ปัญหาเกี่ยวกับเส้นผมและหนังศีรษะแบบไหน ที่ทำให้คุณผู้หญิงรู้สึกขาดความมั่นใจมากที่สุด ตัดผมเด๋อด๋าไม่เป็นทรง ผมมัน ผมมีรังแค ผมหงอกขาว ..บรรดาปัญหาที่กล่าวมาเหล่านี้ล้วนมีวิธีแก้ได้ไม่ยุ่งยากนัก แต่ถ้าคุณผู้หญิงต้องประสบกับปัญหา "ผมร่วงหรือผมบาง" แล้วล่ะก็ นับเป็นปัญหาเส้นผมและหนังศีรษะที่ค่อนข้างหนักหนา และหาทางแก้ไขได้ไม่ง่ายเลย
ส่วนใหญ่แล้ว ปัญหาผมร่วง ผมบาง หรือหัวล้านนั้น มักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง
- โดยร้อยละ 80 ของผู้ชายจะประสบกับปัญหาผมร่วงศีรษะล้านเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น
- ส่วนทางด้านผู้หญิงก็มีถึงร้อยละ 40 ที่ต้องประสบกับปัญหาเช่นเดียวกัน โดยเริ่มพบปัญหานี้ในวัยหมดประจำเดือน และมักจะเป็นปัญหาเรื่องผมบางทั่วทั้งศีรษะ มากกว่าที่จะเป็นปัญหาศีรษะล้านเช่นเดียวกับผู้ชาย
การเกิดและการเติบโตของเส้นผมนั้น ล้วนขึ้นอยู่กับเรื่องของยีน หรือพันธุกรรมเป็นส่วนใหญ่ โดยไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องของฮอร์โมนหรือสภาพอากาศอย่างที่หลายๆ คนเข้าใจ ซึ่งวงจรชีวิตของเส้นผมแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้
- อะนาเจน (Anagen) หรือ ระยะงอก : เซลล์รากผมมีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ผมงอกขึ้นมา และจะอยู่ในระยะนี้ราว 2-3 ปี แล้วรอการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ระยะต่อไป ซึ่งผมบนศีรษะจะอยู่ในระยะนี้ประมาณ 80%-85% และมีอายุต่างๆ กันไป ทำให้ผมทยอยๆ กันร่วง ไม่ร่วงทีละเยอะๆ พร้อมกัน
- คาตาเจน (Catagen) หรือ ระยะพัก : เป็นระยะถัดมาจากระยะอะนาเจน ผมที่มีอายุมากรากผมจะเริ่มฝ่อลง และค่อย ๆ ลอยขึ้นสู่ผิว
- เทโลเจน (Telogen) หรือ ระยะหลุดร่วง : รากผมฝ่อเต็มที่ และขึ้นสู่ผิว เพียงแรงดึงหรือหวีเบาๆ ก็หลุดร่วงได้
สาเหตุของอาการผมหลุดร่วงผิดปกตินั้น เกิดมาจาก..
- ระดับฮอร์โมนเพศชาย หรือ แอนโดรเจน ลดลง (สามารถพบแอนโดรเจนได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย แต่ผู้ชายจะประสบปัญหาผมร่วงล้านด้วยสาเหตุนี้มากกว่า) และพบว่ามีการเพิ่มขึ้นของสารไดไฮโดรเทสโทสเตอโรน หรือ DHT (dihydrotestosterone, DHT) เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเมื่อเข้าไปจับกับรากผมแล้ว จะยับยั้งกระบวนการสร้างเส้นผมตามปกติ ทำให้ผมที่มีอยู่ค่อยๆ เล็กลงเรื่อยๆ จนในที่สุดก็ประสบภาวะผมบาง หรือศีรษะล้านได้
- ปัญหานี้สามารถแก้ได้ด้วยการใช้ยา แต่ยาที่ช่วยสร้างเอนไซม์เพื่อต่อต้านกับสาร DHT ก็ทำให้เกิดผลข้างเคียงตามมา คือภาวะขาดอารมณ์ร่วมทางเพศ อวัยวะเพศไม่แข็ง และหน้าอกมีขนาดใหญ่ขึ้่น แต่อาการดังกล่าวก็จะหายไปได้เองเมื่อหยุดใช้ยา
- อาการอักเสบที่หนังศีรษะอันเนื่องมาจากการแห้งลอกเป็นรังแค รวมทั้งการถูกแดดโดยตรงก็ยิ่งกระตุ้นให้ผมบางและร่วงได้ไวขึ้นด้วย แต่หากมีอาการมากผิดปกติ ก็มักเกี่ยวเนื่องกับการทำงานที่บกพร่องของต่อมไทรอยด์
- ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ โดยผลิตฮอร์โมนน้อยลง กระบวนการพัฒนาต่างๆ ของร่างกายจึงชะลอลง รวมทั้งเส้นผมและเส้นขนก็จะเกิดงอกกลับขึ้นมาใหม่น้อยและช้าลงด้วย สังเกตได้จากผมร่วงแล้วงอกกลับมาช้า หรือการโกนขนไม่ว่าจะที่รักแร้หรือหน้าแข้งในแต่ละครั้งทิ้งระยะเวลาห่างกันนานกว่าปกติมาก
อย่างไรก็ดีปัญหานี้สามารถป้องกันได้แต่เนิ่นๆ โดยการตรวจกระตุ้นการทำงานของต่อมไทรอยด์ โดยควรเริ่มตรวจครั้งแรกเมื่ออายุ 20 ปี จากนั้นที่อายุ 35 ปี และหลังอายุ 50 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจกระตุ้นปีเว้นปี ซึ่งในกรณีนี้หากแพทย์พบว่า คุณมีปัญหาต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ จะได้รักษาอาการได้อย่างทันท่วงที โดยการใช้ฮอร์โมนเทียม หรือสารที่ทำงานใกล้เคียงกันกับฮอร์โมนชนิดที่บกพร่องไปเข้าไปกระตุ้น แล้วกลับไปพบแพทย์อีกครั้งใน 6 สัปดาห์ให้หลัง เพื่อดูว่าปริมาณฮอร์โมนที่ให้ไปนั้นเพียงพอแล้วหรือไม่ หรืออีกวิธีที่ยังไม่ถือว่าประสบความสำเร็จเต็มร้อย และกำลังอยู่ในกระบวนการค้นคว้าพัฒนา ก็คือทำการกระตุ้นยีนที่รากผมโดยตรงนั่นเอง
การรักษาปัญหาผมร่วง ผมบาง อย่างได้ผล ก็ควรต้องแก้ไขกันให้ตรงจุดที่สาเหตุ ส่วนสาวๆ คนไหนที่ตอนนี้ยังผมที่สุขภาพดีและแข็งแรงอยู่ ก็อย่าลืมบำรุงดูแลทั้งจากภายนอกและภายในอย่างสม่ำเสมอ
แหล่งที่มา เว็บไซต์กระปุกดอทคอม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น