วันจันทร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2559

ทำไมทำธุรกิจขาดทุนแล้วยังต้องเสียภาษี!?

สำหรับความเข้าใจผิดอีกหนึ่งเรื่อง
ที่เจ้าของธุรกิจหลายๆ คนมักจะเข้าใจผิด

นั่นคือ เรื่องของการที่วางแผนทำให้กิจการของตัวเองนั้น
“ขาดทุน” เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเสียภาษี

จนมีคำพูดติดปากที่ชอบบอกกับฝ่ายบัญชี
หรือสำนักงานบัญชีว่า  “ไปทำตัวเลขมาให้ธุรกิจ
ขาดทุนซะเลย จะะได้ไม่ต้องเสียภาษีไงละ
วะฮะฮะฮ่าาาา”

คือ เรื่องเข้าใจผิดที่เป็นปัญหาอย่างมาก
ในการจัดการภาษีธุรกิจ เพราะว่า
การเสียภาษีนั้นไม่ได้เกี่ยวกับ
“กำไรหรือขาดทุนทางบัญชี” ที่ธุรกิจได้ทำมา
แต่มันเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่า
“กำไรขาดทุนสุทธิทางภาษี” ต่างหากล่ะจ้า

เอาล่ะ ..  เรามาปรับทัศนคติกันใหม่
มาทบทวนกันอีกครั้งว่า กำไรของธุรกิจมาจากไหน?

“กำไรของธุรกิจ” มาจาก
รายได้ หักด้วย ค่าใช้จ่าย

ถ้ารายได้มากกว่าก็ถือว่าเป็น “กำไร”
แต่ถ้ารายจ่ายมากกว่าก็กลายเป็น “ขาดทุน”
หรือจะเขียนเป็นสมการง่ายๆออกมาได้ดังนี้

กำไร(ขาดทุน) = รายได้ – ค่าใช้จ่าย

นั่นคือหลักการทั่วไปที่เราเข้าใจกันดีอยู่แล้ว

โดยหลักการทางบัญชีนั้น
เราจะใช้ กำไร (ขาดทุน) สุทธิทางบัญชี คือ
กำไรขาดทุนที่มาจาก
รายได้ทางบัญชีหักด้วยค่าใช้จ่ายทางบัญชี
หรือที่เราเห็นตัวเลขที่แสดงไว้ในงบกำไรขาดทุนนี่เอง

แต่สำหรับการคำนวณภาษีแล้ว เราไม่ได้สนใจ
เพียงแค่กำไรขาดทุนทางบัญชีเพียงอย่างเดียว
เพราะเราสนใจ กำไร(ขาดทุน) ทางภาษี ต่างหาก!!
ซึ่งเรียงลำดับมาได้ดังนี้

ภาษีของธุรกิจ = กำไร x อัตราภาษีเงินได้

โดยกำไร = กำไรทางภาษี
ดังนั้น… ถ้าธุรกิจมีขาดทุนทางภาษี
ถึงจะแปลว่าไม่ต้องเสียภาษียังไงล่ะ

นั่นหมายความว่า!!
การที่ธุรกิจของเรามีขาดทุนทางบัญชี
มันไม่ได้หมายความว่าธุรกิจของเราจะไม่เสียภาษีนะ!!!
เพราะกำไรสุทธิทางภาษี ไม่ใช่ กำไรสุทธิทางบัญชี 
(ขีดเส้นใต้ตรงนี้ไว้สิบห้าเส้นด่วนๆ)

แล้วกำไร (ขาดทุน) สุทธิทางภาษีคืออะไรกันล่ะ

กำไร (ขาดทุน) สุทธิทางภาษี คือ
กำไรขาดทุนที่ใช้ในการคำนวณภาษี
ซึ่งมาจาก รายได้ทางภาษีหักด้วยค่าใช้จ่ายทางภาษี
ออกมาเป็นตัวเลขกำไรหรือขาดทุนนั่นเอง

