การจ่ายเงินรายได้ไม่ครบถ้วน
ว่าจริงๆ แล้วเงินที่ทางผู้จ้างได้จ่ายให้ผู้รับจ้างไม่ครบนั้น เพราะว่าทางผู้จ้างได้หักภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ซึ่งในส่วนนี้คิดว่าทางผู้รับจ้างก็คงยังไม่ทราบว่าเป็นการหักภาษีไว้ จึงคิดว่า!!! นี่มันจ่ายเงินไม่ครบนี่ คิดจะโกงกันหรือไง
ดังนั้น จะขออนุญาตอธิบายและคุยถึงความหมายของภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ว่ามันคืออะไร?
- ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย -
ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย คือ จำนวนเงินที่กฎหมายกำหนดให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินจะต้องหักออกจากเงินได้ก่อนจ่ายให้แก่ผู้รับทุกคราว หรือเป็นจำนวนเงินภาษีที่ผู้จ่ายเงินออกภาษีแทนผู้มีเงินได้ตามหลักเกณฑ์วิธีการที่กฎหมายกำหนดและนำส่งแล้ว ซึ่งถือเป็นเงินได้พึงประเมินที่ผู้เสียภาษีได้รับ และเป็นเครดิตภาษีของผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในการคำนวณภาษีที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีประจำปี
สรุปให้ฟังง่ายๆ ว่า ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย คือ ภาษีที่ทางกฏหมายกำหนดให้หักไว้ล่วงหน้าจากเงินได้ที่ได้รับ และสามารถนำไปขอเครดิตเพื่อหักจากยอดภาษีที่ต้องจ่ายจริงในทุกๆ ปี โดยที่ทางผู้จ่ายเงินได้จะมีหลักฐานที่เรียกว่าหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้ไว้เป็นหลักฐาน
- ตัวอย่างของการเครดิตภาษี -
ถ้าหากเรามีภาษีที่ต้องเสียทั้งหมดในปี จำนวน 15,000 บาท แต่เรามีภาษีหัก ณ ที่่จ่ายไว้แล้วจำนวน 10,000 บาท แปลว่าในปีนั้นเราจะต้องเสียภาษีเพิ่มเติมแค่เพียง 15,000 - 10,000 = 5,000 บาทเท่านั้นเอง
- ทำไมถึงจะต้องมีการหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ด้วย -
การหักภาษี ณ ทีจ่ายนั้น มีวัตถุประสงค์หลักๆ อยู่ 4 ข้อ ดังนี้
- บรรเทาภาระภาษี เนื่องจาก ภาษีเป็นเรื่องยิ่งใหญ่สำหรับคนทุกคน ดังนั้นทางรัฐจึงต้องบรรเทาภาษีที่เราจะต้องจ่ายโดยการหักไว้ล่วงหน้า (ตอนที่เราได้รับเงิน) เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาในการชำระเงินครั้งละมากๆ ตอนสิ้นปี เพราะตอนนั้นเราอาจจะไม่มีเงินพอที่จะชำระนั่นเอง ลองคิดดูง่ายๆว่า ถ้าเราโดนนายจ้างหักภาษี ณ ที่จ่ายไปเดือนละ 1,000 บาท ทุกๆ เดือนกับเราต้องจ่ายภาษีทั้งจำนวน 12,000 บาท ในตอนสิ้นปีเลยทีเดียว แบบไหนจะโหดต่อเงินในกระเป๋ามากกว่ากัน :)
- ให้รัฐมีรายได้เข้าคลังอย่างสม่ำเสมอ ข้อนี้น่าจะเป็นวัตถุประสงค์สำคัญที่สุดของภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เนื่องจากทางรัฐเองต้องการรายได้อย่าสม่ำเสมอมา เพื่อใช้ในการพัฒนาประเทศ ซึ่งการหักภาษี ณ ที่จ่ายก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งของการจัดเก็บภาษีของรัฐนั่นเอง
