วันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ความสุขที่แท้

หลังจากที่ประธานาธิบดีมาร์คอส ครองอำนาจมาได้ ๕ ปี เขาได้เขียนถึงความรู้สึกของตนลงในบันทึกประจำวัน ความตอนหนึ่งมีว่า “ผมเป็นคนที่มีอำนาจมากที่สุดในฟิลิปปินส์ ผมมีทุกอย่างที่เคยใฝ่ฝัน พูดให้ถูกต้องก็คือ ผมมีทรัพย์สมบัติทุกอย่างเท่าที่ชีวิตต้องการ มีภรรยาซึ่งเป็นที่รักและมีส่วนร่วมในทุกอย่างที่ผมทำ มีลูกๆ ที่ฉลาดหลักแหลมซึ่งสืบทอดวงศ์ตระกูล มีชีวิตที่สุขสบาย ผมมีทุกอย่าง แต่กระนั้นผมก็ยังรู้สึกไม่พึงพอใจในชีวิต“

ความสุขเป็นสิ่งที่ทุกคนใฝ่หา แต่คนส่วนใหญ่มักคิดว่า ความสุขนั้นเกิดจากวัตถุและอำนาจ ยิ่งมีสมบัติไว้ในครอบครองมากเท่าไร ก็เชื่อว่าจะยิ่งมีความสุขมากเท่านั้น แต่ครั้นมีสมบัติมากองอยู่ตรงหน้า ชั่วเวลาไม่นานก็กลับทุกข์ใหม่ เพราะมีความอยากจะได้ให้มากกว่าเดิมอีก คนที่คิดว่าอำนาจจะบันดาลความสุขให้ได้ ก็ไม่เคยสุขจริงเสียที เป็นข้าราชการธรรมดาก็อยากเป็นหัวหน้ากอง แต่ครั้นได้เป็นเข้าก็หารู้สึกสมอยากไม่ เพราะนึกฝันถึงตำแหน่งอธิบดี ส่วนคนที่เป็นอธิบดีก็รู้สึกด้อยกว่าปลัดกระทรวง เช่นเดียวกับที่ปลัดกระทรวงก็อยากเป็นรัฐมนตรี พอได้เป็นรัฐมนตรีก็เกี่ยงงอนอยากได้กระทรวงเกรดเอและหวังเลยไปถึงเป็นใหญ่ในทำเนียบ แต่ถ้าใครคิดว่าตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทำให้ชีวิตเป็นสุขได้ ก็ขอให้ดูตัวอย่างจากมาร์คอสก็ได้ว่า ทั้งๆ ที่ตำแหน่งประธานาธิบดีนั้นยิ่งใหญ่กว่านายกรัฐมนตรีเป็นไหนๆ แต่ชีวิตก็หามีความสุขไม่


มีน้อยคนในโลกนี้ที่ประสบ “ความสำเร็จ” อย่างอดีตประธานาธิบดีมาร์คอส เขาไม่เพียงแต่จะมีอำนาจล้นฟ้าเท่านั้น หากยังมีทรัพย์สมบัติมหาศาล มีคู่ครองและครอบครัวที่ฝากชีวิตไว้ได้  กระนั้นก็ยังรู้สึกว่าชีวิตนั้นยังพร่องอยู่ ต้องดิ้นรนไขว่คว้าไม่รู้จักหยุดจนชีวิตต้องจบสิ้นอย่างน่าอเนจอนาถ

ลงคนเราได้เป็นประธานาธิบดีสักครั้ง ก็อยากเป็นต่อไปเรื่อยๆ ข้อนี้พอจะเข้าใจได้ไม่ยาก เพราะการขึ้นกับการลงจากอำนาจนั้นต่างกันอย่างเห็นได้ชัด  แต่คนที่มีทรัพย์สมบัตินับหมื่นๆ ล้าน เหตุใดจึงยังดิ้นรนตักตวงไม่รู้จักหยุด ในเมื่อสมบัติที่มีนั้น แม้ใช้จนชั่วชีวิตก็ไม่หมด

