วันอังคารที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2555

แบงก์สยามกัมมาจล .. ธนาคารพาณิชย์แห่งแรกและสวยที่สุดในประเทศไทย

พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย (พระองค์เจ้าไชยยันต์มงคล) ทรงตระหนักดีว่าประเทศสยามเสียเปรียบมาก หากไม่จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ของชาวสยามขึ้นมาเสียเอง และพระองค์เองได้ทรงขวนขวายศึกษาหาความรู้ เรื่องกิจการธนาคารพาณิชย์จนมีความแตกฉานในระดับหนึ่ง จึงทรงจัดหาเงินทุนก้อนแรกได้จำนวน 30,000 บาท เพื่อเตรียมจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กขึ้นเป็นครั้งแรกในกรุงสยาม ที่ดำเนินการเองโดยชาวสยาม


ในชั้นแรก กรมหมื่นมหิศรฯ ทรงยื่นขออนุญาตจัดตั้งให้เป็น “บุคคลัภย์” (Book Club) ในวันที่ 4 เดือนตุลาคม รัตนโกสินทร์ศก 123 (พ.ศ. 2448) โยแจ้งไว้ในหนังสือบริคณฑ์สนธิ ว่า จะประกอบกิจการห้องสมุด คือจะมีหนังสือประเภทต่างๆไว้บริการให้สมาชิกอ่านหรือขอยืมได้ เหตุที่ต้องพรางความจริงเช่นนั้น เพราะกรมหมื่นมหิศรฯ ทรงคาดการณ์ว่า กิจกาครั้งนี้มิใช่เป็นเรื่องที่จะปฏิบัติสำเร็จง่ายๆ เพราะขาดประสบการณ์ หากไม่สำเร็จจะได้ไม่น่าอัปยศนัก


ออฟฟิศแห่งแรกของบุคคลัภย์ คือตึกแถวของพระคลังข้างที่ ที่ตำบลบ้านหม้อ เมื่อก่อตั้งแล้ว กรมหมื่นฯ ได้เริ่มสั่งซื้อกระดาษและเครื่องมือ เครื่องใช้ต่างๆ พร้อมทั้งจัดหาผู้จัดการและพนักงานให้ครบตามปริมาณงาน โดยมร พระสรรพการหิรัญกิจ เป็นผู้จัดการ มีพนักงาน 18 คน มีคอมปราโดร์ (Comprador) เป็นชาวจีนในสยาม 4 คน


ลักษณะการดำเนินธุรกิจ คือเป็นธนาคารพาณิชย์นั่นเอง โดยรับเงินฝากจากประชาชนและจ่ายดอกเบี้ยให้ในอัตราร้อยละ 7.50 ซึ่งมีเพียงระยะแรกเท่านั้นก็มีผู้นำเงินมาฝากถึง 80,000 บาทเศษ เมื่อนำมารวมกับทุนก่อตั้งของ “บุคคลัภย์” แล้ว สามารถนำไปให้กู้ยืมไปทำธุรกิจเกี่ยวกับที่ดิน สิ่งก่อสร้าง และรับจำนองได้


หลังจากเปิดดำเนินการมาได้ 3 เดือน กิจการดำเนินไปอย่างราบรื่น และได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากชาวสยามซึ่งได้รับทราบข่าวในลักษณะปากต่อปาก “บุคคลัภย์” จึงเพิ่มธุรกรรม โดยมีการถอนเงินได้ด้วยเช็ค ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบกิการและประชาชนต่างมีความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกันมากขึ้น และเริ่มเคยชินกับระบบบริหารการเงินแบบใหม่ในระยะเวลาอันรวดเร็ว


ต่อจากนั้นไม่นาน “บุคคลัภย์” กลายเป็นธนาคารโดยสมบูรณ์ เช่นเดียวกับธนาคารข้ามชาติที่มีอยู่ในสยาม ณ ขณะนั้น ในการขยายกิจการเป็นธนาคารนั้น กรมหมื่นมหิศรฯ ทรงออกหุ้น 1,000 หุ้น หุ้นละ 1,000 บาท (เรียกว่า แชร์) โดยมีแชร์ที่มี Face Value 1,000 บาท ขายในราคา 1,500 บาท


ต่อมาได้เพิ่มจำนวนหุ้นเป็น 3,000 หุ้น แต่ละหุ้นมีมูลค่าเท่าเดิม เมื่อเปิดจอง ก็มีผู้จองครบจำนวนโดยเร็ว มิหนำซ้ำธนาคารต่างประเทศ คือ “ดอยซ์เอเซียติชแบงก์” (เยอรมนี) ยังมาขอจอง 300 หุ้น และ “เดดานสกีแลนด์เมนส์แบงก์” (เดนมาร์ก) ขอจอง 240 หุ้น