- สร้างความเป็นธรรมแก่ผู้มีเงินได้ บางคนบอกว่าเป็นธรรม บางคนก็อาจจะบ่นว่าไม่เป็นธรรม
- ป้องกัน ปราบปราม การหลบเลี่ยงภาษี เนื่องจากการหักภาษี ณ ที่จ่ายจะทำให้ทางรัฐมีกลไกใช้ตรวจสอบข้อมูลของผู้ที่มีเงินได้จากการหัก ณ ที่จ่ายไว้ในระบบ และผู้จ้างส่วนใหญ่นั้นมักจะเป็นคนที่อยู่ในระบบการหัก ณ ที่จ่ายอยู่แล้ว ซึ่งจะช่วยนำส่งข้อมูลการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้กับรัฐอีกทางหนึ่ง
- การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย โดยใช้คนอื่นเป็นผู้รับแทน -
ทีนี้เราก็จะมาดูกันว่าที่ทางผู้รับจ้างได้นำชื่อคนอื่นมาเป็นผู้รับเงินแทนนั้น ผิดหรือไม่ผิดอย่างไรบ้าง ขอแยกออกเป็น 2 ประเด็น ระหว่าง การใช้ชื่อคนอื่นมาเป็นผู้รับเงินแทนนั้น มีผลกระทบอะไรบ้างสามารถทำได้หรือไม่
1. การใช้ชื่อคนอื่นมาเป็นผู้รับเงิน
สำหรับกรณีนี้จะมีผลกระทบหลักๆ ก็คือ ช่วยในการกระจายฐานรายได้ของผู้ที่มีเงินได้ เพื่อให้จ่ายภาษีลดลง
ลองสมมุติว่า น้องพอยมีเงินได้สุทธิทั้งปี (หลังหักค่าใช้จ่ายต่างและค่าลดหย่อนต่างๆ) เป็นจำนวน 5,000,000 บาท เมื่อมาดูอัตราภาษีที่น้องพอยจะต้องเสียแล้ว พบว่า
ถ้าคิดจากตารางการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แปลว่า น้องพอยจะต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงสุด คือ 37% ซึ่งเป็นอัตราภาษีแบบขั้นบันได (ยิ่งมีรายได้มาก ยิ่งเสียภาษีมาก) แต่ถ้าเกิดน้องพอย สามารถกระจายรายได้ให้กับคนอื่น อีกสัก 4 คน เช่น นายหมู นายเห็ด นายเป็ด นายไก่ ได้เท่าๆ กัน ก็แปลว่าทุกๆ คนจะมีเงินได้สุทธิคนละ 1,000,000 บาท ทำให้จากที่ต้องเสียภาษีในอัตราภาษี 37% เหลือเพียงแค่อัตราสูงสุดแค่ 20% เท่านั้น
เราลองมาดูตารางคำนวณเปรียบเทียบกันเลย จะเห็นได้ว่าถ้าเราสามารถกระจายรายได้ให้ผู้อื่นได้ ภาษีที่น้องพอยต้องชำระนั้น จะลดลงจาก 1,405,000 บาท เหลือเพียงแค่ 675,000 บาทเท่านั้น :)
2. การใช้ชื่อคนอื่นมาเป็นผู้รับเงินนั้น สามารถทำได้หรือไม่
คำตอบก็คือ สามารถทำได้ แต่ถ้าคำถามถามเพิ่มเติมว่าผิดกฎหมายหรือไม่
คำตอบก็คือผิดกฎหมายเพราะผู้ที่มีรายได้จริงๆ นั้นคือ น้องพอย ไม่ใช่ นายหมู นายเห็ด นายเป็ด นายไก่ ใช่ไหม ซึ่งการหลบเลี่ยงภาษี โดยเอาบัตรประชาชนคนอื่นมาหักภาษี ก็จะทำให้ทางสรรพากรไม่สามารถตรวจพบข้อมูลรายได้ของน้องพอยในฐานข้อมูลของกรมสรรพากรได้นั้นเอง
- อัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ทำไมถึงแตกต่างกัน -
โดยปกติแล้ว อัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายของเงินได้แต่ละประเภทก็จะมีหลักเกณฑ์และวิธีที่แตกต่างกันไปหลายๆ รูปแบบ ซึ่งอัตราภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่ายจริงที่น้องพอยต้องถูกหักไว้ก็คือร้อยละ 5 ซึ่งเป็นไปตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 4/2528 ข้อ 9 (2) ดังนี้
