"หลักธรรมคำสอน" ถือได้ว่าเป็นเครื่องที่ยึดเหนี่ยวและเป็นที่พึ่งทางใจให้กับ "พุทธศาสนิกชน" ทุกคน ทั้งนี้เพื่อเป็นแบบแผนและแนวทางในการดำรงชีวิตอย่างถูกต้องและมีความสุข... และถ้าหากพูดถึงเรื่องหลักธรรมคำสอนแล้ว เชื่อเลยค่ะว่า หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า "มงคลชีวิต 38 ประการ" ซึ่งเป็น "คุณธรรม" ที่หากยึดปฏิบัติแล้ว จะส่งให้ชีวิตพบเจอแต่ความสุข ความเจริญ
คำว่า "มงคล" นั่นหมายถึง เหตุแห่งความสุข ความก้าวหน้าในการดำเนินชีวิต ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ให้พุทธศาสนิกชนได้พึงปฏิบัติ โดยนำมาจากบท "มงคลสูตร" ที่พระพุทธเจ้าตรัสตอบปัญหาเทวดาที่ถามว่า "คุณธรรมอันใดที่ทำให้ชีวิตประสบความเจริญ" โดยพระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า คุณธรรมนั้นนั่นก็คือ "มงคลชีวิต" ซึ่งก็มี 38 ประการ ได้แก่ ...
1. การไม่คบคนพาล
ท่านว่าลักษณะของคนพาลมี 3 ประการคือ
- คิดชั่ว คือการมีจิตคิดอยากได้ในทางทุจริต มีความพยาบาท และมิจฉาทิฏฐิ คือ เห็นผิดเป็นชอบ
- พูดชั่ว คือคำพูดที่ประกอบไปด้วยวจีทุจริต เช่น พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ และพูดเพ้อเจ้อ
- ทำชั่ว คือทำอะไรที่ประกอบด้วยกายทุจริต เช่น การฆ่าสัตว์ ลักขโมย ฉ้อโกง ฉุดคร่าอนาจาร ประพฤติผิดในกาม
รูปแบบของคนพาล มีข้อควรสังเกต คือ
- ชอบแนะนำไปในทางที่ผิด หรือที่ไม่ควรแนะนำ เช่น แนะนำให้ไปเล่นการพนัน ให้ไปลักขโมย ให้กินยาบ้า ให้เสพยา ชวนไปฉุดคร่าอนาจาร เป็นต้น เหล่านี้ถือว่าเป็นพาล
- ชอบทำในสิ่งที่ไม่ใช่ธุระ เช่น ไม่ทำงานตามหน้าที่ของตนให้เรียบร้อย แต่กลับชอบจะไปก้าวก่ายยุ่งกับหน้าที่การงานของผู้อื่น หรือไปจับผิดเพื่อนร่วมงาน แกล้ง ยุยง นินทาว่าร้ายกันและกัน เป็นต้น
- ชอบทำผิดโดยเห็นสิ่งผิดเป็นของดี เช่น การสูบยาได้เป็นฮีโร่ เห็นคนที่ซื่อสัตย์เป็นคนโง่ไม่กินตามน้ำ ชอบรับสินบน ทุจริตในหน้าที่ หรือช่วยพวกพ้องให้พ้นจากความผิด เป็นต้น
- จะโกรธเคืองเมื่อพูดเตือน เช่น การเตือนเรื่องการเที่ยวเตร่ เตือนเรื่องการดื่มเหล้า กลับบ้านดึก เตือนเรื่องการคบเพื่อนเป้นต้น คนพวกนี้จะโกรธเมื่อได้รับการตักเตือน และไม่รับฟัง
- ไม่มีระเบียบวินัย เช่น ไม่เข้าคิวตามลำดับก่อนหลัง แต่ชอบแซงคิวอย่างหน้าด้าน ๆ ทิ้งขยะลงคลอง หรือข้างทาง ไม่เคารพกฎหมายของบ้านเมือง หรือของท้องถิ่น เป็นต้น
2. การคบบัณฑิต
บัณฑิต หมายถึงผู้ทรงความรู้ มีปัญญา มีจิตใจที่งาม และมีการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง รู้ดีรู้ชั่ว มีลักษณะดังนี้...
- เป็นคนคิดดี คือการไม่คิดละโมบ ไม่พยาบาทปองร้ายใคร รู้จักให้อภัย เชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษ ความกตัญญูรู้คุณ เป็นต้น
- เป็นคนพูดดี คือวจีสุจริต พูดจริง ทำจริงไม่โกหก ไม่พูดหยาบ ถากถาง นินทาว่าร้าย
- เป็นคนทำดี คือทำอาชีพสุจริต มีเมตตา ทำทานเป็นปกตินิสัย อยู่ในศีลธรรม ทำสมาธิภาวนา
รูปแบบของบัณฑิต มีข้อควรสังเกตคือ
- ชอบชักนำในทางที่ถูกที่ควร เช่น การชักนำให้เลิกทำในสิ่งที่ผิด ตักเตือนให้ทำความดี อย่างเช่น ให้เลิกเล่นการพนัน เป็นต้น
- ชอบทำในสิ่งที่เป็นธุระ เช่น การทำหน้าที่ของตนให้ลุล่วง และใช้เวลาที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ ไม่ก้าวก่ายเรื่องของผู้อื่นเว้นแต่จะได้รับการร้องขอ
- ชอบทำและแนะนำสิ่งที่ถูกที่ควร เช่น การพูดและทำอย่างตรงไปตรงมา แนะนำการทำทานที่ถูกต้อง ทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อคนอื่น
- รับฟังดี ไม่โกรธ เช่น เมื่อมีคนมาว่ากล่าวก็ไม่ถือโทษ หรือโกรธ หรือทำอวดดี แต่จะรับฟังแล้วนำไปพิจารณาโดยยุติธรรม แล้วนำมาแก้ไขปรับปรุง
- รู้ระเบียบ กฎกติกามรรยาทที่ดี เช่น การรักษาระเบียบวินัยขององค์กร เพื่อให้หมู่คณะมีความเป็นระเบียบ และการดำเนินงานไม่สับสน หรือการรักษาความสะอาด ปฏิบัติ และเคารพกฎของสถานที่ ไม่ทำตามอำเภอใจ
3. การบูชาบุคคลที่ควรบูชา
การบูชา คือการแสดงความเคารพบุคคลที่เรานับถือ ยกย่อง เลื่อมใส ในบุคคลคนนั้น ซึ่งการบูชาแบ่งออกเป็น 2 อย่างคือ
- อามิสบูชา คือ การบูชาด้วยสิ่งของ เช่น การนำเงินให้พ่อแม่ไว้ใช้จ่าย หรือมอบทรัพย์สินให้พ่อแม่ หรือการนำดอกไม้ ธูปเทียนไปบูชาพระก็ถือเป็นอามิสบูชา เป็นต้น
- ปฏิบัติบูชา คือ การบูชาด้วยการเจริญสมาธิภาวนา การฝึกจิตให้ไม่ฟุ้งซ่าน เห็นความจริงในความเป็นไปของโลก เป็นต้น
บุคคลที่ควรบูชา มีดังนี้คือ
- พระพุทธเจ้า
- พระปัจเจกพระพุทธเจ้า หมายถึงพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา
- พระมหากษัตริย์ผู้ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม
- บิดามารดา
- ครูอาจารย์ ที่มีความรู้ดี มีความสามารถ และประพฤติดี
- อุปัชฌาย์ หรือผู้บังคับบัญชาที่มีความประพฤติดี ตั้งอยู่ในธรรม
4. การอยู่ในถิ่นอันสมควร
ถิ่นอันสมควรควรประกอบด้วยสิ่งแวดล้อม 4 อย่าง ได้แก่
- อาวาสเป็นที่สบาย หมายถึง อยู่แล้วสบาย เช่น สะอาด เดินทางไปมาสะดวก อากาศดี เป็นแหล่งชุมชน ไม่มีแหล่งอบายมุข เป็นต้น
- อาหารเป็นที่สบาย หมายถึง อาหารการกินอุดมสมบูรณ์ เช่น มีแหล่งอาหารที่สามารถจัดซื้อหามาได้ง่าย เป็นต้น
- บุคคลเป็นที่สบาย หมายถึง ที่ที่มีคนดี จิตใจโอบอ้อมอารี ถ้อยทีถ้อยอาศัย มีศีลธรรม ไม่มีโจร นักเลง หรือใกล้แหล่งอิทธิพล เป็นต้น
- ธรรมะเป็นที่สบาย หมายถึงมีที่พึ่งด้านธรรมะ มีที่ฟังธรรม เช่น มีวัดอยู่ในละแวกนั้น มีโรงเรียน หรือแหล่งศึกษาหาความรู้ เป็นต้น
5. เคยทำบุญมาก่อน
ขึ้นชื่อว่าบุญนั้น มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้คือ
- ทำให้กาย วาจา และใจ สะอาดได้
- นำมาซึ่งความสุข
- ติดตามไปได้ หมายถึง บุญจะติดตัวเราไปได้ตลอดจนถึงชาติหน้า
- เป็นของเฉพาะตน หมายถึง ขอยืม หรือแบ่งกันไม่ได้ ทำเองได้เอง
- เป็นที่มาของโภคทรัพย์ทั้งหลาย คือว่าผลของบุญจะบันดาลให้เกิดขึ้นได้เองโดยไม่ได้หวังผล
- ให้มนุษย์สมบัติ ทิพย์สมบัติ และนิพพานสมบัติแก่เราได้ หมายถึง ความสมบูรณ์ตั้งแต่ทางโลก จนถึงนิพพานได้เลย