เมื่อจำหน่ายหุ้นได้ครบถ้วนแล้ว กรมหมื่นมหิศรฯ จึงทรงแต่งตั้งคณะกรรมการ 7 คน และได้ทำหนังสือกราบเรียนเจ้าพระยาเทเวศรวงษ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว. หวาน กุญชร) เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ ณ ขณะนั้น ให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตพิเศษเพื่อก่อตั้ง “บริษัทแบงก์สยามกัมมาจลทุนจำกัด” ขึ้นในวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2449 โดยได้รับพระราชทานตราอาร์มแผ่นดินมาเป็นตราประจำธนาคารด้วย


นับแต่นั้นมา ธนาคาร หรือ “แบงก์” แห่งแรกของชาวสยาม ก็ได้ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งในด้านกิจการภายในและกิจการการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะด้านการส่งออกข้าวไปสู่ตลาดโลก ดังนั้น ออฟฟิศขนาดเล็ก ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อเริ่มกิจการที่ตำบลบ้านหม้อจึงเล็กเกินไปสำหรับการประกอบธุรกิจ ผู้บริหารขณะนั้นจึงมองหาที่ทางแห่งใหม่ที่เหมาะสม


ในช่วงเวลานั้น การค้าขายของชาวกรุงเทพฯ กระจุกตัวอยู่แถวสำเพ็ง เยาวราช ทรงวาด และตลาดน้อย เนื่องด้วยมีทำเลติดแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นเส้นโลหิตของการคมนาคมขนส่งสินค้าทุกชนิด และบริเวณนั้นเป็นชุมชนชาวจีน ซึ่งมีอาชีพค้าขายมาตั้งแต่กรุงรัตนโกสินทร์เริ่มก่อตั้ง


ย่านตลาดน้อยดูจะเหมาะสมในการตั้งสำนักงานแห่งใหม่ที่สุด เพราะเป็นย่านการค้าเก่าแก่ของกรุงเทพฯ รองจากสำเพ็ง อีกทั้งเป็นย่านที่พักของชาวกรุงเทพฯ ทั้งชาวจีนและไทยหนาแน่น มีที่อยู่ซึ่งสร้างแบบเก๋งจีนมากมายมาตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

ตลาดน้อยนี้ แต่เดิมมีชื่อเรียกแบบจีนว่า “ตลาดเกี๊ยะ” เป็นตลาดใหญ่ ขายทั้งอาหารสดและอาหารแห้ง รวมทั้งเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ เช่น เสื้อผ้า เครื่องเรือน เคยมีร้านเครื่องเรือนไม้สักชั้นดีฝีมือประณีตที่นี่ ชื่อ “ห้างแซเทียน” เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่เจ้านาย และคหบดีของกรุงเทพฯ ยุคนั้น


บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาในละแวกไม่ไกลจากตลาดน้อยนัก เป็นที่ตั้งของธนาคารต่างประเทศยุคแรกในสยาม ได้แก่ ธนาคารฮ่องกง-เซี่ยงไฮ้ ธนาคารชาร์เติร์ด และธนาคารอินโดจีน ซึ่งสนองตอบผลประโยชน์ของลูกค้าซึ่งเป็นพ่อค้ากิจการโรงสี โรงเลื่อย โกดังสินค้า ข้าว และอื่นๆ ดังนั้น นับว่าสำนักงานถาวรแห่งแรกของ “แบงก์สยามกัมมาจล” เลือกทะเลที่ตั้งที่เหมาะสมมาก


สำนักงานแห่งนี้สร้างขึ้นเป็นอาคาร 3 ชั้นขนาดกลาง ซึ่งมีความสวยงามประณีตมาก กล่าวตือเป็นอาคารที่สร้างตามแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกที่เรียกว่า “โบซาร์” (Beaux Arts) ผสมกับ “นีโอคลาสสิก” (Neo-classic) ออกแบบโดยสถาปนิกชาวอิจาเลียนผู้มีชื่อเสียงในกรุงสยามในขณะนั้น คือ นายอันนิบาเล ริก๊อตติ (Annibale Rigotti) และนาย มาริโอ ดามันโย (Mario Tamagno) ซึ่งเป็นนายช่างออกแบบรับราชการอยู่ที่กระทรวงมหาดไทย