ข้อ 9 ให้บุคคล บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากรให้แก่ผู้รับซึ่งเป็น
“
(2) นักแสดงสาธารณะ”
“(ก) กรณีมีภูมิลำเนาอยู่ในต่างประเทศ หักภาษี ณ ที่จ่ายโดยคำนวณหักไว้ตามอัตราที่กำหนดในบัญชีอัตราภาษีเงินได้สำหรับบุคคลธรรมดา เว้นแต่นักแสดงสาธารณะที่เป็น นักแสดงภาพยนตร์หรือโทรทัศน์ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในต่างประเทศ เฉพาะกรณีที่มีการดำเนินการถ่ายทำ ภาพยนตร์หรือโทรทัศน์ในประเทศไทยโดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และได้รับอนุญาตให้ถ่ายทำในประเทศไทยจากคณะอนุกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย ตามระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ว่าด้วยการขออนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย พ.ศ. 2544 หักภาษี ณ ที่จ่ายโดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 10.0”
(ข) กรณีนอกจาก (ก) หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 5.0
โดยคำว่า “นักแสดงสาธารณะ” หมายความว่า นักแสดงละคร ภาพยนตร์ วิทยุและโทรทัศน์ นักร้อง นักดนตรี นักกีฬาอาชีพหรือนักแสดงเพื่อความบันเทิงใดๆ”
โดยผลใช้ชื่อคนอื่นมารับเงินแทนนั้น ทำให้ทางผู้จ้างไม่สามารถหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 5 ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ได้ จึงต้องหักเป็นร้อยละ 3 ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 4/2528 ข้อ 8 (1) แทน
ข้อ 8 ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่นซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมิน เฉพาะที่เป็นค่าจ้างทำของ ให้แก่ผู้รับซึ่งเป็น
(1) ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เฉพาะค่าจ้างทำของที่เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (7) หรือ (8) แห่งประมวลรัษฎากร หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 3.0
อ้างอิงที่มาคำสั่งของกรมสรรพากรจากลิงค์นี้
http://www.rd.go.th/publish/3479.0.html
- บทสรุป -
ถ้าหากเหตุการณ์เป็นเรื่องจริง จะมีความผิดฐานเลี่ยงภาษีโดยใช้ชื่อผู้อื่นรับเงินแทน ซึ่งผู้รับจ้างต้องนำรายได้ในส่วนนี้มาถือเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีสิ้นปี
วิธีการดังกล่าว ถือว่าเป็นเทคนิคการวางแผนภาษีได้หรือไม่ หรือใครๆ ก็ทำกัน ถือว่าเป็นเรื่องปกติในสังคมหรือเปล่า แล้วเราจะทำยังไงดี กรณีนี้
น่าจะเป็นการเลี่ยงภาษี ไม่ใช่การวางแผนภาษีที่ไม่ผิดกฎหมาย
ให้ลองอ่านความหมายของคำว่า การหนีภาษี การเลี่ยงภาษี การวางแผนภาษี ประกอบดูเพิ่มเติม คิดว่าน่าจะทำให้หลายๆ คนเข้าใจถึงความหมายของคำว่า การวางแผนภาษีได้ดียิ่งขึ้น
หนีภาษี VS เลี่ยงภาษี VS วางแผนภาษี
http://tax.bugnoms.com/tax/tax-evasion-planning-avoidance/
แหล่งที่มา เว็บไซต์บล็อกภาษีข้างถนน 26 ส.ค. 2555