยว, เช่น มีดคมพลิ้ว, สะบัดเป็นคลื่นไปตามลม เช่น ธงพลิ้ว.” ข้อความที่ว่า “มีดคมพลิ้ว” นี้ ต่อมาคณะกรรมการชำระปทานุกรมได้แก้เป็น “คมมีดพลิ้ว”

คำว่า “พลิ้ว” นี้ ก็ยังมีผู้เขียนผิด ๆ อยู่เสมอ
เช่น
- ในนิตยสารฉบับหนึ่ง ชื่อ “สะบัดช่อ” ฉบับที่ ๑๒๔ เรื่อง “ระเริงไฟ” ของ จัน ดารา มีข้อความตอนหนึ่งว่า “ความซาบซ่านระคนวาบหวิวพริ้วเพริด” หรือ
- ในนวนิยายเรื่อง “หิมะไฟ” ของ ยุพา รำไพ ในนิตยสารชื่อเดียวกัน ฉบับที่ ๑๒๓ มีข้อความตอนหนึ่งว่า “ยิ้มคมเหมือนสมน้ำหน้า ขณะพริ้วกายหลุดจากอ้อมกอดค้ากำไร”

คำว่า “พลิ้ว” ไม่ว่าจะในกรณีใด ๆ ก็ตาม ใช้ได้เพียงรูปเดียวเท่านั้น 
คือ “พลิ้ว” ที่มี ล กล้ำ เท่านั้น

แหล่งที่มา   เว็บไซต์ http://www.unigang.com/Article/20224

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...