- เป็นปัจจัยให้ถึงซึ่งนิพพาน ก็คือเป็นปัจจัยในการส่งเสริมให้บรรลุถึงนิพพานได้เร็วขึ้นเมื่อปฏิบัติ
- เป็นเกราะป้องกันภัยในวัฏสงสาร หมายถึงในวงจรการเกิด แก่ เจ็บ ตาย หรือที่เรียกว่าเวียนว่ายตายเกิดนั้น บุญจะคุ้มครองให้ผู้นั้นเกิดในที่ดี อยู่อย่างมีความสุข หรือตายอย่างไม่ทรมาน ขึ้นอยู่กับกำลังบุญที่สร้างสมมา
การทำบุญนั้นมีหลายวิธี แต่พอสรุปได้สั้นๆ ดังนี้
- การทำทาน
- การรักษาศีล
- การเจริญภาวนา
6. การตั้งตนชอบ
การตั้งตนชอบ หมายถึง การดำเนินชีวิตอย่างมีเป้าหมาย ด้วยความถูกต้องและสุจริต อยู่ในสัมมาอาชีพ มีแผนการที่จะไปให้ถึงจุดหมายนั้นด้วยความไม่ประมาท มีการเตรียมพร้อม และมีความอดทนไม่ละทิ้งกลางคัน
7. ความเป็นพหูสูต
คือเป็นผู้ที่ฟังมาก เล่าเรียนมาก เป็นผู้รอบรู้ โดยมีลักษณะดังนี้
- รู้ลึก คือ การรู้ในสิ่งนั้นๆ เรื่องนั้นๆ อย่างหมดจดทุกแง่ทุกมุม อย่างมีเหตุมีผล รู้ถึงสาเหตุจนเรียกว่าความชำนาญ
- รู้รอบ คือ การรู้จักช่างสังเกตในสิ่งต่างๆ รอบตัว เช่นเหตุการณ์แวดล้อม เป็นต้น
- รู้กว้าง คือ การรู้ในสิ่งใกล้เคียงกับเรื่องนั้นๆ ที่เกี่ยวข้องกัน สัมพันธ์กัน เป็นต้น
- รู้ไกล คือ การศึกษาถึงความเป็นไปได้ ผลในอนาคตเป็นต้น
ถ้าอยากจะเป็นพหูสูตก็ควรต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
- ความตั้งใจฟัง ก็คือ ชอบฟัง ชอบอ่านหาความรู้ และค้นคว้า เป็นต้น
- ความตั้งใจจำ ก็คือ รู้จักวิธีจำ โดยตั้งใจอ่านหรือฟังในสิ่งนั้น ๆ และจับใจความให้ได้
- ความตั้งใจท่อง ก็คือ ท่องให้รู้โดยอัตโนมัติ ไม่ลืม ในสิ่งที่เป็นสาระสำคัญ
- ความตั้งใจพิจารณา ก็คือ การรู้จักพิจารณา ตรึกตรองในสิ่งนั้นๆอย่างทะลุปรุโปร่ง
- ความเข้าใจในปัญหา ก็คือ การรู้อย่างแจ่มแจ้งในปัญหาอย่างถ่องแท้ด้วยปัญญา
8. การรอบรู้ในศิลปะ
ศิลปะ คือสิ่งที่แสดงออกถึงความงดงาม และมีความสุนทรีย์ โดยลักษณะของมันมีดังนี้
- มีความปราณีต
- ทำให้ของดูมีค่ามากขึ้น
- ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์
- ไม่ทำให้เกิดกามกำเริบ
- ไม่ทำให้เกิดความพยาบาท
- ไม่ทำให้เกิดความเบียดเบียน
ถ้าท่านอยากเป็นคนมีศิลปะ ควรต้องฝึกให้มีคุณสมบัติเหล่านี้ไว้ในตัว คือ
- มีศรัทธาในความงดงามของสิ่งต่าง ๆ
- หมั่นสังเกตและพิจารณา
- มีความปราณีต อารมณ์ละเอียดอ่อน
- เป็นคนสุขุม มีความคิดสร้างสรรค์
9. มีวินัยที่ดี
วินัย ก็คือ ข้อกำหนด ข้อบังคับ กฎเกณฑ์เพื่อควบคุมให้มีความเป็นระเบียบนั่นเอง มีทั้งวินัยของสงฆ์และของคนทั่วไป สำหรับของสงฆ์นั้นมีทั้งหมด 7 อย่างหรือเรียกว่า อนาคาริยวินัย ส่วนของบุคคลทั่วไปก็มี 10 อย่าง คือการละเว้นจากอกุศลกรรม 10 ประการ
อนาคาริยวินัยของพระมีดังนี้
- ปาฏิโมกขสังวร คือการอยู่ในศีลทั้งหมด 227 ข้อ การผิดศีลข้อใดข้อหนึ่งก็ถือว่าต้องโทษแล้วแต่ความหนักเบา เรียงลำดับกันไปตั้งแต่ ขั้นปาราชิก สังฆาทิเสส ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฎ ทุพภาสิต เป็นต้น (ความหมายของแต่ละคำมันต้องอธิบายเยอะ จะไม่กล่าวในที่นี้)
- อินทรียสังวร คือการสำรวมอายตนะทั้ง 5 และกาย วาจา ใจ ให้อยู่กับร่องกับรอย โดยอย่าไปเพลิดเพลินติดกับสิ่งที่มาสัมผัสเหล่านั้น
- อาชีวปาริสุทธิสังวร คือการหาเลี้ยงชีพในทางที่ชอบ นั่นก็คือการออกบิณฑบาตร ไม่ได้เรียกร้อง เรี่ยไรหรือเที่ยวขอเงินชาวบ้านมาเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของตัวเอง
- ปัจจัยปัจจเวกขณะ คือการพิจารณาในสิ่งของทั้งหลายถึงคุณประโยชน์โดยเนื้อแท้ของสิ่งของเหล่านั้นอย่างแท้จริง โดยใช้เพื่อบริโภค เพื่อประโยชน์ ความอยู่รอด และความเป็นไปของชีวิตเท่านั้น
วินัยสำหรับฆราวาส หรือบุคคลทั่วไป เรียกว่าอาคาริยวินัย มีดังนี้ (อกุศลกรรมบถ 10 ประการ)
- ไม่ฆ่าชีวิตคน หรือสัตว์ไม่ว่าน้อย ใหญ่
- ไม่ลักทรัพย์ ยักยอกเงิน สิ่งของมาเป็นของตัว
- ไม่ประพฤติผิดในกาม ผิดลูกผิดเมีย ข่มขืนกระทำชำเรา
- ไม่พูดโกหก หลอกลวงให้หลงเชื่อ หรือชวนเชื่อ
- ไม่พูดส่อเสียด นินทาว่าร้าย ยุยงให้คนแตกแยกกัน
- ไม่พูดจาหยาบคาย ให้เป็นที่แสลงหูคนอื่น
- ไม่พูดจาไร้สาระ หรือที่เรียกว่าพูดจาเพ้อเจ้อไม่มีสาระ เหตุผล หรือประโยชน์อันใด
- ไม่โลภอยากได้ของเขา คือมีความคิดอยากเอาของคนอื่นมาเป็นของเรา
- ไม่คิดร้าย ผูกใจเจ็บ แค้น ปองร้ายคนอื่น
- ไม่เห็นผิดเป็นชอบ เช่น เห็นว่าพ่อแม่ไม่มีความสำคัญ บุญหรือกรรมไม่มีจริงเป็นต้น
10. กล่าววาจาอันเป็นสุภาษิต
คำว่า วาจาอันเป็นสุภาษิตในที่นี้ มิได้หมายถึงเพียงว่าต้องเป็นคำร้อยกรอง ร้อยแก้ว เป็นคำคมบาดใจมีความหมายลึกซึ้งเท่านั้น แต่รวมถึงคำพูดที่ดี มีประโยชน์ต่อผู้ฟัง ซึ่งสรุปว่าประกอบด้วยลักษณะดังนี้
- ต้องเป็นคำจริง คือ ข้อมูลที่ถูกต้อง มีหลักฐานอ้างอิงได้ ไม่ได้ปั้นแต่งขึ้นมาพูด
- ต้องเป็นคำสุภาพ คือ พูดด้วยภาษาที่สุภาพ มีความไพเราะในถ้อยคำ ไม่มีคำหยาบโลน หรือคำด่า
- พูดแล้วมีประโยชน์ คือ มีประโยชน์ต่อผู้ฟังถ้าหากนำแนวทางไปคิด หรือปฏิบัติในทางสร้างสรรค์
- พูดด้วยจิตที่มีเมตตา คือ พูดด้วยจิตใจที่มีความปรารถนาดีต่อผู้ฟัง มีความจริงใจต่อผู้ฟัง
- พูดได้ถูกกาลเทศะ คือ พูดในสถานที่เหมาะสม และในเวลาที่เหมาะสม โดยความเหมาะสมจะมีมากน้อยเช่นไร ก็ขึ้นอยู่กับเรื่องที่พูด
11. การบำรุงบิดามารดา
ท่านว่าพ่อแม่นั้นเปรียบได้เป็นทั้ง ครูของลูก เทวดาของลูก พรหมของลูก และอรหันต์ของลูก ความหมายโดยละเอียดมีดังต่อไปนี้
- ที่ว่าเป็นครูของลูก เพราะว่าท่านได้คอยอบรมสั่งสอนลูก เป็นคนแรกก่อนคนอื่นใดในโลก
- ที่ว่าเป็นเทวดาของลูก เพราะว่าท่านจะคอยปกป้อง คุ้มครอง เลี้ยงดู ประคบประหงมมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก บำรุงให้เติบใหญ่เป็นอย่างดี ไม่ให้เกิดอันตรายต่อลูกในทุกด้าน
- ที่ว่าเป็นพรหมของลูก เพราะว่าท่านมีพรหมวิหาร 4 นั่นก็คือ มีเมตตา หมายถึงความเอ็นดู ความปรารถนาดีต่อลูกในทุก ๆ ด้าน ไม่มีที่สิ้นสุด มีกรุณา หมายถึงให้ความกรุณาต่อลูก ลูกอยากได้อะไรก็หามาให้ลูก ให้การศึกษาเล่าเรียน ส่งเสียเท่าที่มีความสามารถจะให้ได้ มีมุทิตา หมายถึง ความรักที่ยอมสละได้แม้ชีวิตของตัวเองเพื่อลูก ยอมเสียสละได้ทุกอย่าง และมีอุเบกขา หมายถึงการวางเฉย ไม่ถือโกรธเมื่อลูกประมาท ซน ทำผิดพลาดเพราะความไร้เดียงสา หรือเพราะความไม่รู้