กำไร(ขาดทุน)ทางภาษี = รายได้ทางภาษี – ค่าใช้จ่ายทางภาษี

และเจ้ากำไร (ขาดทุน) สุทธิทางภาษีนั้น
จะมีความแตกต่างกันทั้งหมด 4 รูปแบบดังนี้
1) รายได้ที่ถือเป็นรายได้ทางภาษี คือ
รายได้ที่ทางบัญชีไม่ถือเป็นรายได้แต่ต้องถือเป็นรายได้ทางภาษี

2) รายได้ที่ได้รับสิทธิยกเว้น คือ
รายได้ที่ทางบัญชีถือเป็นรายได้ แต่ไม่ถือเป็นรายได้ทางภาษี

3) รายจ่ายต้องห้าม คือ
รายจ่ายที่ทางบัญชีถือเป็นรายจ่าย แต่ไม่ถือเป็นรายจ่ายทางหลักภาษี

4) รายจ่ายที่หักได้เพิ่มขึ้น คือ
รายจ่ายที่ทางภาษีกำหนดให้หักเป็นรายจ่ายได้มากกว่าหลักการบัญชี

ซึ่งรายการทั้ง 4 นี้
สามารถเขียนเป็นสมการปรับปรุงกำไรขาดทุนทางบัญชี
ให้เป็นกำไรขาดทุนทางภาษีออกมาดังนี้

กำไร (ขาดทุน) ทางภาษี
กำไร (ขาดทุน) ทางบัญชี + รายได้ที่ให้ถือเป็นรายได้
 + รายจ่ายต้องห้าม – รายได้ที่ได้รับสิทธิยกเว้น – รายจ่ายที่หักได้เพิ่มขึ้น

และสิ่งที่ทำให้ธุรกิจหลายๆ ธุรกิจมีปัญหาเรื่องภาษี
ก็เพราะตัวของเจ้าของธุรกิจเองนั้น
ไม่รู้เลยว่าการปรับปรุงกำไร (ขาดทุน) ทางบัญชี
เป็นกำไร (ขาดทุน) ทางภาษีนั้่น

มีขั้นตอนแบบนี้ จึงทำให้ตัวเลขที่ทางบัญชี
พยายามทำให้ขาดทุนโดยการเพิ่มรายจ่ายนั้น
กลายเป็นรายจ่ายต้องห้ามที่ต้องมาบวกกลับ
ในการคำนวณกำไรขาดทุนทางภาษีเสียนี่
(เช่น รายจ่ายส่วนตัวของเจ้าของ
รายจ่ายค่ารับรอง ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกินกว่า
หลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดแล้วไม่ได้เกิดขึ้นจริง)
แล้วแบบนี้ขาดทุนที่คุณพี่สร้างมาแทบตาย
มันจะมีประโยชน์อะไรกันล่ะ

ดังนั้น การวางแผนภาษีธุรกิจที่ถูกต้องนั้น
ไม่ใช่การเพิ่มรายจ่ายธรรมดา แต่เราต้อง
เพิ่มรายจ่ายที่สามารถเป็นรายจ่ายทางภาษีได้
(หักได้เพิ่มขึ้น) เช่น ค่าใช้จ่ายในการอบรมสัมมนา
ค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างคนพิการ หรือค่าใช้ต่างๆ
ที่กฎหมายกำหนดให้เป็นรายจ่ายได้มากขึ้่นต่างหาก

หวังว่าเจ้าของธุรกิจทั้งหลายจะเลิกพูดคำว่า
“ไปทำตัวเลขให้ขาดทุน” ได้แล้วนะ
ทั้งเพื่อความสุขของนักบัญชีเอง
และความสุขในอนาคตที่ธุรกิจของเรา
จะไม่มีปัญหากับพี่สรรพากรอีกด้วย

แหล่งที่มา   เว็บไซต์ออมมันนี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...