“มิงกลาบา” หรือ “สวัสดี”
“เจซูติน บาแด” หรือ “ขอบคุณมาก”
“ควินโละ บ่าหน่อ” หรือ “ขอโทษ”
เป็นหนึ่งในภาษาพม่าที่ชุมชนเยาวราชกำลังเรียนรู้เพื่อปรับตัวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนซึ่งจะมาถึงในปี 2558
โครงการพัฒนาต้นแบบสาธิตชุมชนวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร ในการเตรียมพร้อมสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับมูลนิธิร่มฉัตร จึง “เปิดห้องเรียนภาษาพม่า พัฒนาภาษาที่ 4 สู่การบุกตลาดอาเซียน” โดยจัดอบรมให้กับผู้ประกอบการและเยาวชนในชุมชนเยาวราชขึ้นที่โรงเรียนมหาวีรานุวัตร เพื่อหวังให้เป็นชุมชนต้นแบบแห่งการเรียนรู้
พระธรรมภาวนาวิกรม ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม วรวิหาร และประธานมูลนิธิร่มฉัตร ว่า ชุมชนวัดไตรมิตรวิทยารามเปรียบเสมือน “ประเทศไทยย่อส่วน” ซึ่งจำลองภาพชุมชนหลังการเปิดการค้าเสรีอาเซียนในปี 2558 โดยต้องร่วมกันทั้ง “บวร” ประกอบด้วย บ้านหรือชุมชน วัดหรือศาสนาทุกศาสนา และรัฐ ซึ่งรวมถึงโรงเรียนและหน่วยงานของรัฐ ซึ่งจุดแข็งของชุมชนเยาวราชคือ ทองคำ 3 อย่าง
- หลวงพ่อทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลก
- ร้านค้าทองคำแหล่งใหญ่ที่สุดในประเทศ และ
- วัฒนธรรมทองคำจากคนไทยเชื้อสายจีน
“หากชุมชนอื่นใดตื่นตัวที่จะเตรียมความพร้อม ก็ควรเริ่มจากการวิเคราะห์ทุนเดิมที่มีอยู่ และต่อยอดจุดเด่นสร้างความแตกต่างเพื่อเพิ่มมูลค่า” ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยา
รามฯ ชี้แนะ
การทักทายง่าย ๆ การเรียนรู้วัฒนธรรมเบื้องต้น ถือเป็นก้าวสำคัญ ที่แสดงให้เห็นถึงการตื่นตัว และเตรียมความพร้อมก่อนที่ในปี 2558 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ “ประชาคมอาเซียน” เต็มตัว
“รู้เขา รู้เรา” เป็นหนึ่งในแนวคิดหลัก ที่ ดร.อุบล เล่นวารี หัวหน้าโครงการติดตามสนับสนุนและประเมินผลโครงการส่งเสริมนวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้ สสค. ระบุว่า หากประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างมีศักยภาพ การรู้ภาษาท้องถิ่นถือเป็นเครื่องมือและหัวใจสำคัญที่สุด เพราะเป็นบ่อเกิดแห่งการเรียนรู้ขั้นต่อไป ภาษาพม่า เป็นภาษาแรกที่ สสค. เลือกมาเปิดห้องการเรียนรู้ ด้วยเพราะปัจจัยหลายประการ โดยจากผลการสำรวจพบว่าชาวพม่าเป็นแรงงานต่างชาติที่ทำงานอยู่ในประเทศไทยมากที่สุด ทั้งยังเป็นประเทศที่มีทรัพยากรสมบูรณ์ และที่สำคัญเป็นประเทศกำลังเปิดและอยู่ในกระแสสนใจของสังคม ดังนั้นการเรียนรู้ภาษาพม่าจึงน่าจะเกิดประโยชน์อย่างมาก โดยการเรียนการสอนในครั้งนี้จะเรียนจากอาจารย์พม่าโดยตรง ทำให้นอกจากจะช่วยเรื่องการสื่อสารแล้ว ยังทำให้ผู้เรียนได้เข้าใจถึงวัฒนธรรมของชาวพม่าได้อีกทางหนึ่งด้วย
ประกอบกับการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ จะส่งเสริมทำให้เกิดการซึมซับในชีวิตประจำวัน อาทิ การเปิดห้องสมุดอาเซียน ภายในวัดไตรมิตรวิทยาราม การปรับภูมิทัศน์ในชุมชนเยาวราชให้มีบรรยากาศเป็นอาเซียน เช่น ป้ายบอกทางภาษาพม่า ฯลฯ