- ที่ว่าเป็นอรหันต์ของลูก เพราะว่าท่านมีคุณธรรม 4 ประการอัน ได้แก่
- เป็นผู้มีอุปการะคุณต่อลูก คือ อุปการะเลี้ยงดูมาด้วยความเหนื่อยยาก กว่าจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่
- เป็นผู้มีพระเดชพระคุณต่อลูก คือ ให้ความอบอุ่นเลี้ยงดู ปกป้องจากภยันตรายต่าง ๆ นานา
- เป็นเนื้อนาบุญของลูก คือ ลูกเป็นส่วนหนึ่งของกรรมดีที่พ่อแม่ได้ทำไว้ และเป็นผู้รับผลบุญที่พ่อแม่ได้สร้างไว้แล้วทางตรง
- เป็นอาหุไนยบุคคล คือ เป็นเหมือนพระที่ควรแก่การเคารพนับถือและรับของบูชา เพื่อเทิดทูนไว้เป็นแบบอย่าง
การทดแทนพระคุณบิดามารดาท่านสามารถทำได้ดังนี้
ระหว่างเมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ ก็เลี้ยงดูท่านเป็นการตอบแทน ช่วยเหลือเป็นธุระเรื่องการงานให้ท่าน ดำรงวงศ์ตระกูลให้สืบไปไม่ทำเรื่องเสื่อมเสีย รวมทั้งประพฤติตนให้ควรแก่การเป็นสืบทอดมรดกจากท่าน ครั้นเมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ก็ทำบุญอุทิศกุศลให้ท่าน ส่วนการเป็นลูกกตัญญูต่อพ่อแม่ในคำสอนของพระพุทธเจ้าท่านกล่าวว่าไว้ดังนี้
- ถ้าท่านยังไม่มีศรัทธา ให้ท่านถึงพร้อมด้วยศรัทธา คือพยายามให้ท่านมีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา เชื่อในเรื่องการทำดี
- ถ้าท่านยังไม่มีศีล ให้ท่านถึงพร้อมด้วยศีล คือพยายามให้ท่านเป็นผู้รักษาศีล 5 ให้ได้
- ถ้าท่านเป็นคนตระหนี่ ให้ท่านถึงพร้อมด้วยการให้ทาน คือพยายามให้ท่านรู้จักการให้ด้วยเมตตาโดยไม่หวังผลตอบแทน
- ถ้าท่านยังไม่ทำสมาธิภาวนา ให้ท่านถึงพร้อมด้วยปัญญา คือพยายามให้ท่านหัดนั่งทำสมาธิภาวนาให้ได้
12. การสงเคราะห์บุตร
คำว่าบุตรนั้น มีอยู่ 3 ประเภท ได้แก่
- อภิชาตบุตร คือ บุตรที่มีความดี คุณธรรม และความสามารถเหนือกว่าบิดา มารดา
- อนุชาตบุตร คือ บุตรที่มีความดี คุณธรรม และความสามารถเสมอบิดา มารดา
- อวชาตบุตร คือ บุตรที่มีความดี คุณธรรม และความสามารถต่ำกว่าบิดา มารดา
การที่เราเป็นพ่อ เป็นแม่ของบุตรนั้น มีหน้าที่ที่ต้องให้กับลูกของเรา คือ
- ห้ามไม่ให้ทำความชั่ว
- ปลูกฝัง สนับสนุนให้ทำความดี
- ให้การศึกษาหาความรู้
- ให้ได้คู่ครองที่ดี (ใช้ประสบการณ์ของเราให้คำปรึกษาแก่ลูก ช่วยดูให้)
- มอบทรัพย์ให้ในโอกาสอันควร (การทำพินัยกรรม ก็ถือว่าเป็นสิ่งถูกต้อง)
13. การสงเคราะห์ภรรยา
เมื่อว่าด้วยเรื่องคนที่จะมาเป็นคู่ครองของชาย หรือที่เรียกว่าจะมาเป็นภรรยานั้น ในโลกนี้ท่านแบ่งลักษณะของภรรยาออกเป็น 7 ประเภท ได้แก่
- วธกาภริยา หมายถึง ภรรยาเสมอด้วยเพชรฆาต เป็นพวกที่มีจิตใจคิดไม่ดี ชอบทำร้าย ชอบด่าทอสาปแช่ง คิดฆ่าสามี หรือมีชู้กับชายอื่น
- โจรีภริยา หมายถึง ภรรยาเสมอด้วยโจร เป็นคนล้างผลาญ สร้างหนี้สิน หาได้เท่าไรก็ไม่พอ หรือเอาเรื่องในบ้านไปโพทนาให้คนข้างนอกรับรู้ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง
- อัยยาภริยา หมายถึง ภรรยาเสมอด้วยนาย เป็นคนชอบข่มสามีให้อยู่ในอำนาจ ไม่ให้เกียรติสามีเมื่ออยู่ต่อหน้าผู้อื่น ชอบสั่งการหรือเอาแต่ใจตัวเอง เห็นสามีเป็นคนไร้ความสามารถ แต่ตัวเองเป็นผู้นำ
- มาตาภริยา หมายถึง ภรรยาเสมอด้วยแม่ คือผู้ที่มีความรักต่อสามีอย่างสุดซึ้ง ไม่เคยทอดทิ้งแม้ยามทุกข์ยาก ป่วยไข้ ไม่ทำให้มีเรื่องสะเทือนใจ
- ภคินีภริยา หมายถึง ภรรยาเสมอด้วยน้องสาว คือผู้ที่มีความเคารพต่อสามีในฐานะพ่อบ้าน แต่ขัดใจกันบ้างตามประสาคนใกล้ชิดกันแล้วก็ให้อภัยกัน โดยไม่คิดพยาบาท เดินตามแนวทางของสามี ต้องพึ่งพาสามี
- สขีภริยา หมายถึง ภรรยาเสมอด้วยเพื่อน ต่างคนต่างก็มีอะไรที่เหมือนกัน ความสามารถพอกัน ไม่จำเป็นต้องพึ่งพากัน ไม่ค่อยยอมกัน เป็นตัวของตัวเอง แต่ก็รักกันและช่วยเหลือกันโดยต่างคนต่างทำหน้าที่ของตัวเอง
- ทาสีภริยา หมายถึงภรรยาเสมอด้วยคนรับใช้ คือภรรยาที่อยู่ภายใต้คำสั่งสามีโดยไม่มีข้อโต้แย้ง สามีเป็นผู้เลี้ยงดู สั่งอะไรก็ทำอย่างนั้นแม้จะไม่เห็นด้วยก็ไม่ออกความเห็น อดทนทำงานตามหน้าที่ตามแต่สามีจะสั่งการ แม้ถูกดุด่า เฆี่ยนตีก็ยังทนอยู่ได้โดยไม่โต้ตอบ
ท่านว่าคนที่จะมาเป็นสามี ภรรยาได้ดีหรือคู่สร้างคู่สมนั้นควรต้องมีคุณสมบัติดังนี้
- สมสัทธา คือมีศรัทธาเสมอกัน
- สมสีลา คือมีศีลเสมอกัน
- สมจาคะ คือมีการเสียสละเหมือนกัน
- สมปัญญา คือมีปัญญาเสมอกัน
เมื่อได้แต่งงานกันแล้ว แต่ละฝ่ายก็มีหน้าที่ที่ต้องทำดังนี้
สามีมีหน้าที่ต่อภรรยาคือ
- ยกย่องนับถือว่าเป็นภรรยา คือ การแนะนำเปิดเผยว่าเป็นภรรยา ไม่ปิดบังกับผู้อื่น และให้เกียรติภรรยาในการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ด้วย
- ไม่ดูหมิ่น คือไม่ดูถูกภรรยาเมื่อทำไม่เป็น ทำไม่ถูก หรือเรื่องชาติตระกูล การศึกษาว่าต่ำต้อยกว่าตน แต่ต้องสอนให้
- ไม่ประพฤตินอกใจภรรยา คือ การไปมีเมียน้อยนอกบ้าน เลี้ยงต้อย หรือเที่ยวเตร่หาความสำราญกับหญิงบริการ
- มอบความเป็นใหญ่ให้ในบ้าน คือ การมอบธุระทางบ้านให้กับภรรยาจัดการ รับฟังและทำตามความเห็นของภรรยาเกี่ยวกับบ้าน
- ให้เครื่องแต่งตัว คือ ให้ความสุขกับภรรยาเรื่องการแต่งตัวให้พอดี เพราะสตรีเป็นผู้รักสวยรักงามโดยธรรมชาติ
ฝ่ายภรรยาก็มีหน้าที่ต้องตอบแทนสามี คือ
- จัดการงานดี คือ งานบ้านการเรือนต้องไม่บกพร่อง ดูแลด้านความสะอาด ทำนุบำรุงรักษา ด้านโภชนาการให้เรียบร้อยดี
- สงเคราะห์ญาติสามีดี คือ ให้ความเอื้อเฟื้อญาติฝ่ายสามี เท่าที่ตนมีกำลังพอทำได้ ไม่ได้หมายถึงเรื่องทรัพย์สินเงินทองอย่างเดียว
- ไม่ประพฤตินอกใจสามี คือ ไม่คบชู้ หรือปันใจให้ชายอื่น ซื่อสัตย์ต่อสามีคนเดียว
- รักษาทรัพย์ให้อย่างดี คือ รู้จักรักษาทรัพย์สินไว้ไม่ให้หมดไปด้วยความสิ้นเปลือง แต่ก็ไม่ถึงกับตระหนี่
- ขยันทำงาน คือ ไม่เกียจคร้านเอาแต่ออกงาน นอน กิน หรือเที่ยวแต่อย่างเดียว ต้องทำงานบ้านด้วย
14. การทำงานไม่ให้คั่งค้าง
ว่าด้วยสาเหตุที่ทำให้งานคั่งค้างนั้นสรุปสาเหตุได้เพราะว่า..
