- ไทย 89%
- ฟิลิปปินส์ 75%
- ฮ่องกง 71%
- อินเดีย 61%
- ออสเตรเลีย 55%
- มาเลเซีย 40%
- อินโดนีเซีย 40%
- สิงคโปร์ 33%
- เวียดนาม 30%
- จีน 28%
- นิวซีแลนด์ 20%
- ไต้หวัน 17%
- เกาหลีใต้ 13%
- ญี่ปุ่น 3%
ในสายตานักท่องเที่ยว เมืองไทยขึ้นชื่อลือชามานานว่าเป็นสยามเมืองยิ้ม ทั้งยังเป็นแดนสวรรค์ที่นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกอยากจะมาสัมผัสความประทับใจสักครั้งในชีวิต
แต่ล่าสุด จากการสำรวจโดยบริษัทมาสเตอร์การ์ด เวิลด์ไวด์ (MasterCard Worldwide) พบว่า เมืองไทยยังเป็นแดนสวรรค์ของบรรดาพนักงานเสิร์ฟและบาร์เทนเดอร์ ในฐานะที่เป็นประเทศที่ประชาชนติดนิสัยให้ทิปมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในอัตราสูงถึง 89%
สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นโกถึงกับระบุว่า ผลที่ยืนยันถึงความใจป้ำของคนไทยเป็นเรื่องน่าชื่นชมพอกับการที่รสชาติของอาหารไทย สร้างความประทับใจให้กับคนทั่วโลกที่ได้ลิ้มลอง
ผลสำรวจดังกล่าวตอกย้ำว่า เมืองไทยเป็นสยามเมืองยิ้มอย่างแท้จริง โดยเฉพาะกับพนักงานในสถานบริการต่างๆ
ก่อนหน้านี้ ซีเอ็นเอ็นโก เคยรายงานพฤติกรรมการให้ทิปในประเทศ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของโลกรวมถึงในเอเชีย โดยระบุถึงเพียง 2 ประเทศเท่านั้น คือ สิงคโปร์และฮ่องกง ซึ่งจากการสำรวจครั้งนี้พบว่า สิงคโปร์เป็นประเทศที่ 33% ของประชากรให้ทิปหลังรับบริการ หรืออยู่ในอันดับที่ 8 จากทั้งหมด 14 ประเทศที่ทำการสำรวจ ขณะที่ฮ่องกงอยู่ในอันดับที่ 3 ด้วยสัดส่วนผู้ให้ทิป 71%
ขณะที่ประเทศที่ให้ทิปน้อยที่สุด คือ ญี่ปุ่น มีอัตราผู้ให้ทิปเพียง 3% เท่านั้น ซึ่งในเรื่องนี้ มาร์ก ฮิระซีกะ บรรณาธิการข่าวญี่ปุ่นของสำนักงานข่าวซีเอ็นเอ็นโก ยืนยันว่า การให้ทิปไม่อยู่ในประเพณีการให้บริการของชาวญี่ปุ่น หากลูกค้าทิ้งเงินไว้พร้อมใบเสร็จก็มีโอกาสสูงที่พนักงานของร้านจะวิ่งตามและมอบเงินคืนให้อย่างไม่ลังเล
ทั้งนี้ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ยังเห็นว่า การให้ทิปกับพนักงานบริการถือเป็นพฤติกรรมที่เสียมารยาท ซึ่งทัศนะนี้สอดคล้องกับบางประเทศในเอเชีย เช่น จีน
ผลการสำรวจยังพบด้วยว่า ผู้ชายมักให้ทิปบ่อยครั้งกว่าผู้หญิง ยกเว้นในประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ที่ผู้หญิงให้ทิปมากกว่าผู้ชาย คาดว่าการที่ผู้หญิงให้ทิปน้อยกว่า เนื่องจากมีความตระหนักในคุณค่าและการบริหารจัดการเงินมากกว่าผู้ชายตามที่เคยปรากฎในผลสำรวจ โดยมาสเตอร์การ์ดเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้เงินของหญิง-ชายทั่วโลก เมื่อเดือน ธ.ค. ปี 2011
จอร์เขตต์ แทน จากบริษัทมาสเตอร์การ์ดกล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายของพฤติกรรมผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งของธุรกิจระดับโลกที่จะเข้าถึงผู้บริโภคในภูมิภาคนี้
แหล่งที่มา นสพ. M2F วันจันทร์ที่ 30 ก.ค. 55 (196)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น