วันอังคารที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2555

มะระขี้นก พืชรสขม สรรพคุณสู้เบาหวาน

เอ่ยถึงชื่อของ "มะระ" หลายคนคงได้แต่ส่ายหน้าเพราะไม่ชอบรับประทานอาหารที่มีรสขม แต่ประโยคที่ว่า “หวานเป็นลม ขมเป็นยา” ก็ยังใช้สื่อความหมายได้ชัดเจน โดยเฉพาะกับพืชผักของไทย เพราะแม้จะขมแต่ก็มีสรรพคุณบำรุงร่างกายได้สารพัด รายการภัตตาคารบ้านทุ่ง (24 มิถุนายน 2555) จึงขออาสาพาไปทำความรู้จักกับผักรสขมอีกหนึ่งชนิด ที่มีสรรพคุณเด่นช่วยบรรเทาอาการของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ส่วนจะมีทีเด็ดขนาดไหนนั้นต้องตามไปดูกันเลย ..

โดยในครั้งนี้รายการภัตตาคารบ้านทุ่ง จะพาไปเยือนอำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท โดยมี น้าเปรย  คุณสมบัติ, น้าสมปอง พละศักดิ์ และ น้าอรพรรณ จันทร์เพ็ญ ที่ประกอบอาชีพแปรรูปสมุนไพร จะมาช่วยอธิบายถึงเรื่องราวของมะระขี้นกให้ฟังว่า มะระขี้นกนั้นมักจะเติบโตขึ้นตามแหล่งธรรมชาติที่สะอาดปลอดสารพิษ เช่น ตามคันคลองต่างๆ เป็นต้น

มะระขี้นก แบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ
  1. มะระขี้นกป่า กับ
  2. มะระขี้นกปลูก
แตกต่างกันตรงที่มะระขี้นกป่าจะมีขนาดเล็กกว่า เพราะเจริญเติบโตขึ้นเองตามธรรมชาติ ทำให้มีการสะสมคุณค่าทางอาหารจากแหล่งต่างๆ ไว้มากมายเป็นเวลานาน ส่วนมะระขี้นกปลูก หรือ มะระขี้นกเลี้ยง ที่เห็นกันได้ทั่วไปตามท้องตลาด จะเป็นการปลูกเพื่อขายโดยเฉพาะ จึงมีขนาดผลที่ใหญ่และสม่ำเสมอกว่า ลักษณะของมะระขี้นกจะเป็นไม้เลื้อยที่มีผลคล้ายกระสวย คือมีหัวแหลม ท้ายแหลม และป่องตรงกลาง มีพื้นผิวขรุขระ เพื่อป้องกันกันน้ำมาสัมผัสมากเกินไปจนทำให้ผลเน่า โดยผลดิบจะมีสีเขียว แต่หากสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีเหลืองอมส้ม ส่วนเมล็ดข้างในจะเปลี่ยนเป็นสีแดง

การขยายพันธุ์ของมะระขี้นกก็สมกับชื่อเรียก เนื่องจากจะมีนกหลากชนิดจะลงมาเจาะกินเมล็ดของมะระขี้นกตามวิถีธรรมชาติ ก่อนที่จะบินจากไปและขับถ่ายออกมาในสถานที่ต่าง ๆ เมล็ดที่ถูกขับถ่ายออกมาจากนกนานาชนิดเหล่านั้นจึงเติบโตผลิดอกออกผลกลายเป็นมะระขี้นกที่เพิ่มขึ้น

คุณสมบัติของมะระขี้นกก็มีอยู่เพียบ ทั้งลดน้ำตาลในกระแสเลือด ช่วยกระตุ้นการทำงานของตับ ช่วยให้ระบบทางเดินอาหารดี มีฤทธิ์เป็นยาระบาย ลดไข้ ขับพยาธิ และต้านมะเร็ง ซึ่งมะระขี้นกนั้นมีสารที่ให้สรรพคุณเหล่านี้อยู่ภายใน จึงทำให้มีความขมเป็นอันดับที่ 3 รองจาก ฟ้าทะลายโจร และบอระเพ็ด แต่ก็สามารถเจือจางความขมลงได้เพียงแค่นำไปใส่ในน้ำเดือด ทั้งนี้อย่าลืมว่าหากยิ่งเจือจางความขมออกไปมากเท่าไหร่ คุณค่าทางอาหารต่าง ๆ ก็จะถูกเจือจางลงไปมากเท่านั้น

ข้อห้ามสำคัญก็คือ ไม่ควรนำผลสุกของมะระขี้นกมารับประทาน เนื่องจากในผลสุกและเมล็ดมะระขี้นกมีสารไซยาไนต์และสารซาโปนิน ที่ส่งผลต่อระบบประสาท ทำให้ระบบประสาทผิดปกติ จนอาเจียน และท้องร่วง ซึ่งอาจทำให้ช็อคหมดสติได้ ซึ่งสารดังกล่าวนี้ก็มีอยู่ในมะระขี้นกผลดิบเช่นกัน เพียงแต่ยังมีปริมาณน้อยกว่า จึงทำให้ยังสามารถรับประทานได้นั่นเอง

จุดเด่นสำคัญของมะระขี้นก จัดว่าเป็นสมุนไพรลำดับแรกที่ควรส่งเสริมสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เนื่องจากสรรพคุณที่ไปกระตุ้นการทำงานของตับนั้น จะช่วยส่งผลให้มีการหลั่งสารอินซูลินมากขึ้น ซึ่งมีผลกับการควบคุมระดับน้ำตาลในกระแสเลือดของผู้ป่วยเบาหวานโดยตรง

ทั้งนี้อาจไม่เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวานที่มีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ เพราะจะทำให้ระดับน้ำตาลต่ำมากเกินไป แถมล่าสุดยังมีการพัฒนาใบมะระขี้นกให้เป็นชาเพื่อชงรับประทานแบบง่าย ๆ อีกด้วย โดยมีสรรพคุณเดียวกันกับผลมะระขี้นก

แหล่งที่มา    เว็บไซต์กระปุกดอทคอม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...