“ทุกวันนี้เราต้องปรับตัว รู้เขา-รู้เรา ย่อมดีกว่าไม่รู้อะไรเลย ซึ่งหนทางที่จะเปิดช่องความรู้ ก็ต้องเริ่มด้วยการรู้ภาษา โดยเริ่มแรกอาจจะเพียงแค่การสื่อสารภาษาง่าย ๆ พอให้สื่อสารเข้าใจได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดทางธุรกิจ สร้างการบริการที่ดี สร้างความประทับใจ ส่วนเยาวชนก็จะได้เปิดโลกสู่ประชาคมอาเซียน เพิ่มพูนความรู้”
ดร.วาสนา เลิศศิลป์ ผู้จัดการโครงการพัฒนาต้นแบบสาธิตชุมชนวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร กล่าวว่า แม้จะเป็นหลักสูตรระยะสั้นเพียง 15 ชั่วโมง แต่เชื่อว่าการเริ่มต้นย่อมทำให้เกิดความตื่นตัวในการเรียนรู้และศึกษาเพิ่มเติมต่อไป โดยเฉพาะในชุมชนเยาวราชมีจุดเด่นเรื่องความตื่นตัวอยู่แล้ว แถมมีปัจจัยเอื้อประโยชน์ ทั้งเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง
ด้านผู้สอนอย่าง อาจารย์ ทัน ทัน เหมี่ยน อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หลักสูตรในการเรียนการสอนนั้นเป็นหลักสูตรระยะสั้น เปิดสอนทุกวันเสาร์ วันละ 3 ชั่วโมง รวม 30 ชั่วโมง รุ่นละ 30 คน และ แบ่งการสอนเป็น 2 ระดับ คือระดับผู้ประกอบการ และ ระดับเยาวชน โดยระดับผู้ประกอบการจะเน้นพัฒนาทักษะด้านการสื่อสาร ส่วนเยาวชนจะเน้นเรื่องการอ่าน การเขียน แต่ท้ายที่สุดก็มีเป้าประสงค์เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ โดยเฉพาะการสื่อสารทักษะง่าย ๆ สอนคำศัพท์ง่าย ๆ ที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน และที่สำคัญคือได้เรียนรู้วัฒนธรรม วิถีชีวิตของชาวพม่าที่ควรรู้ สิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ ซึ่งเมื่อจบหลักสูตรจะมีการประเมินผลและออกเกียรติบัตรให้กับผู้เรียนด้วย
สุดท้ายนอกจากความรู้ที่ได้ โครงการนี้ยังเสริมประโยชน์ทำให้ชาวพม่า และชาวไทยเข้าใจ และได้เรียนรู้กันมากขึ้น โดยมีภาษาเป็นสื่อกลางที่จะทำให้ประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศพม่าได้ใกล้ชิดกันมากขึ้นขณะที่ฝั่งผู้เรียน
นายเมธา เลิศปรีชาภักดี ผู้ประกอบการเยาวราช กล่าวว่า ที่ผ่านมาบ้านเราไม่เคยมีการเรียนการสอนภาษาพม่าอย่างจริงจัง ไม่ค่อยมีคนไทยที่เรียนภาษาพม่า แต่ในทางกลับกันชาวพม่าส่วนมากสื่อสารภาษาไทยได้ ทำให้เราเสียเปรียบ ดังนั้นการเรียนรู้ครั้งนี้จะทำให้ตนสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ แม้จะเป็นเพียงการสื่อสารง่าย ๆ ก็ตาม เช่นการสื่อสารกับแรงงานพม่าที่บ้าน แต่ประโยชน์ที่ได้รับกลับอาจมหาศาล เช่น ช่วยพัฒนาประสิทธิภาพการทำงาน และทำให้รู้จักใส่ใจกันมากขึ้นด้วย”
ท้ายที่สุด “การเปิดห้องเรียนภาษาพม่า” ที่ สสค. ริเริ่มครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่จะเปิดความเข้าใจ “รู้เขา รู้เรา” เพื่อการเตรียมพร้อมก้าวเข้าสู่อาเซียนอย่างมีศักยภาพ……
แหล่งที่มา เว็บไซต์เดลินิวส์ วันอาทิตย์ที่ 24 มิถุนายน 2555 เวลา 00:00 น.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น