วันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2555

Google Logo : 23 มิ.ย. 55 ครบรอบวันเกิด 100 ปีของ Alan Turing


เนื่องด้วยปี 2012 นี้เป็นปีแห่งการครบรอบวันเกิดร้อยปีของ Alan Turing นักคณิตศาสตร์ชาวอังกฤษผู้ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งคอมพิวเตอร์ (วันที่ 23 มิถุนายน 2555 ที่จะถึงนี้เป็นวันครบรอบวันเกิดปีที่ 100 ของ ​Alan Turing พอดี) ดังนั้นเลยมีกิจกรรมเพื่อระลึกถึง Alan Turing ออกมามากมาย

คนส่วนใหญ่รู้จัก Alan Turing ด้วยผลงานที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ เช่น Turing Machine หรือการถอดรหัส ENIGMA แต่ช่วงเวลาไม่กี่ปีก่อนที่ Alan Turing จะฆ่าตัวตายนั้น เขาสนใจความมหัศจรรย์ทางคณิตศาสตร์ที่ซ่อนอยู่ในธรรมชาติด้วย หนึ่งในนั้นคือ ลำดับฟีโบนัชชี (Fibonacci sequence) ที่ปรากฏในการเรียงตัวของใบพืชและดอกทานตะวัน

ลำดับฟีโบนัชชี คือ ลำดับที่เกิดจากการเอาเลขสองตัวหน้าบวกกันไปเรื่อยๆ โดยเริ่มจากเลข 0 และ 1 (0, 1, 1, 2, 3, 5, 8, 13, 21, 34,...) หากใครช่างสังเกต ก็จะพบว่าจำนวนดอกย่อยในแต่ละวงของดอกทานตะวันนั้นมักปรากฏเป็นลำดับฟีโบนัชชี ("ดอก" ทานตะวันที่เราเห็นบานชูท้าแสงอาทิตย์นั้น ความจริงเป็น "ช่อดอก" ที่มีดอกย่อยเรียงกันเป็นวง)

Alan Turing สนใจปัญหาลำดับฟีโบนัชชีของดอกทานตะวันมากจนถึงกับเขียนโปรแกรมสำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์ Mk1 เพื่อที่จะหาคำตอบว่าทำไมดอกย่อยดอกทานตะวันถึงเรียงตัวกันเช่นนั้น แต่น่าเสียดายที่เขามาด่วนจากโลกไปก่อนที่จะแก้ปัญหาได้สำเร็จ

Museum of Science & Industry (MOSI) ในเมืองแมนเชสเตอร์ สหราชอาณาจักร ร่วมกับ Manchester Science Festival และ University of Manchester จึงจัดกิจกรรม "Turing's Sunflower's project" ขึ้นมาให้สาธารณชนได้มีส่วนร่วมเฉลิมฉลองครบรอบวันเกิดร้อย สานความฝันของ Turing ให้เป็นจริง โดยเปิดโอกาสให้ผู้สนใจปลูกดอกทานตะวันกันคนละต้นสองต้นให้ครบ 3,000 ต้น เมื่อดอกทานตะวันบาน ก็ให้นับดอกย่อยในแต่ละวงแล้วถ่ายรูปส่งเข้ามายัง University of  Manchester หรือจะเอาไปนับในจุดที่ MOSI เตรียมไว้ให้ก็ได้ นักวิทยาศาสตร์ของ University of Manchester จะเป็นคนรวบรวมข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์ว่าความถี่ของลำดับฟีโบนัชชีที่ปรากฏในดอกทานตะวันเป็นอย่างไร และลักษณะดอกเช่นไรที่เอื้อให้เกิดหรือไม่ให้เกิดลำดับฟีโบนัชชี

นักวิทยาศาสตร์คาดว่าจะสามารถเริ่มเก็บข้อมูลได้ในเดือนสิงหาคม 2555  และสามารถเผยแพร่ผลเบื้องต้นได้ในงาน Manchester Science Festival ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 27 ตุลาคม - 4 พฤศจิกายน 2012 จากนั้นก็จะส่งผลงานเข้าตีพิมพ์ในวารสารวิชาการต่อไป ชื่อผู้ที่ช่วยปลูกดอกทานตะวันทุกคนจะได้ปรากฏอยู่ในบทความที่ลงตีพิมพ์ด้วย

แหล่งที่มา    เว็บไซต์ JuSci by terminus on Wed, 20/06/2012 - 15:06

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...