ชาวอิตาเลียนทั้ง 2 คนได้รับการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมและศิลปะอย่างดีเยี่ยมจากประเทศอิตาลี ได้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยในช่วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกำลังพัฒนากรุงสยามด้านกายภาพให้เจริญทันสมัยทัดเที่ยมชาติตะวันตก บุคคลทั้งสองรวมทั้งสถาปนิกและนายช่างวิศวกรชาวอิตาเลียนอีกหลายคน ซึ่งเข้ามารับราชการอยู่ในกรมกองต่างๆ จึงได้ฝากฝีมือการสร้างพระที่นั่ง ปราสาทราชวัง ถนน สะพาน และคฤหาสน์ของคหบดีชาวไทยไว้หลายแห่ง บ้างก็รื้อไปแล้ว บ้างก็ยังมีเหลือให้ชมในปัจจุบัน ผลงานชิ้นเอกที่สถาปนิกทั้งสองได้ร่วมกันออกแบบสร้าง ได้แก่หระที่นั่งอนันตสมาคมนั่นเอง


ริก๊อตติ และตามันโย ได้ร่วมกันออกแบบอาคารของสยามกัมมาจลแห่งแรกนี้ให้มีความละเอียดงดงามอย่างหาที่ติมิได้ บริษัทที่มาดำเนินการก่อสร้างได้แก่ ห้างยี ครูเซอร์ เสียค่าออกแบบก่อสร้างรวมค่าวัสดุวัสดุอุปกรณ์ และเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ที่นำเข้าจากต่างประเทศเปฌ็นส่วนใหญ่ สิ้นเงินไปราว 300,000 บาท

เมื่ออาคารแห่งใหม่นี้สร้างเสร็จสมบูรณ์ แบงก์สยามกัมมาจลก็ย้ายจากอาคารชั่วคราวที่ตำบลบ้านหม้อ มาอยู่ ณ ที่นี้ ในปี พ.ศ. 2451 และได้ทธุรกิจเป็นธนาคารพาณิชย์เต็มที่ และได้มีความเจริญเติบโตมาเป็นลำดับ จนจัดได้ว่าอยู่แถวหน้าของธนาคารชาวไทยแห่งหนึ่ง


“แบงก์สยามกัมมาจล” ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “ธนาคารไทยพาณิขย์ จำกัด” เมื่อวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2482 ขณะที่ประเทศอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม ซึ่งมีนโยบายชาตินิยม และได้เปลี่ยนชื่อประเทศสยาม เป็นประเทศไทยด้วย


เมื่อธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ก่อสร้างที่ทำการสำนักงานแห่งใหม่ที่ถนนเพชรบุรี และได้ย้ายสำนักงานใหญ่ไปอยู่ ณ ที่นั้นในวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2514 สำนักงานแห่งเดิมที่ตำบลตลาดน้อยยังคงดำเนินงานต่อไปในฐานะเป็น “สาขาตลาดน้อย”

ตั้งแต่ พ.ศ. 2525 เป็นค้นมา อาคารงดงามฝีมือสถาปนิกอิตาเลียนแห่งนี้ ได้รับรางวัลจากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้เป็นอาคารอนุรักษ์ดีเด่นแห่งหนึ่งในประเทศไทย นับเป็นประกาศนียบัตรที่ประกันความงดงามเก่าแก่ และมีคุณค่ายิ่งของอาคารแห่งนี้ ซึ่งยังอยู่ในสภาพดีเยี่ยมอันควรค่าแก่การเข้าชม แม้จะก่อสร้างมาเป็นเวลานานถึง 100 ปีแล้วก็ตาม


หากท่านมีธุรกิจธุรกรรมกับธนาคารไทยพาณิชย์สาขาตลาดน้อย หรือไปติดต่องานที่อาคาร 100 ปีย่านตลาดน้อยแห่งนี้ ท่านจะได้เห็นตึก 3 ชั้นที่มีความงดงามเช่นเดียวกับตึกสวยงามในยุโรป มีลวดบัว หัวเสา ปูนปั้น ในสถาปัตยกรรมแบบยุโรปครบถ้วนตามแม่แบบ ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจไม่เฉพาะแต่ชาวธนาคารไทยพาณิชย์เท่านั้น แต่ยังเป็นมรดกแห่งชาติของชาวไทยทั้งปวงอีกด้วย




หมายเหตุ .. ในปี พ.ศ. 2525 ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาถนนเพชรบุรี ซึ่งเดิมเป็นบ้านของ “มหาอำมาตย์โทพระยามหินทรเดชานุวัฒน์” (ใหญ่ ศยามานนท์) ก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2474 – 2476 ก็ได้รับรางวัลในฐานะเป็นอาคารอนุรักษ์ที่ดีเยี่ยมเช่นเดียวกัน
















แหล่งที่มา    เว็บไซต์ OkNation July 24, 2008

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...