การที่เศรษฐีหมื่นล้าน ยังตั้งหน้าตั้งตาหาเงินอย่างไม่ยั้ง ย่อมแสดงว่าความสุขนั้น ไม่ได้เกิดจากการมีหรือการครอบครองทรัพย์สมบัติ ไม่ว่าจะมากมายเพียงใดก็ตาม เพราะขึ้นชื่อว่าความสุขแล้ว ย่อมยังความพอใจและความเต็มอิ่มให้แก่ชีวิต จนไม่คิดดิ้นรนทะยานอยากอีก โดยส่วนลึกในจิตใจแล้ว คนทั้งหลายก็รู้ว่าความสุขมิได้เกิดจากการมี เป็นเพราะมีเท่าไรก็ยังไม่เป็นความสุข จึงเชื่อว่าความสุขนั้นเกิดจากการได้

เศรษฐีอย่างมาร์คอสพยายามทำทุกวิถีทาง เพื่อให้ตัวเลขในบัญชีธนาคารเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ มิใช่เพราะว่าเขาต้องการที่จะให้เงินจำนวนมหาศาล หรือเพราะต้องการหลักประกัน ว่าจะมีกินมีใช้อย่างฟุ่มเฟือยไปตลอดชาติ แต่เป็นเขาปรารถนาความสุขจากตัวเงินที่เพิ่มขึ้นต่างหาก บ่อยครั้งเงินนำความยินดีมาให้แก่ชีวิต มิใช่เพราะเรานำมาใช้ปรนเปรออายตนะทั้งห้า หากแต่เป็นเพราะว่าเพียงแค่มันเพิ่มจำนวนมากขึ้นเราก็มีความสุขแล้ว ถ้าหากว่าการใช้เงินนำความสุขมาให้แก่ชีวิตอย่างแท้จริง แล้วเศรษฐีทั้งหลายก็คงใช้เวลาส่วนใหญ่กับการใช้จ่ายเงินทอง แทนที่จะคอยหาเงินตัวเป็นเกลียวจนแทบไม่มีเวลาใช้เงินเอาเลย

จะว่าไป นี่อาจเป็นสัญชาตญาณที่ฝังลึกในสรรพสัตว์ก็ได้ เวลาเราโยนเนื้อให้หมา มันจะรีบงับทันที แต่ถ้าโยนเนื้อชิ้นที่สองให้มันติดๆ กัน หมาจะคายเนื้อชิ้นแรกและรีบงับเนื้อชิ้นที่สองทันที ทั้งๆ ที่เนื้อทั้งสองชิ้นก็เหมือนกัน ความสุขของหมามิได้อยู่ที่การได้กินเนื้อ แต่อยู่ที่การได้ชิ้นเนื้อเพิ่มขึ้นต่างหาก จะเป็นการพูดแรงไปหรือไม่ หากจะบอกว่าคนเราก็เช่นกัน ไม่จำเพาะเศรษฐีเท่านั้น แม้ปุถุชนทั่วไป ก็ปรารถนาความสุขจากการได้มากกว่าความสุขจากการมีหรือการใช้ แม้บางคนจะไม่ปรารถนาเงินทอง บำเพ็ญตนเป็นหนอนหนังสือ แต่ก็คอยเสาะแสวงหาหนังสือเล่มใหม่ๆ อยู่เสมอ ทั้งๆ ที่หนังสือในบ้านก็มีอยู่มากมาย จนชาตินี้อ่านเท่าไรก็ไม่มีวันหมด ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพราะความสุขของเขาอยู่ที่การได้หนังสือเล่มใหม่ ยิ่งกว่าการมีหนังสือเต็มห้องใช่หรือไม่

