เกาหลีกับไทยสร้างความสัมพันธ์กันมาเกินกว่าครึ่งศตวรรษแล้ว ปีนี้นับเป็นปีที่ 54 ที่เราเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกันมา
นับเวลาเทียบเท่ากับชีวิตแต่งงานและความรักอันยั่งยืนของคุณปู่คุณย่าในวัยใกล้ 80... แม้จะเนิ่นนานและใกล้ฝั่ง ทว่ายังคงเบิกบานยืนยงอยู่ในหัวใจของลูกหลานตราบนานเท่านาน เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ของไทย-เกาหลี ที่แนบแน่นและเริ่มผลิดอกออกผลโดยเฉพาะในช่วงปีหลังที่เรากำลังจะก้าวเข้าสู่ความเป็นครอบครัวเดียวกันจากการผนวกกลุ่มอาเซียนบวก 3 เข้าเป็นกลุ่มเอเชียตะวันออก
เปิดดูหนังสือพิมพ์เกาหลีฉบับออนไลน์ที่เป็น ภักษาหารประจำวัน ของคนเขียนเรื่องเกาหลีอย่าง “เชกา” พบโฆษณาเชิญชวนให้มาลงทุนในประเทศไทยของสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (BOI) เป็นแถบโฆษณาใหญ่แปะอยู่ในหน้าแรก ทำให้รู้สึกว่า ขอบเขตประเทศทางภูมิศาสตร์ไม่ได้มีความหมาย ระยะทางไม่ได้ทำให้เกาหลีกับไทยอยู่ไกลกันอีกต่อไปแล้ว บัดนี้ คนเกาหลีสนใจใคร่รู้จักเมืองไทย สนใจเรียนภาษาไทยกันมากมาย ครูอาสาสมัครจากเกาหลีบางคนหอบหิ้วลูกเล็กมาด้วยเพื่อให้เข้าเรียนโรงเรียนในเมืองไทย เป็นการปูพื้นฐานความรับรู้ในวิถีสังคมไทยเพื่อประโยชน์ในอนาคต
แล้วเกาหลีเห็นอะไรในอนาคตกับไทยและอาเซียน?? นอกจากทรัพยากรและการค้าระหว่างประเทศที่ได้นำเสนอผู้อ่านไปสองอาทิตย์ก่อนแล้ว จากช่วงปี 1980s เป็นต้นมา เกาหลีเริ่มย้ายโรงงานออกไปลงทุนในต่างประเทศ หลังจากที่เศรษฐกิจเกาหลีดีขึ้น ทำให้ค่าเงินของเกาหลีแพงขึ้นจนมีต้นทุนค่าแรงสูงตามค่าครองชีพที่พุ่งพรวด ดังนั้น การออกไปลงทุนสร้างโรงงานในต่างประเทศเพื่อลดต้นทุนค่าแรงและต้นทุนการผลิตอื่นๆ จึงเป็นเป้าหมายแรก เป้าหมายที่สอง คือ การโยกการผลิตสินค้าที่ใกล้หมดอนาคตออกไป เพื่อที่จะได้ใช้พื้นที่ที่แสนจะแพงในเกาหลีพัฒนาสินค้าใหม่ที่มีผลกำไรสูงกว่าป้อนเข้าตลาด ในเวลานั้น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้ง “ไทยแลนเดอะ” (ออกเสียงแบบเกาหลีค่ะ) จึงเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของกลุ่มทุนเกาหลี
แม้ว่าต่อมาในช่วงปี 2000s จีนเปิดม่านการลงทุนให้เกาหลีโดยมีค่าจ้างแรงงานที่ถูกกว่าและตลาดอันมหึมาจูงใจ ทว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติต่างเคล็ดขัดยอกช้ำใจไปตามๆ กัน เนื่องจากค่าแรงของจีน+สวัสดิการแฝงรวมกันแล้วมากกว่าค่าแรงในหลายประเทศในอาเซียน ตลาดก็ไม่ได้ดั่งใจ เพราะสินค้าที่ผลิตโดยคนจีนเองมีราคาถูกกว่าแถมสินค้าออกใหม่สามารถถูกก๊อบปี้ภายในชั่วเวลาข้ามคืน ดังนั้น หลังจาก AEC เปิดประตูเต็มที่ในอีก 3 ปีข้างหน้า นักลงทุนเกาหลีที่ตัดสินใจรักษาฐานการผลิตในเมืองไทยไว้ก็จะเพิ่มการลงทุนเข้ามา ที่ยังไม่เคยมาก็จะพิจารณาลงทุนในอุตสาหกรรมที่ต้องใช้เทคโนโลยีสูง ส่วนเทคโนโลยีต่ำที่ต้องใช้คนงานมากจะย้ายไปประเทศรอบๆ เช่น พม่า ลาว กัมพูชา โดยมีไทยเป็นศูนย์กลางการค้าวัสดุอุปกรณ์ อะไหล่ การพยาบาล การศึกษาของบุตรหลานที่ครอบครัวทำงานในประเทศข้างเคียง ... เกาหลีจึงตื่นตัวในเรื่องของอาเซียนมาก ตลอดเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา จนกระทั่งถึงเดือน ต.ค. กิจกรรมแนะนำประเทศในกลุ่มอาเซียน สินค้าหัตถกรรม ของแต่งบ้าน สถานที่ท่องเที่ยว หลายอีเวนต์ได้จัดขึ้นในโซลหัวเมืองใหญ่ทั่วเกาหลี ตั้งแต่ในห้างสรรพสินค้าหรูชิน-เซก-เย จนถึงโรงเรียนประถมในเมืองแดจอน เพื่อให้ประชาชนชาวเกาหลีตั้งแต่เด็กประถมจนถึงแม่บ้าน คนทำงาน ได้รู้จักเรา
เทียบเชิญ...ต้นเดือน ก.ค. 2555 ที่ผ่านมา องค์กรระหว่างประเทศ ASEAN-Korea Center ได้ประกาศการจัดประกวด “2012 ASEAN-Korea Multimedia Competition” ซึ่งเปิดให้นักศึกษาและศิลปินรุ่นใหม่ ที่มีอายุไม่เกิน 30 ปี ส่งผลงานเข้าประกวด โดยมีเป้าหมายเพื่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและสร้างความเข้าใจอันดีของคนรุ่นใหม่ในอาเซียนและเกาหลี โดยกำหนด “ธีม” ให้เป็น “SHOW YOURSELF : ASEAN SelfPortrait, Korean SelfPortrait” โดยจับประเด็นที่ความหลากหลายแต่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของชีวิตประจำวันของคนหนุ่มสาวในอาเซียนและเกาหลี ผ่านทางแฟชั่น อาหาร และ สถาปัตยกรรม ... ประกวดกัน 2 ประเภทค่ะ คือ Photography และ Digital Media Arts ปิดรับสมัครวันที่ 24 ก.ย. 2555 นี้ ผู้ชนะ 10 คน จะได้เงินรางวัล 300 เหรียญสหรัฐ และได้รับเชิญไปร่วมพิธีเปิดงานแสดงที่กรุงโซลในเดือน พ.ย. 2555 ฟรีทุกอย่างทั้งค่าตั๋วเครื่องบิน ที่พักและอาหาร
สนใจรายละเอียดดูได้ ที่ www.aseankoreammc.com สนใจลองแอบไปดูผลงานของผู้ชนะปีที่แล้วได้ที่เว็บนี้ค่ะ http://www.aseankorea.org/program/cyber/exhibitionList.jsp
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น