- ทำงานไม่ถูกกาล
- ทำงานไม่ถูกวิธี
- ไม่ยอมทำงาน
หลักการทำงานให้เสร็จลุล่วงมีดังนี้
- ฉันทะ คือ มีความพอใจในงานที่ทำ
- วิริยะ คือ มีความตั้งใจ พากเพียรในงานที่ทำ
- จิตตะ คือ มีความเอาใจใส่ในงานที่ทำ
- วิมังสา คือ มีการคิดพิจารณาทบทวนงานนั้น ๆ
15. การให้ทาน
การให้ทาน คือ การให้ที่ไม่หวังผลตอบแทนโดยหมายให้ผู้ได้รับได้พ้นจากทุกข์ แบ่งออกเป็น 3 อย่าง ได้แก่
- อามิสทาน คือ การให้วัตถุ สิ่งของ หรือเงินเป็นทาน
- ธรรมทาน คือ การสอนให้ธรรมะเป็นความรู้เป็นทาน
- อภัยทาน คือ การให้อภัยในสิ่งที่คนอื่นทำไม่ดีกับเรา ไม่จองเวร หรือพยาบาทกัน
การให้ทานที่ถือว่าเป็นความดี และได้บุญมากนั้นจะประกอบด้วยปัจจัย ๓ ประการอัน ได้แก่
- วัตถุบริสุทธิ์ คือ เป็นของที่ได้มาโดยสุจริต ไม่ได้ไปยักยอกมา โกงมา หรือได้มาด้วยวิธีแยบยล
- เจตนาบริสุทธิ์ คือ มีจิตยินดี ผ่องใสเบิกบาน ไม่รู้สึกเสียดายสิ่งที่ให้ ตั้งแต่ก่อนให้ ขณะให้ และหลังให้
- บุคคลบริสุทธิ์ คือ ให้กับผู้รับที่มีศีลธรรม ตัวผู้ให้เองก็ต้องมีศีลที่บริสุทธิ์
การให้ทานที่ถือว่าไม่ดี และยังอาจเป็นบาปกรรมถึงเราทางอ้อมอีกด้วย ได้แก่
- ให้สุรา ยาเสพย์ติด เป็นต้น (ถ้าเขาเมาแล้วขับรถชนตาย เราก็มีส่วนบาปด้วย)
- ให้อาวุธ (ถ้าอาวุธนั้นถูกเอาไปใช้ประหัตประหาร บาปก็มาถึงเราด้วย)
- ให้มหรสพ คือ การบันเทิงทุกรูปแบบ
- ให้สัตว์เพศตรงข้ามเพื่อผสมพันธุ์ อันนี้รวมถึงการจัดหาสาว ๆ ไปบำเรอผู้มีอำนาจหรือผู้น้อยด้วย เป็นต้น
- ให้ภาพลามก หรือสิ่งพิมพ์ลามก เพราะทำให้เกิดความกำหนัด เกิดกามกำเริบ (เมื่อดูแล้วเกิดไปฉุดคร่า ข่มขืนใคร บาปก็ตกทอดมาถึงเราด้วย)
16. การประพฤติธรรม
การประพฤติธรรม ก็คือการปฏิบัติให้เป็นไป แบ่งออกได้เป็น 3 อัน ได้แก่
กายสุจริต คือ
- การไม่ฆ่าสัตว์ หมายรวมหมดตั้งแต่สัตว์เล็กสัตว์ใหญ่ และมนุษย์
- การไม่ลักทรัพย์ หมายรวมถึงการคอรัปชั่น ไปหลอกลวง ปล้นจี้ชาวบ้านด้วย
- การไม่ประพฤติผิดในกาม หมายรวมถึงการคบชู้ นอกใจภรรยา และการข่มขืนด้วย
วจีสุจริต คือ
- การไม่พูดเท็จ คือการพูดแต่ความจริง ไม่หลอกลวง
- การไม่พูดคำหยาบ คือคำที่ฟังแล้วไม่รื่นหู เกิดความรู้สึกไม่สบายใจรวมหมด
- การไม่พูดจาส่อเสียด การนินทาว่าร้าย
- การไม่พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล คือการพูดที่ไม่เป็นสาระ หาประโยชน์อันใดมิได้
มโนสุจริต คือ
- การไม่โลภอยากได้ของผู้อื่น คือการนึกอยากได้ของเขามาเป็นของเรา
- การไม่คิดพยาบาทปองร้ายผู้อื่น คือการนึกอยากให้คนอื่นประสพเคราะห์กรรม คิดจะทำร้ายผู้อื่น
- การเห็นชอบ คือมีความเชื่อความเข้าใจในความเป็นจริง ความถูกต้องตามหลักคำสอนตามแนวทางพระพุทธศาสนา
17. การสงเคราะห์ญาติ
ลักษณะของญาติที่ควรให้การสงเคราะห์ เมื่ออยู่ในฐานะดังนี้
- เมื่อยากจนหาที่พึ่งมิได้
- เมื่อขาดทุนทรัพย์ในการค้าขาย
- เมื่อขาดยานพาหนะ
- เมื่อขาดอุปกรณ์ทำมาหากิน
- เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย
- เมื่อคราวมีธุระการงาน
- เมื่อคราวถูกใส่ความหรือมีคดี
การสงเคราะห์ญาติ ทำได้ทั้งทางธรรมและทางโลก ได้แก่
ในทางธรรม ก็ช่วยแนะนำให้ทำบุญกุศล ให้รักษาศีล และทำสมาธิภาวนา
ในทางโลก ก็ได้แก่
- ให้ทาน คือ การสงเคราะห์เป็นทรัพย์สิน หรือเงินทองเพื่อให้เขาพ้นจากทุกข์หรือความลำบากตามแต่กำลัง
- ใช้ปิยวาจา คือ การพูดเจรจาด้วยถ้อยคำที่อ่อนโยน สุภาพ และประกอบไปด้วยความปรารถนาดี
- มีอัตถจริยา คือ การประพฤติตนให้เป็นประโยชน์กับเขา อาจช่วยเหลือด้วยแรงกาย กำลังใจ หรือด้วยความสามารถที่มี
- รู้จักสมานัตตตา คือ การวางตัวให้เหมาะสม อย่างเสมอต้นเสมอปลาย ร่วมทุกข์ร่วมสุข ไม่ถือตัว
18. ทำงานที่ไม่มีโทษ
งานที่ไม่มีโทษ ประกอบด้วยลักษณะดังต่อไปนี้
- ไม่ผิดกฎหมาย คือ ทำให้ถูกต้องตามกฎหมายของบ้านเมือง
- ไม่ผิดประเพณี คือ แบบแผนที่ปฏิบัติกันมาแต่เดิม ควรดำเนินตาม
- ไม่ผิดศีล คือ ข้อห้ามที่บัญญัติไว้ในศีล 5
- ไม่ผิดธรรม คือ หลักธรรมทั้งหลาย เช่น การพนัน การหลอกลวง
ส่วนอาชีพต้องห้ามสำหรับพุทธศาสนิกชน ได้แก่
- การค้าอาวุธ
- การค้ามนุษย์
- การค้ายาพิษ
- การค้ายาเสพย์ติด
- การค้าสัตว์เพื่อนำไปฆ่า
19. ละเว้นจากบาป
บาปคือสิ่งที่ไม่ดี เสีย ความชั่วที่ติดตัว ซึ่งไม่ควรทำ ท่านว่าสิ่งที่ทำแล้วถือว่าเป็นบาปได้แก่ อกุศลกรรมบถ 10 คือ
- ฆ่าสัตว์
- ลักทรัพย์
- ประพฤติผิดในกาม
- พูดเท็จ
- พูดส่อเสียด
- พูดคำหยาบ
- พูดเพ้อเจ้อ
- โลภอยากได้ของเขา
- คิดพยาบาทปองร้ายคนอื่น
- เห็นผิดเป็นชอบ
20. สำรวมจากการดื่มน้ำเมา
ว่าด้วยเรื่องของน้ำเมานั้น อาจทำมาจากแป้ง ข้าวสุก การปรุงโดยผสมเชื้อ หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ดื่มแล้วทำให้มึนเมา เช่น เบียร์ ไวน์ ไม่ใช่แค่เหล้าเท่านั้น ล้วนมีโทษอันได้แก่
- ทำให้เสียทรัพย์ เพราะต้องนำเงินไปซื้อหาทั้งๆที่เงินจำนวนเดียวกันนี้สามารถนำเอาไปใช้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างอื่นได้มากกว่า
- ทำให้เกิดการทะเลาะวิวาท ซึ่งนำไปสู่ความวุ่นวาย เจ็บตัว หรือถึงแก่ชีวิต และคดีความ เพราะน้ำเมาทำให้ขาดการยับยั้งชั่งใจ
- ทำให้เกิดโรค โรคที่เกิดเนื่องมาจากการดื่มสุราล้วนแล้วแต่บั่นทอนสุขภาพกายจนถึงตายได้เช่น โรคตับแข็ง โรคหัวใจ โรคความดัน
- ทำให้เสียชื่อเสียง เมื่อคนเมาไปทำเรื่องไม่ดีเข้าเช่นไปลวนลามสตรี ปล่อยตัวปล่อยใจ ก็ทำให้วงศ์ตระกูล และหน้าที่การงานเสี่อมเสีย
- ทำให้ลืมตัวไม่รู้จักอาย คนเมาทำสิ่งที่ไม่ควรทำ ทำสิ่งที่คนมีสติจะไม่ทำ เช่นแก้ผ้าเดิน หรือนอนในที่สาธารณะ เป็นต้น
- ทอนกำลังปัญญา ทานแล้วทำให้เซลล์สมองเริ่มเสื่อมลง ก็จะทำให้สุขภาพและปัญญาเสื่อมถอย ความสามารถโดยรวมก็ด้อยลง
21. ไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย
ธรรมในที่นี้ก็คือหลักปฏิบัติที่ทำแล้วมีผลในทางดีและเป็นจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงโปรดแนะทางไว้
คนที่ประมาทในธรรมนั้นมีลักษณะที่สรุปได้ ดังนี้
- ไม่ทำเหตุดี แต่จะเอาผลดี
- ทำตัวเลว แต่จะเอาผลดี
- ทำย่อหย่อน แต่จะเอาผลมาก
สิ่งที่ไม่ควรประมาทได้แก่
- การประมาทในเวลา คือ การปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปโดยไม่ทำอะไรให้เกิดประโยชน์ หรือผลัดวันประกันพรุ่ง เป็นต้น
- การประมาทในวัย คือ คิดว่าอายุยังน้อย ไม่ต้องทำความเพียรก็ได้เพราะยังต้องมีชีวิตอยู่อีกนาน เป็นต้น
- การประมาทในความไม่มีโรค คือ คิดว่าตัวเองแข็งแรงไม่ตายง่ายๆ ก็ปล่อยปละละเลย เป็นต้น
- การประมาทในชีวิต คือ การไม่กำหนดวางแผนถึงอนาคต คิดอยู่แต่ว่ายังมีชีวิตอยู่อีกนาน เป็นต้น
- การประมาทในการงาน คือ ไม่ขยันตั้งใจทำให้สำเร็จ ปล่อยตามเรื่องตามราว หรือปล่อยให้ดินพอกหางหมู เป็นต้น
- การประมาทในการศึกษา คือ การไม่คิดศึกษาเล่าเรียนในวัยที่ควรเรียน หรือขาดความเอาใจใส่ที่เพียงพอ
- การประมาทในการปฏิบัติธรรม คือ การไม่ปฏิบัติสมาธิภาวนาหรือศึกษาหลักธรรมให้ถ่องแท้ เพราะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว เป็นต้น
22. มีความเคารพ
ท่านได้กล่าวว่าสิ่งที่ควรเคารพมีอยู่ดังนี้
- พระพุทธเจ้า
- พระธรรม
- พระสงฆ์
- การศึกษา
- ความไม่ประมาท คือ การดำเนินตามหลักธรรมคำสอนพระพุทธศาสนาอื่น ๆ ด้วยความเคารพ
- การสนทนาปราศรัย คือ การต้อนรับอาคันตุกะผู้มาเยือนด้วยความเคารพ
23. มีความถ่อมตน
ความอ่อนน้อมถ่อมตน คือ การไม่แสดงออกถึงความสามารถที่ตัวเองมีอยู่ให้ผู้อื่นทราบเพื่อข่มผู้อื่น หรือเพื่อโอ้อวด การไม่อวดดี เย่อหยิ่งจองหอง แต่แสดงตนอย่างสงบเสงี่ยม
ท่านว่าไว้ว่าโทษของการอวดดีนั้นมีอยู่ดังนี้
- ทำให้เสียคน คือ ไม่สามารถกลับมาอยู่ในร่องในรอยได้เหมือนเดิม เสียอนาคต
- ทำให้เสียมิตร คือ ไม่มีใครคบหาเป็นเพื่อนด้วย ถึงจะมีก็ไม่ใช่เพื่อนแท้
- ทำให้เสียหมู่คณะ คือ ถ้าต่างคนต่างถือดี ก็ทำให้ไม่สามารถตกลงกันได้ ในที่สุดก็ไม่ถึงจุดหมาย หรือทำให้เป็นที่เบื่อหน่ายของคนอื่น
การทำตัวให้เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตนนั้นมีหลักดังนี้
- ต้องคบกัลยาณมิตร คือ เพื่อนที่ดีมีศีลมีธรรม คอยตักเตือนหรือชักนำไปในทางที่ดีที่ถูกที่ควร
- ต้องรู้จักคิดไตร่ตรอง คือ การรู้จักคิดหาเหตุผลอยู่ตลอดถึงความเป็นไปในธรรมชาติของมนุษย์ ต่างคนย่อมต่างจิดต่างใจ และรวมทั้งหลักธรรมอื่น ๆ
- ต้องมีความสามัคคี คือ การมีความสามัคคีในหมู่คณะ อลุ่มอล่วยในหลักการ ตักเตือน รับฟังและเคารพความคิดเห็นของผู้อื่นอย่างมีเหตุผล
ท่านว่าลักษณะของคนถ่อมตนนั้นมีดังนี้
- มีกิริยาที่นอบน้อม
- มีวาจาที่อ่อนหวาน
- มีจิตใจที่อ่อนโยน
สรุปแล้วก็คือ สมบูรณ์พร้อมด้วยกาย วาจา และใจนั่นเอง
24. มีความสันโดษ
คำว่าสันโดษไม่ได้หมายถึงการอยู่ลำพังคนเดียวอย่างเดียวก็หาไม่ แต่หมายถึงการพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ ในของของตัว ซึ่งท่านได้ให้นิยามที่เป็นลักษณะของความสันโดษเป็นดังนี้
- ยถาลาภสันโดษ หมายถึง ความยินดีตามมีตามเกิด คือมีแค่ไหนก็พอใจเท่านั้น เป็นอยู่อย่างไรก็ควรจะพอใจ ไม่คิดน้อยเนื้อต่ำใจในสิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่
- ยถาพลสันโดษ หมายถึง ความยินดีตามกำลัง เรามีกำลังแค่ไหนก็พอใจเท่านั้น ตั้งแต่กำลังกาย กำลังทรัพย์ กำลังบารมี หรือกำลังความสามารถ เป็นต้น
- ยถาสารูปสันโดษ หมายถึง ความยินดีตามควร ซึ่งโยงใยไปถึงความพอเหมาะพอควรในหลายๆ เรื่อง เช่นรูปลักษณ์ของตนเอง และรวมทั้งฐานะที่เราเป็นอยู่
25. มีความกตัญญู
คือการรู้คุณ และตอบแทนท่านผู้นั้น บุญคุณที่ว่านี้มิใช่ว่าตอบแทนกันแล้วก็หายกัน แต่หมายถึงการรำลึกถึงพระคุณที่เคยให้ความอุปการะแก่เราด้วยความเคารพยิ่ง ท่านว่าสิ่งของหรือผู้ที่ควรกตัญญูนั้นมีดังนี้
- กตัญญูต่อบุคคล บุคคลที่ควรกตัญญูก็คือ ใครก็ตามที่มีบุญคุณควรระลึกถึงและตอบแทนพระคุณ เช่น บิดา มารดา อาจารย์ เป็นต้น
- กตัญญูต่อสัตว์ ได้แก่ สัตว์ที่มีคุณต่อเราช่วยทำงานให้เรา เราก็ควรเลี้ยงดูให้ดีเช่นช้าง ม้า วัว ควาย หรือสุนัขที่ช่วยเฝ้าบ้าน เป็นต้น
- กตัญญูต่อสิ่งของ ได้แก่ สิ่งของทุกอย่างที่มีคุณต่อเราเช่น หนังสือที่ให้ความรู้แก่เรา อุปกรณ์ทำมาหากินต่าง ๆ เราไม่ควรทิ้งขว้าง หรือทำลายโดยไม่เห็นคุณค่า
26. การฟังธรรมตามกาล
เมื่อมีโอกาส เวลา หรือตามวันสำคัญต่าง ๆ ก็ควรต้องไปฟังธรรมบ้างเพื่อสดับตรับฟังสิ่งที่เป็นประโยชน์ในหลักธรรมนั้น ๆ และนำมาใช้กับชีวิตเราเพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้น ท่านว่าเวลาที่ควรไปฟังธรรมนั้นมีดังนี้
- วันธรรมสวนะ ก็คือวันพระ หรือวันที่สำคัญทางศาสนา
- เมื่อมีผู้มาแสดงธรรม ก็อย่างเช่น การฟังธรรมตามวิทยุ การที่มีพระมาแสดงธรรมตามสถานที่ต่างๆ หรือการอ่านจากสื่อต่างๆ
- เมื่อมีโอกาสอันสมควร เช่น ในวันอาทิตย์เมื่อมีเวลาว่าง หรือในงานมงคล งานบวช งานกฐิน งานวัด เป็นต้น
คุณสมบัติของผู้ฟังธรรมที่ดีควรต้องมีดังนี้
- ไม่ดูแคลนในหัวข้อธรรมว่าง่ายเกินไป
- ไม่ดูแคลนในความรู้ความสามารถของผู้แสดงธรรม
- ไม่ดูแคลนในตัวเองว่าโง่ ไม่สามารถเข้าใจได้
- มีความตั้งใจในการฟังธรรม และนำไปพิจารณา
- นำเอาธรรมนั้น ๆไปปฏิบัติให้เกิดผล
27. มีความอดทน
ท่านว่าลักษณะของความอดทนนั้นสามารถจำแนกออกได้เป็นดังต่อไปนี้
- ความอดทนต่อความลำบาก คือ ความลำบากที่ต้องประสพตามธรรมชาติ ซึ่งอาจมาจากสภาพแวดล้อม เป็นต้น
- ความอดทนต่อทุกขเวทนา คือ ทุกข์ที่เกิดจากสังขารของเราเอง เช่นความไม่สบายกาย เป็นต้น
- ความอดทนต่อความเจ็บใจ คือ การที่คนอื่นทำให้เราต้องผิดหวัง หรือพูดจาให้เจ็บช้ำใจ ไม่เป็นอย่างที่หวัง เป็นต้น
- ความอดทนต่ออำนาจกิเลส คือ สิ่งยั่วยวนทั้งหลายถือเป็นกิเลสทั้งทางใจและทางกาย เช่น ความนึกโลภอยากได้ของเขา หรือการพ่ายแพ้ต่ออำนาจเงิน เป็นต้น