เป็นเพราะเชื่อว่าความสุขอยู่ที่การได้ยิ่งกว่าการมีหรือการใช้เราจึงไม่รู้จักพอ ไม่ว่าจะมีอยู่แล้วมากมายเพียงใด ก็ยังอยากจะได้เพิ่มอีก เรามีความสุขทุกครั้งที่ได้รองเท้าคู่ใหม่ อัลบั้มเพลงใหม่ แต่พอมันมาอยู่กับเราได้ไม่นาน ก็หมดเสน่ห์ ความตื่นเต้นกลับไปอยู่ที่รองเท้าคู่ใหม่ อัลบั้มเพลงใหม่ที่วางโชว์อยู่ในร้าน เราจะมีโอกาสสวมรองเท้าคู่นั้นได้นานเท่าไหร่ ได้ฟังเพลงอัลบั้มนั้นได้กี่ครั้ง นั่นไม่ใช่เรื่องสำคัญ จุดสำคัญอยู่ที่เราจะได้มันมาหรือไม่ต่างหาก เพียงแค่ได้มันมาก็มีความสุขแล้ว แม้อาจจะไม่ได้ใช้เลยก็ตาม ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่ห้างสรรพสินค้าทั้งหลาย กลายเป็นที่พึ่งทางใจของคนสมัยนี้ไปแล้วอย่างเต็มภาคภูมิ จะเรียกว่าเป็นวัดหรือวิหารสมัยใหม่ก็คงไม่ผิด

ห้างสรรพสินค้าและผู้ผลิตทั้งหลายรู้จิตวิทยาข้อนี้เป็นอย่างดี จึงพยายามเสนอสินค้าใหม่ๆ มาล่อตาไม่ได้หยุด แม้จะไม่ใช่สิ่งที่จำเป็น หรือมีโอกาสใช้ไม่บ่อยนักก็ตาม ผลิตภัณฑ์เป็นอันมากผลัดกันออกมาเป็นรุ่นๆ แต่ละรุ่นวางตลาดชั่วเวลาไม่นาน ก็ถูกรุ่นใหม่ออกมาบดบัง จนกลายเป็น “ของเก่า” หาราศีไม่ได้ กระทั่งผู้บริโภครู้สึกกระสับกระส่ายหากไม่ได้ของใหม่มาไว้ในครอบครอง ยิ่งมีระบบโฆษณาที่เรียกว่าครีเอทีฟมาคอยกระตุ้น ความอยากอีกแรงด้วยแล้ว ความสุขของคนในยุคบริโภคนิยมนี้จึงมีอายุขัยสั้นมาก เพราะว่าหลงดีใจกับของใหม่ได้ไม่นาน ก็ต้องฝ่อเสียแล้ว เนื่องจากของชิ้นนั้นกลายเป็นสินค้าตกรุ่นไป ไม่ว่าจะเป็นนักเลงคอมพิวเตอร์หรือสาวแฟชั่น ย่อมรู้ดีในเรื่องนี้

ความสุขจากการได้ในสมัยนี้แม้จะได้มาง่ายๆ (ถ้ามีเงิน) แต่ก็สลายไปได้อย่างง่ายๆ เช่นกัน ดังนั้น ใครที่ปรารถนาความสุขชนิดนี้ จึงต้องวิ่งไขว่คว้าอยู่เรื่อยไป หาจุดสิ้นสุดไม่ได้ ไม่ต่างจากคนวิ่งหนีเงากลางแดดในฤดูร้อน ความสุขชนิดนี้เจือด้วยความทุกข์มาก ไม่ว่าจะเป็นทุกข์ในความหมายที่เป็นความแปรปรวน เปลี่ยนแปลง ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ (แม้ก้อนหินหรือเสาเรือนก็มีความทุกข์ชนิดนี้) หรือความทุกข์ที่ทำความยุ่งยากเดือดร้อนให้แก่ชีวิตจิตใจ (ซึ่งมนุษย์ทุกคนต้องประสบ) ในด้านหนึ่งความสุขชนิดนี้เกิดขึ้นเพียงชั่วประเดี๋ยวประด๋าว แล้วก็แปรปรวนไป ในอีกด้านหนึ่งความสุขชนิดนี้ ได้มาด้วยการดิ้นรนแข่งขันให้ได้เงินและโอกาส เพื่อเป็นปัจจัยไปสู่สมบัติชิ้นใหม่ๆ ครั้นได้มาก็ไม่สมยาก เกิดความทุกข์เพราะต้องการสิ่งใหม่และมากกว่านั้นอีก ยังไม่นับความทุกข์เนื่องจากต้องกังวลห่วงใยและคอยรักษาสิ่งนั้น

