ความงดงามของดอกไม้และวัฒนธรรมดอกไม้ของไทยและจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ถูกนำมาจัดแสดงไว้ใน พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ (The Museum of Floral Culture) พิพิธภัณฑ์อันว่าด้วยเรื่องราววัฒนธรรมของดอกไม้แห่งแรกในประเทศไทยและแห่งเดียวของโลก สถานที่ซึ่งบรรจุชิ้นงานและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับการจัดดอกไม้จากอดีตถึงปัจจุบัน ซึ่งเกิดขึ้นจากแรงบันดาลใจของ สกุล อินทกุล ศิลปินนักจัดดอกไม้ระดับนานาชาติ ที่มีความตั้งใจให้พิพิธภัณฑ์เป็นที่แสดงชิ้นงาน หลักฐาน ภาพถ่าย และไม้ดอกไม้ใบที่รวบรวมมาจากทุกทวีป ตลอดช่วงชีวิตการทำงานในฐานะศิลปินนักจัดดอกไม้ ที่มีโอกาสเดินทางไปจัดดอกไม้ และได้สัมผัสคลุกคลีอยู่ในวัฒนธรรมต่างๆ ทั่วโลก
พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ตั้งอยู่ที่ศรีย่าน เขตดุสิต เป็นบ้านโบราณสไตล์โคโลเนียลอายุกว่า 100 ปี แบ่งออกเป็น 2 ส่วน
- ส่วนแรกเป็นห้องจัดนิทรรศการ ทั้งชั้น 1 และชั้น 2 รวม 7 ห้อง ห้องแรก ห้องหอภาพดุสิต จัดแสดงภาพถ่ายโบราณงานดอกไม้ไทยในอดีตที่สืบค้นได้จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร รวมทั้งภาพถ่ายโบราณวิถีชีวิตของผู้คน และงานสถาปัตยกรรมในอดีตของเขตดุสิต โดยมีงานแสดงชิ้นสำคัญคือ ภาพพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ฝีมือ ม.ล.จิราธร จิระประวัติ ที่วาดให้เป็นพิเศษ
- ห้องที่สอง ห้องโลกแห่งวัฒนธรรมดอกไม้ จัดแสดงตัวอย่างงานวัฒนธรรมดอกไม้ที่สำคัญจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เช่น อินเดีย จีน ญี่ปุ่น บาหลี ลาว และทิเบต บรรจุเอกสารโบราณเก่าแก่ อาทิ “ตำราลับแห่งการจัดดอกไม้แบบโชกะของอิเคโนโบะ” หนังสือม้วนโบราณอายุราว 256 ปี ห้องที่สาม ห้องอุโบสถแห่งดอกไม้ คือ อุโบสถแห่งดอกไม้จัดแสดงความสัมพันธ์ระหว่าง ป่าไม้ สายน้ำ ชุมชน ผู้คน และวัฒนธรรมดอกไม้ โดยมีกรณีศึกษาคือ อุทยานแห่งชาติภูสวนทราย และชุมชนรอบวัดศรีโพธิ์ชัย ใน จ.เลย ซึ่งชาวบ้านสามารถอนุรักษ์วิถีชีวิตและวัฒนธรรม รวมทั้งวัฒนธรรมดอกไม้ของตัวเองไว้ตราบจนปัจจุบัน ด้วยการต่อต้านการให้สัมปทานตัดไม้ของรัฐในปี พ.ศ. 2525 ที่ทำลายป่าทั้งหมดพื้นที่กว่า 70,000 ไร่ ปัจจุบันคือ อุทยานแห่งชาติภูสวนทราย อันเป็นป่าต้นน้ำของชุมชน
ความงดงามของดอกไม้ห้องสี่และห้า ห้องมรดกวัฒนธรรมดอกไม้ จัดแสดงงานมรดกทางวัฒนธรรมดอกไม้ของไทยทั้งเรื่องราวงานมาลัย เครื่องแขวน พานดอกไม้ บายศรี ดอกไม้เล็ก กระทง และใบตอง โดยมีตัวอย่างงานทั้งงานวัฒนธรรมดอกไม้ไทยจากอดีต และร่วมสมัยในปัจจุบัน โดยใช้เนื้อหาบางส่วนจากหนังสือดอกไม้ไทย วัฒนธรรมดอกไม้แห่งชาติ และห้องที่หกและเจ็ด อยู่ชั้น 2 คือ ห้องปากกาและดินสอ จัดแสดงภาพร่างงานบางส่วนของผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ดอกไม้ในแขนงต่าง ๆ โดยมีงานแสดงชิ้นสำคัญคือ ส่วนหนึ่งของภาพร่างงานตกแต่งดอกไม้สดสำหรับงานพระราชทานเลี้ยงในพระบรมมหาราชวัง เมื่อครั้งเฉลิมฉลองครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ ห้องหัวใจแห่งงานจัดดอกไม้สมัยใหม่ จัดแสดงปฐมบททั้ง 9 แห่งงานจัดดอกไม้สมัยใหม่
แหล่งที่มา เว็บไซต์เดลินิวส์ วันเสาร์ที่ 11 สิงหาคม 2555 เวลา 00:00 น.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น