วิธีทำให้มีความอดทนคือ มีหิริโอตัปปะ
- หิริ ได้แก่การมีความละอายต่อบาป การที่รู้ว่าเป็นบาปแล้วยังทำอีกก็ถือว่าไม่มีความละอายเลย
- โอตตัปปะ ได้แก่การมีความเกรงกลัวในผลของบาปนั้นๆ
28. เป็นผู้ว่าง่าย
ท่านว่าผู้ว่าง่ายนั้นมีลักษณะที่สังเกตได้ดังนี้
- ไม่พูดกลบเกลื่อนเมื่อได้รับการว่ากล่าวตักเตือน คือ การรับฟังด้วยดี ไม่ใช่แก้ตัวแล้วปิดประตูความคิดไม่รับฟัง
- ไม่นิ่งเฉยเมื่อได้รับการเตือน คือ การนำคำตักเตือนนั้นมาพิจารณาและแก้ไขข้อบกพร่องนั้นๆ
- ไม่จับผิดผู้ว่ากล่าวสั่งสอน คือ การที่ผู้สอนอาจจะมีความผิดพลาด เนื่องจากความประมาท เราควรให้อภัยต่อผู้สอน เพราะการจับผิดทำให้ผู้สอนต้องอับอายขายหน้าได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ดีงาม
- เคารพต่อคำสอนและผู้สอน คือการรู้จักสัมมาคารวะต่อผู้ทำให้คำสอน และเคารพในสิ่งที่ผู้สอนได้นำมาแนะนำ
- มีความอ่อนน้อมถ่อมตน คือ ไม่แสดงความยโส ถือตัวว่าอยู่เหนือผู้อื่นเพราะสิ่งที่ตัวเองเป็นตัวเองมี
- มีความยินดีต่อคำสอนนั้น คือ ยอมรับในคำสอนนั้น ๆ ด้วยความยินดีเช่นการไม่แสดงความเบื่อหน่ายเพราะเคยฟังมาแล้ว เป็นต้น
- ไม่ดื้อรั้น คือ การไม่อวดดี คิดว่าของตัวเองนั้นผิดแต่ก็ยังดันทุรังทำต่อไปเพราะกลัวเสียชื่อ เสียฟอร์ม
- ไม่ข้ดแย้ง เพราะว่าการว่ากล่าวตักเตือนหรือสั่งสอนนั้นก็คือ สิ่งที่ตรงข้ามกับที่เราทำอยู่แล้ว เราควรต้องเปิดใจให้กว้างไม่ขัดแย้งต่อคำสอน คำวิจารณ์นั้น ๆ
- ยินดีให้ตักเตือนได้ทุกเวลา คือ การยินดีให้มีการแสดงความคิดเห็นตักเตือนได้โดยไม่มีข้อยกเว้นเรื่องเวลา
- มีความอดทนต่อการเป็นผู้ถูกสั่งสอน คือ การไม่เอาความขัดแย้งในความเห็นเป็นอารมณ์ แต่ให้เข้าใจเจตนาที่แท้จริงของผู้สอนนั้น
การทำให้เป็นคนว่าง่ายนั้นทำได้ ดังนี้
- ลดมานะของตัว คือ การไม่ถือดี ไม่ถือตัว ความไม่สำคัญตัวเองว่าเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ เช่น ถือตัวว่าการศึกษาดีกว่า เป็นต้น
- ละอุปาทาน คือ การไม่ยึดถือในสิ่งที่เรามี เราเป็น หรือถือมั่นในอำนาจกิเลสต่าง ๆ
- มีสัมมาทิฏฐิ คือ มีปัญญาที่เห็นชอบ การเห็นถูกเห็นควรตามหลักอริยสัจ 4 เชื่อเรื่องความไม่เที่ยง เชื่อในเรื่องบุญเรื่องบาป เป็นต้น
29. การได้เห็นสมณะ
คำว่าสมณะแปลตรงตัวได้ว่า ผู้สงบ (หมายถึงผู้อยู่ในสมณเพศ) ท่านว่าคุณสมบัติของสมณะต้องประกอบไปด้วย 3 อย่าง คือ
- ต้องสงบกาย คือ มีความสำรวมในการกระทำทุกอย่าง รวมถึงกิริยา มรรยาท ตามหลักศีลธรรม
- ต้องสงบวาจา คือ การพูดจาให้อยู่ในกรอบของความพอดี มีความสุภาพสงบเสงี่ยมในคำพูดและภาษาที่ใช้ เป็นไปตามข้อปฏิบัติ ประเพณี
- ต้องสงบใจ คือการทำใจให้สงบปราศจากกิเลสครอบงำ ไม่ว่าจะเป็น โลภ โกรธ หลง หรือความพยาบาทใด ๆ ตั้งมั่นอยู่ในสมาธิภาวนา
การได้เห็นสมณะมีอยู่ดังนี้ คือ
- เห็นด้วยตา ความหมายก็ตรงตัวคือการเห็นจากการสัมผัสด้วยสายตาของตนเอง แล้วมีความประทับใจในความสำรวมในกาย
- เห็นด้วยใจ เนื่องจากความสำรวมกาย วาจา ใจของสมณะจะช่วยโนัมน้าวจิตใจของเราให้โอนอ่อนผ่อนตาม และรับฟังหลักคำสอนด้วยใจที่ยินดี ซึ่งนั่นก็หมายถึงการเปิดใจเราให้สมณะได้ชี้นำนั่นเอง
- เห็นด้วยปัญญา หมายความถึงการรู้โดยการใช้ปัญญาใคร่ครวญ พิจารณาในการสัมผัสและเข้าถึงและรับรู้ถึงคำสอนของสมณะผู้นั้น และรู้ว่าท่านเป็นผู้ตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรมอย่างแท้จริง
เมื่อเห็นแล้วก็ต้องทำอย่างนี้ คือ
- ต้องเข้าไปหา คือ เข้าไปขอคำแนะนำ ชี้แนะจากท่าน หรือให้ความเคารพท่าน
- ต้องเข้าไปบำรุงช่วยเหลือ คือ การช่วยเหลือท่านในโอกาสอันควร เพื่อแบ่งเบาภาระของท่าน
- ต้องเข้าไปฟัง คือ การรับฟังคุณธรรม หลักคำสอนของท่านมาไว้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาชีวิต
- หมั่นระลึกถึงท่าน คือ การระลึกถึงความดีที่ท่านมีแล้วนำมาเป็นตัวอย่างกับตัวเราเอง
- รับฟังรับปฏิบัติ คือ การรับคำแนะนำของท่านมาปฏิบัติทำตามเพื่อให้เกิดผล ครั้นเมื่อติดขัดก็ใคร่แก้ไขเพื่อให้รู้จริงเห็นจริงตามนั้น
30. การสนทนาธรรมตามกาล
การได้สนทนากันเรื่องธรรม ทำให้ขยายขอบเขตการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนความรู้ และได้รู้ในสิ่งใหม่ๆ ที่เราอาจนึกไม่ถึง หรือเป็นการเผื่อแผ่ความรู้ที่เรามีให้แก่ผู้อื่นได้ทราบด้วย
ก่อนที่เราจะสนทนาธรรม ควรต้องพิจารณาและคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้ คือ
- ต้องรู้เรื่องที่จะพูดดี
- ต้องพูดเรื่องจริง มีประโยชน์
- ต้องเป็นคำพูดที่ไพเราะ
- ต้องพูดด้วยความเมตตา
- ต้องพูดจาโอ้อวด ยกตนข่มท่าน
ข้อปฏิบัติเมื่อมีการสนทนาธรรม
- มีศีลธรรม คือ การเป็นผู้ที่รักษาศีล 5 หรือศีล 8 เป็นนิจศีลอยู่แล้ว การเป็นผู้ปฏิบัติถือเป็นหน้าที่ขั้นต้นในการเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี
- มีสมาธิดี คือ การมีจิตใจจดจ่ออยู่กับเรื่องที่สนทนา ไม่ว่อกแวก พร้อมทั้งเป็นผู้ที่หมั่นเจริญสมาธิภาวนาด้วย
- แต่งการสุภาพ คือ การแต่งตัวให้เหมาะสมกับยุคสมัย อยู่ในกรอบประเพณีของสังคมแวดล้อม ณ ที่นั้น ๆ ถูกกาลเทศะ
- มีกิริยาสุภาพ คือ มีความสุภาพในท่วงท่าไม่ว่าจะเดิน นั่ง ยืน หรือการกระทำใดๆ การที่มีกิริยางดงาม สุภาพย่อมโน้มน้าวจิดใจผู้พบเห็นให้เกิดความประทับใจที่ดี
- ใช้วาจาสุภาพ คือ การใช้ถ้อยคำที่สุภาพในการสนทนา ไม่ใช้คำหยาบคาย หรือก้าวร้าว
- ไม่กล่าวค้านพระพุทธพจน์ คือ การไม่นำเอาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาเป็นข้อสงสัย หรือกล่าวค้าน เพราะสิ่งที่กล่าวไว้ในพระพุทธพจน์ย่อมเป็นความจริงตลอดกาล
- ไม่ออกนอกประเด็นที่ตั้งไว้ คือ การพูดให้อยู่ในหัวข้อที่ตั้งไว้ ไม่พูดแบบน้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรงเหรง
- ไม่พูดนานจนน่าเบื่อ คือ การเลือกเวลาที่เหมาะสมตามสถานการณ์ เนื่องจากเรื่องบางเรื่องอาจไม่จำเป็นต้องขยายความมากเกินไป
31. การบำเพ็ญตบะ
ตบะ โดยความหมายแปลว่า ทำให้ร้อน ไม่ว่าด้วยวิธีใด การบำเพ็ญตบะหมายความถึงการทำให้กิเลส ความรุ่มร้อนต่าง ๆ หมดไป หรือเบาบางลง ลักษณะการบำเพ็ญตบะมีดังนี้
- การมีใจสำรวมในอินทรีย์ทั้ง 6 (อายตนะภายใน 6 อย่าง) ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ไม่ให้หลงติดอยู่กับสัมผัสภายนอกมากเกินไป ไม่ให้กิเลสครอบงำใจเวลาที่รับรู้อารมณ์ผ่านอินทรีย์ทั้ง 6 (อินทรีย์สังวร)
- การประพฤติรักษาพรหมจรรย์ เว้นจากการร่วมประเวณี หรือกามกิจทั้งปวง
- การปฏิบัติธรรม คือการรู้และเข้าใจในหลักธรรมเช่นอริยสัจ เป็นต้น ปฏิบัติตนให้อยู่ในศีล และถึงพร้อมด้วยสมาธิ และปัญญา โดยมีจุดหมายสูงสุดที่พระนิพพาน กำจัดกิเลส ละวางทุกสิ่งได้หมดสิ้นด้วยปัญญา
32. การประพฤติพรหมจรรย์
คำว่าพรหมจรรย์ หมายความถึง การบวชซึ่งละเว้นเมถุน การครองชีวิตที่ปราศจากเมถุน การประพฤติธรรมอันประเสริฐ ท่านว่าลักษณะของธรรมที่ถือว่าเป็นการประพฤติพรหมจรรย์นั้น (ไม่ใช่ว่าต้องบวชเป็นพระ) มีอยู่ดังนี้
- ให้ทาน บริจาคทานไม่ว่าจะเป็นทรัพย์ สิ่งของ เงินทอง หรือปัญญา
- ช่วยเหลือผู้อื่นในกิจการงานที่ชอบ ที่ถูกที่ควร (เวยยาวัจจมัย)
- รักษาศีล 5 คือไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักขโมย ไม่ทำผิดในกาม ไม่พูดปด ไม่ดื่มน้ำเมา (เบญจศีล)
- มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขากับคนที่เราต้องพบปะด้วยทุกคน (อัปปมัญญา)
- งดเว้นจากการเสพกาม (เมถุนวิรัติ)
- ยินดีในคู่ของตน คือการมีสามีหรือภรรยาคนเดียว (สทารสันโดษ)
- เพียรพยายามที่จะละความชั่ว ไม่ท้อถอยในความบากบั่น (วิริยะ)
- รักษาซึ่งศีล 8 คือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักขโมย ไม่ร่วมประเวณี ไม่พูดปด ไม่ดื่มน้ำเมา ไม่บริโภคอาหารตั้งแต่เที่ยงวันเป็นต้นไป ไม่ฟ้อนรำ ขับร้อง บรรเลงดนตรี ดูการละเล่น ใช้ของหอมหรือเครื่องประดับ ไม่นอนบนที่สูงใหญ่ หรูหรา (อุโบสถ)
- ใช้ปัญญาเห็นแจ้งใน ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค (อริยธรรม)
- ศึกษาปฏิบัติในศีล สมาธิ ปัญญา ให้รู้แจ้งเห็นจริง (สิกขา)
*ขออธิบายเพิ่มเติมว่าข้อ 5 ที่บอกว่าให้งดเว้นการเสพกาม แต่ข้อ 6 ให้ยินดีในคู่ของตนนั้น เพราะว่าการประพฤติพรหมจรรย์ในที่นี้หมายถึง บุคคลทั่วไปที่อาจมีครอบครัวแล้ว ก็ประพฤติพรหมจรรย์ได้โดยการงดเว้นการร่วมประเวณี เช่นในวันสำคัญๆเป็นต้น
33. การเห็นอริยสัจ
อริยสัจ หมายถึงความจริงอันประเสริฐ หลักแห่งอริยสัจมีอยู่ 4 ประการตามที่ท่านได้สั่งสอนไว้ มีดังนี้
- ทุกข์ คือ ความไม่สบายกายไม่สบายใจ ความเป็นจริงของสัตว์โลกทุกผู้ทุกนามต้องมีทุกข์ ๓ ประการคือ การเกิด ความแก่ ความตาย นอกจากนี้ก็มีความทุกข์ที่เป็นอาการ หรือเกิดจากสภาพแวดล้อมสรุปได้ดังนี้ คือ
- ความโศกเศร้า (โสกะ)
- ความรำพันด้วยความเสียใจ (ปริเทวะ)
- ความเจ็บไข้ได้ป่วย (ทุกขะ)
- ความเสียใจ (โทมนัสสะ)
- ความท้อแท้ สิ้นหวัง คับแค้นใจ (อุปายาสะ)
- การตรอมใจ ผิดหวังจากสิ่งที่ไม่รัก (อัปปิเยหิ สัมปโยคะ)
- การพลัดพรากจากสิ่งที่รัก (ปิเยหิ วิปปโยคะ)
- ความหม่นหมองเมื่อปรารถนาแล้วไม่ได้สิ่งนั้น (ยัมปิจฉัง นลภติ)
- สมุทัย คือ เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ นอกจากเหตุแห่งทุกข์ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ต้นตอของทุกข์ก็อยู่ที่ใจของเราด้วยนั่นก็คือความอยาก ท่านว่าเป็นตัณหา 3 อย่าง ซึ่งแบ่งออกได้เป็นดังนี้
- ความอยากได้ หมายรวมถึงอยากทุกอย่างที่นำมาสนองสัมผัสทั้ง 5 และกามารมณ์ (กามตัณหา)
- ความอยากเป็น คือความอยากเป็นโน่นเป็นนี่ (ภวตัณหา)
- ความไม่อยากเป็น คือความไม่พอใจในสิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่ (วิภวตัณหา)
- นิโรธ คือ ความดับทุกข์ ภาวะที่ตัณหาดับสิ้นไป ความหลุดพ้น หรือหมายถึงภาวะของพระนิพพานนั่นเอง
- มรรค คือ ข้อปฏิบัติ หรือหนทางที่นำไปสู่การดับทุกข์ การเดินทางสายกลางเพื่อไปให้ถึงการดับทุกข์ คือ มรรคมี 8 ประการ คือ
- ความเห็นชอบ เช่นความศรัทธาในเบื้องต้นต่อหลักธรรม คำสอน เช่นการเชื่อว่ากรรมดีกรรมชั่วมีจริงเป็นต้น (สัมมาทิฏฐิ)
- ความดำริชอบ หรือความคิดชอบ มีความคิดที่ถูกต้องตามหลักธรรม เช่นการใช้ปัญญาพิจารณาความไม่เที่ยงของสังขาร หรือการไม่คิดอยากได้ของเขามาเป็นของเราเป็นต้น (สัมมาสังกัปปะ)
- เจรจาชอบ คือ การปฏิบัติตามหลักธรรม ไม่พูดโกหก ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อเป็นต้น (สัมมาวาจา)
- ทำการชอบ หรือการมีการกระทำที่ไม่ผิดหลักศีลธรรม เช่นไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์เป็นต้น (สัมมากัมมันตะ)
- เลี้ยงชีพชอบ คือ การทำมาหากินในทางที่ถูก ไม่เบียดเบียนหรือทำความเดือดร้อนให้กับสัตว์หรือผู้อื่น อยู่ในหลักธรรมที่กำหนด เช่น ไม่มีอาชีพค้ามนุษย์ หรืออาชีพค้าอาวุธเป็นต้น (สัมมาอาชีวะ)
- ความเพียรชอบ คือ การหมั่นทำนุบำรุงในสิ่งที่ถูกต้อง อาทิเช่นการพยายามละกิเลสออกจากใจ หรือการพยายามสำรวม กาย วาจา ใจให้ดำเนินตามหลักธรรมของท่านเป็นต้น (สัมมาวายามะ)
- ความระลึกชอบ คือ มีสติตั้งมั่นในสิ่งที่ถูกต้องตามหลักธรรม เช่นการพึงระลึกถึงความตายที่ต้องเกิดกับทุกคนเป็นต้น (สัมมาสติ)
- จิตตั้งมั่นชอบ คือ มีจิตที่มีสมาธิ ไม่ว่อกแวกหรือคิดฟุ้งซ่าน และการทำสมาธิภาวนาตามหลักการที่ท่านได้บัญญัติแนะนำเอาไว้ (สัมมาสมาธิ)
34. การทำให้แจ้งในพระนิพพาน
นิพพาน คือ ภาวะของจิตที่ดับกิเลสได้หมดสิ้น หลุดจากอำนาจกรรม และไม่ต้องวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏอีก ซึ่งก็คือพ้นจากทุกข์นั่นเอง
ท่านว่าลักษณะของนิพพานมีอยู่ 2 ระดับดังนี้คือ