วิธีเดียวที่จะหนีเงาในยามเที่ยงได้ ก็คือ นั่งพักใต้ต้นไม้ใหญ่ เราจะหยุดไขว่คว้าดิ้นรนได้ ก็ต่อเมื่อรู้จักพอ ความรู้จักพอเป็นที่พักพิงแก่ชีวิตจิตใจได้ ก็เพราะสามารถนำเราเข้าถึงความสุขอีกชนิดหนึ่งซึ่งหาได้ยาก  นั่นคือ ความเย็นสบายเพราะไม่ถูกเผาลนด้วยความอยากได้ไม่สิ้นสุด เป็นความโปร่งเบา เพราะคลายกังวลในทรัพย์สิน เมื่อมีความสุขชนิดนี้หล่อเลี้ยงจิตใจ ความตื่นเต้นยินดีในสิ่งใหม่ๆ ก็มีอิทธิพลต่อเราน้อยลง ลึกๆ แล้วที่เราปรารถนาสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ ก็เพราะต้องการความตื่นเต้น ประเพณีให้ของขวัญมีความหมายแก่ชีวิตก็ตรงนี้ แต่ของขวัญก็สู้ของซื้อไม่ได้ ตรงที่การได้ซื้อของใหม่ยังทำให้เรารู้สึกมีอำนาจอีกด้วย การช็อปปิ้งตามศูนย์การค้ากลายเป็นสิ่งเสพติดชนิดหนึ่งไปแล้ว ก็เพราะนั่นเป็นที่ที่เราได้พบทั้งความตื่นเต้น ที่ได้พานพบสิ่งใหม่และความรู้สึกมีอำนาจที่ได้ครอบครองเป็นนายเหนือสิ่งต่างๆ ความรู้สึกดังกล่าวมีความหมายอย่างยิ่งสำหรับเรา ก็เพราะเราไม่เคยประสบสัมผัสกับความสุขที่ละเมียดละไมกว่านั้น แต่เมื่อใดที่เราเริ่มรู้จักหยุด รู้จักพอ เราจะพบว่าความเย็นสบายโปร่งเบานั้น ให้ความสุขที่ยิ่งกว่าความตื่นเต้นและการมีอำนาจ

น้ำหวานแม้เอร็ดอร่อยกว่าน้ำจืด แต่ถ้าดื่มไม่หยุดหย่อนโรคทั้งปวงก็ถามหา ถึงน้ำจืดจะไม่มีสีสันเตะตา แต่ก็เป็นสิ่งจำเป็นต่อชีวิตที่ผาสุก ชีวิตต้องการน้ำจืดมากกว่าน้ำหวานฉันใด จิตใจก็ปรารถนาความโปร่งเบาเย็นสบาย ยิ่งกว่าความตื่นเต้นชั่วครู่ชั่วยาม ซึ่งมักมาพร้อมความเหนื่อยยากและร้อนรนกังวลใจฉันนั้น ความรู้จักพอเป็นบาทฐานให้จิตใจได้เข้าถึงความเบาสบายยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เพราะเมื่อจิตหยุดแส่ส่ายไล่ตามวัตถุภายนอก ก็มีโอกาสนิ่งสงบและสัมผัสกับความใสกระจ่างซึ่งมีอยู่แล้วแต่ภายใน เฉกเช่นน้ำที่หยุดกวน ก็จะตกตะกอนแล้วกลับใสขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

ชีวิตที่มาถึงจุดนี้ ย่อมเรียกได้ว่าเราเข้าถึงความสุขจากการหยุด เป็นชีวิตที่ไม่อิงแอบแนบแน่นอยู่กับความตื่นเต้นหรือสิ่งเร้าจิตกระตุ้นใจอีกต่อไป ความสุขจากการมี หรือจากการได้ จะมีอิทธิพลต่อชีวิตน้อยลง เพราะมีความสุขที่ละเอียดประณีตกว่าเข้ามาแทนที่ วัตถุที่มีหรือได้ใหม่จะมิใช้สิ่งปรนเปรอตนเองหากเป็นไปเพื่อยังประโยชน์สุขแก่ตนเองและผู้อื่นตามคุณค่าอันแท้จริงของมัน เสื้อผ้าจะมิใช่สิ่งแสดงอัครฐาน รถยนต์จะมิใช่สิ่งบ่งบอกความมั่งมี หากแต่เพื่อให้ชีวิตและการงานดำเนินไปได้ด้วยดี

ถ้าวิวัฒน์พัฒนาจากการมี การได้ มาสู่การหยุดได้ ความสุขขั้นต่อไป ก็เป็นสิ่งพึงหวังได้นั่นคือ การสุขจากการให้ การให้เป็นความสุขก็เพราะได้กระทำสิ่งที่ตนเห็นว่ามีคุณค่า และผลตอบแทนที่ประจักษ์ได้ ก็คือ ความสุขของผู้รับ ซึ่งยังจิตของผู้ให้ให้บังเกิดความแช่มชื่นเบิกบาน ผู้แสวงหาธรรมจากสวนโมกข์มักได้รับคำขอบคุณพร้อมกับรอยยิ้มจากท่านพุทธทาสภิกขุเสมอ เพราะท่านถือว่า เขาเหล่านั้นมาทำให้สวนโมกข์เกิดประโยชน์กว้างขวาง เมื่อรู้จักพอเสียได้ การถือสิทธิติดยึดในทรัพย์สินก็ลดลง สิ่งที่มีอยู่ในครอบครองก็กลายสภาพเป็นของส่วนรวมไปโดยปริยาย  เปิดกว้างให้ผู้อื่นได้ใช้สอย หรือก่อประโยชน์ทุกเวลา

ความสุขชนิดนี้ไม่ต้องแย่งชิง ไม่มีผู้ชนะหรือผู้แพ้ เพราะทุกคนไม่ว่าผู้ให้หรือผู้รับก็ล้วนเป็นผู้ได้ ไม่มีใครเป็นผู้เสีย คนที่เข้าถึงความสุขชนิดนี้จึงเป็นผู้ร่ำรวยเต็มอิ่ม ไม่พร่อง แม้ยากไร้ในทรัพย์สิน แต่ก็มีเวลาและแรงงาน ที่พร้อมจะอุทิศให้ตลอดเวลา เป็นชีวิตที่มีความพึงพอใจในทุกเมื่อ

ความร่ำรวยเต็มอิ่มและความพึงพอใจในชีวิตดังกล่าว คือ สิ่งที่ผู้ยิ่งใหญ่อย่างอดีตประธานาธิบดีมาร์คอสแสวงหา แม้จะทุ่มเททั้งชีวิต แต่จนแล้วจนรอดก็ยังหาไม่พบ มิหนำซ้ำกลับก่อทุกขเวทนาแก่ผู้คนนับไม่ถ้วน ที่บาดเจ็บล้มตายก็มีเป็นอันมาก อีกทั้งเศรษฐกิจของประเทศยังเสียหายนับแสนล้าน แต่คนเช่นนี้ก็ใช่ว่าจะไร้ประโยชน์เสียทีเดียวนัก อย่างน้อยชีวิตของเขาก็เป็นบทเรียนสอนใจเราว่าอำนาจและทรัพย์สมบัติมิใช่ความสุขที่แท้

ตีพิมพ์ในหนังสือ"อยู่ย้อนยุค" พระไพศาล วิสาโล

แหล่งที่มา   เว็บไซต์รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล วิสาโล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...