- การดับกิเลสขณะที่ยังมีเบญจขันธ์เหลืออยู่ หรือการเข้าถึงนิพพานขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ -อุปาทิเสสนิพพาน
- การดับกิเลสที่ไม่มีเบญจขันธ์เหลืออยู่เลย คือการที่ร่างกายเราแตกดับแล้วไปเสวยสุขอันเป็นอมตะในพระนิพพาน (ตรงนี้ไม่สามารถอธิบายให้กระจ่างมากไปกว่านี้ได้) -อนุปาทิเสสนิพพาน
การที่จะเข้าถึงพระนิพพานได้ ก็ต้องปฏิบัติธรรมและเจริญสมาธิภาวนาจนถึงขั้นสูงสุด
35. มีจิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม
คำว่า โลกธรรม มีความหมายถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำบนโลกนี้ ซึ่งเราไม่ควรมีจิดหวั่นไหวต่อสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ท่านว่าลักษณะของโลกธรรมมี ๔ ประการ คือ
- การได้ลาภ เมื่อมีลาภผลก็ย่อมมีความเสื่อมเป็นธรรมดา มีแล้วก็ย่อมหมดไปได้ เป็นแค่ความสุขชั่วคราวเท่านั้น
- การได้ยศ ยศฐาบรรดาศักดิ์ล้วนเป็นสิ่งสมมุติขึ้นมาทั้งนั้น เป็นสิ่งที่คนยอมรับกันว่าเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ พอหมดยศก็หมดบารมี
- การได้รับการสรรเสริญ ที่ใดมีคนนิยมชมชอบ ที่นั่นก็ย่อมต้องมีคนเกลียดชังเป็นเรื่องธรรมดา การถูกนินทาจึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติ
- การได้รับความสุข ที่ใดมีสุขที่นั่นก็จะมีทุกข์ด้วย มีความสุขแล้วก็อย่าหลงระเริงไปจนลืมนึกถึงความทุกข์ที่แฝงมาด้วย
การทำให้จิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม มีวิธีดังนี้
- ใช้ปัญญาพิจารณา โดยตั้งอยู่ในหลักธรรมของพระพุทธศาสนา พิจารณาอยู่เนืองๆ ถึงหลักธรรมต่างๆ
- เจริญสมาธิภาวนา ใช้กรรมฐานพิจารณาถึงความเป็นไปในความไม่เที่ยงในสรรพสิ่งทั้งหลายในโลก และสังขาร
36. มีจิตไม่โศกเศร้า
ท่านว่ามีเหตุอยู่ 2 ประการที่ทำให้จิตเราต้องโศกเศร้า คือ
- ความโศกเศร้าที่เกิดเนื่องมาจากความรัก รวมถึงรักสิ่งของ ทรัพย์สินเงินทองด้วย
- ความโศกเศร้าที่เกิดจากความใคร่
การทำให้จิตใจไม่โศกเศร้านั้น มีข้อแนะนำดังนี้
- ใช้ปัญญาพิจารณาอยู่เนืองๆ ถึงความไม่เที่ยงในสิ่งของทั้งหลาย และร่างกายของเรา
- ไม่ยึดมั่นในตัวตน หรือความจีรังยั่งยืน ในคนหรือสิ่งของว่าเป็นของเรา
- ทุกอย่างในโลกล้วนเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะ แม้ร่างกายเราก็ใช้เป็นที่อาศัยชั่วคราวเท่านั้น
- คิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างล้วนไม่เที่ยงด้วยกันทั้งนั้น
37. มีจิตปราศจากกิเลส
กิเลส ก็คือสิ่งที่ทำให้เกิดความเศร้าหมอง ซึ่งได้แก่ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ท่านได้แบ่งประเภทของกิเลสออกเป็นดังนี้
- ราคะ สามารถแบ่งย่อยออกได้เป็น
- ความโลภอย่างแรงจนแสดงออกมา เช่น การลักขโมย ปล้น จี้ ข่มขืนกระทำชำเรา เป็นต้น (อภิชฌาวิสมโลภะ)
- ความเพ่งเล็งจะเอาของคนอื่นมาเป็นของตัว มีใจอยากได้ของคนอื่นแต่ยังไม่ถึงกับแสดงออก (อภิชฌา)
- ความอยากได้ในทางไม่ชอบ เช่น การยอมรับสินบน การทุจริตเพื่อแลกกับการมีทรัพย์เป็นต้น (ปาปิจฉา)
- ความมักมากเห็นแก่ได้ ด้วยการเอามาเป็นของตนจนเกินพอดี เอาประโยชน์ใส่ตัวโดยไม่คำนึงถึงคนอื่น (มหิจฉา)
- ความยินดีในกาม ก็คือยังไม่สามารถละกิจกรรมทางเพศได้ ยังมีความรู้สึก มีแรงกระตุ้น มีความพอใจในเรื่องเพศ (กามระคะ)
- ความยินดีในรูปธรรมอันปราณีต ก็คือติดอยู่ในอารมณ์ของรูปฌาณ ปรารถนาในรูปของภพเมื่อทำสมาธิขั้นสูงขึ้นไป (รูปราคะ)
- ความยินดีในอรูปฌาณ ก็คือติดอยู่ในอารมณ์ของอรูปฌาณเมื่อทำสมาธิถึงภพของอรูปพรหม (อรูปราคะ)
- โทสะ สามารถแบ่งย่อยออกได้เป็น
- พยาบาท คือการผูกใจอาฆาต มีใจที่ไม่หวังดี การจองเวร
- โทสะ คือการคิดประทุษร้าย เนื่องด้วยมีใจพยาบาทแล้วก็มีใจคิดหมายทำร้าย
- โกธะ คือความโกรธ ความเดือดร้อนใจ ซึ่งล้วนเป็นเหมือนไฟที่เผาตัวเอง
- ปฏิฆะ คือความขัดใจ ความไม่พอใจอันทำให้อารมณ์หงุดหงิด
- โมหะ สามารถแบ่งย่อยออกได้เป็น
- ความเห็นผิดเป็นชอบ เช่น การไม่เชื่อในเรื่องบาป เรื่องบุญเป็นต้น (มิจฉาทิฐิ)
- ความหลงผิด ไม่รู้ตามความเป็นจริง (โมหะ)
- การเห็นว่ามีตัวตน เช่น การเชื่อในสิ่งที่มองเห็นด้วยตาเปล่าเท่านั้น (สังกายทิฏฐิ)
- ความสงสัย คือ สงสัยในพระธรรม คำสั่งสอนในเรื่องการปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ (วิจิกิจฉา)
- การยึดถืออย่างงมงาย เช่น การไปกราบไหว้สัมพเวสีที่อยู่ตามต้นไม้ ขอลาภเป็นต้น (สีลัพพตปรามาส)
- ความถือตัว คือ การสำคัญตัวเองผิดว่าเป็นอย่างโน้นเป็นอย่างนี้ (มานะ)
- ความฟุ้งซ่าน คือ การที่จิตใจว่อกแวก คิดไม่เป็นสาระ ไม่อยู่กับร่องกับรอย ไม่มีสมาธิ หรือการทำสมาธิไม่นิ่ง (อุทธัจจะ)
- ความไม่รู้จริง คือ การที่รู้แค่ผิวเผิน หรือการทึกทักเอาเอง ไม่ปฏิบัติตามหลักพระธรรม ยังไม่เกิดปัญญา (อวิชชา)
โทษของการมีกิเลสดังกล่าวข้างต้นพอสรุปได้สั้น ๆ ดังนี้คือ
- ราคะ มีโทษน้อย แต่คลายช้า
- โทสะ มีโทษมาก แต่คลายเร็ว
- โมหะ มีโทษมาก แต่คลายช้า
38. มีจิตเกษม
เกษม หมายถึงมีความสุข สบาย หรือสภาพที่มีจิตใจที่เป็นสุข มีจิดเกษมก็คือว่ามีจิตที่เป็นสุขในที่นี้หมายถึงการละแล้วซึ่งกิเลส ที่ท่านว่าไว้ว่าเป็นเครื่องผูกอยู่ 4 ประการ คือ
- การละกามโยคะ คือ การละความยินดีในวัตถุ สิ่งมีชีวิตทั้งหลายเรียกว่ากามคุณซึ่งประกอบด้วย รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส
- การละภวโยคะ คือ การละความยินดีในภพ โดยให้เห็นว่าสิ่งใดๆในโลกล้วนไม่เที่ยงแท้ หรือคงอยู่ตลอดไป
- การละทิฏฐิโยคะ คือ การละความยินดีในความเห็นผิดเป็นชอบ โดยให้ดำเนินตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าที่กล่าวมาแล้ว
- การละอวิชชาโยคะ คือ การละความยินดีในอวิชชาทั้งหลาย ความไม่รู้ทั้งหลาย โดยให้มุ่งปฏิบัติเพื่อปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น