วันอังคารที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ความหวัง แนวคิด หลักปฏิบัติ...(2)

1. 
โอกาสมีอยู่ในทุกสถานการณ์
หากมองให้เป็น
...Hollen Schucman & Wiliam Thet Fordi

2. 
คนที่ไม่มีจุดหมายในชีวิต
ก็เหมือนกับเรือที่ไม่มีหางเสือ
...Thomas Carlyle

3. 
วันพรุ่งนี้เต็มไปด้วยความหวังตลอดกาล
     เนื่องเพราะยังมีวันพรุ่งนี้
ในโลกนี้จึงมีคนจำนวนมาก
    สามารถที่จะดำรงชีวิตได้ต่อไป
...โกวเล้ง

4. 
เป็นการง่ายยิ้มได้ไม่ต้องฝืน
     เมื่อชีพชื่นเหมือนบรรเลงเพลงสวรรค์
แต่คนที่ควรชมนิยมกัน
    ต้องมั่นใจยิ้มได้เมื่อภัยมา
...หลวงวิจิตรวาทการ

5. 
คนเรามักจะล้มเหลวเพราะตนเอง
     ไม่ใช่ล้มเหลวเพราะคำวิจารณ์ของคนอื่น
คนเรามักจะแพ้ภัยตนเอง
     แต่แอบอ้างว่าเกิดจากคนอื่น
...เบญญา

6. 
ไม่ต้องห่วงว่าผู้อื่นจะไม่รู้จักเรา
    แต่ควรห่วงว่าเราจะไม่รู้จักผู้อื่น
...Canfucious

7. 
ยามเจริญรุ่งเรือง
    ไม่ประมาทมัวเมา
ยามอับเฉา
     ควรอดทน
...Chinese Proverb

8. 
จงทำให้ได้มากกว่าค่าจ้างที่ได้รับเสมอ
จงไปให้ไกลกว่าระยะทางที่คาดหมายเสมอ
...Brian Tracy / เรียบเรียงโดย เบญญาวัธน์

9. 
แผ่นดินนี้ไม่อาจเรียบเสมอกันได้ทั้งหมดฉันใด
มนุษย์ทั้งหลายจะทำให้เหมือนกันหมดย่อมไม่ได้ฉันนั้น
...Buddha

10. 
มนุษย์เราสามารถทำอะไรได้สำเร็จ
ก็เพราะเขาคิดว่าเขาสามารถทำได้
...Virgil / เรียงเรียงโดย เบญญาวัธน์

11. 
ถ้าท่านได้ทำอย่างเต็มที่และดีที่สุดแล้ว
ท่านก็ไม่ต้องกังวลว่าจะล้มเหลว
...H. Jackson Brown, Jr. / เรียงเรียงโดย เบญญาวัธน์

12. 
ไม่มีเคล็ดลับของความสำเร็จ
     เป็นเพียงแค่การเตรียมตัวให้พร้อม
ทำงานหนักและเรียนรู้จากความล้มเหลวเท่านั้น
...General Colin Powell

13. 
เมื่อประตูบานหนึ่งปิดลง
     พึงระลึกว่ามีประตูบานอื่นที่ยังเปิดอยู่
...Helen Keller / เรียงเรียงโดย เบญญาวัธน์

14. 
ความสำเร็จ
      แสดงให้เราเห็นโลกเพียงด้านเดียวเท่านั้น
แต่อุปสรรค
      ทำให้เราเห็นโลกอีกด้านหนึ่ง
...Charles Colson / เรียงเรียงโดย เบญญาวัธน์

15. 
มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่า
      เราจะมีมากเท่าใด
แต่การมีความขึ้นอยู่กับว่า
      เราพอใจแค่ไหน
...Charles H. Spurgeon / เรียงเรียงโดย เบญญาวัธน์

16. 
ความสุข
       คือสิ่งที่อยู่ท่ามกลางระหว่าง
              สิ่งที่น้อยเกิน กับ สิ่งที่มากเกินไป
...Channing Pollock / เรียงเรียงโดย เบญญาวัธน์

17. 
ทุกสิ่งเป็นจริงได้
       ด้วยความรักและอดทน
...Daisaku Ikeda

18. 
คุณจะประสบความสำเร็จสูงสุดในชีวิตการทำงานได้
สิ่งแรกที่ต้องมี
         คือความรักที่ลุ่มลึกในงานของคุณ
...Kazuo Inamori

19. 
วันนี้คุณเก่งแค่ไหนไม่สำคัญ
      เท่ากับคุณปรารถนา
      ที่จะก้าวไปให้ไกลเพียงใด
...Jack Welch

20. 
พยายามเข้าใจผู้อื่นก่อน
     แล้วจึงให้เขาเข้าใจเรา
...Stephen R. Covey

21. 
คุณจะล้มเหลวจริงๆ
      ก็ต่อเมื่อคุณล้มเลิกความพยายาม
...Wynn Davis

22. 
ฝันให้ไกล
      แล้วไปให้ถึง
...Anonymous

แหล่งอ้างอิง  หนังสือ TMBAM

วันอังคารที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2560

"พริ้ว" "พลิ้ว" ต่างกันอย่างไร

“พลิ้ว”
ใช้ ล กล้ำถูกต้องแล้ว

แต่ก็ไม่ทราบว่าเดิมทีเดียวจะใช้ ร กล้ำหรือเปล่า และได้เคยมีผู้เสนอให้เก็บคำว่า “พริ้ว” เข้าไว้ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานด้วย แต่คณะกรรมการชำระปทานุกรม และคณะกรรมการปรับปรุงพจนานุกรมท่านไม่ยอมรับ

ทั้งนี้เพราะคำว่า “พลิ้ว” นั้นมีความหมายเช่นเดียวกับ “ปลิว” นั่นเอง
- ตัว ป กับตัว พ เป็นพยัญชนะวรรคเดียวกันสับกันได้ และ
- ไม่ใช่เฉพาะ ป กับ พ เท่านั้น อาจสับกับตัวอื่นคือ ผ ฝ และ ฟ ได้ด้วย
เช่น ปาก กับ ฟาก ซึ่งอาจหมายถึง “ฝ่าย” ก็ได้
เช่น “หัวเมืองปักใต้ ฝ่ายเหนือ” หรือ “หัวเมืองปากใต้ ฝ่ายเหนือ”

คำว่า “ปัก” (ไม่มี ษ การันต์) หรือ
“ปาก” ในที่นี้ก็มีความหมายเท่ากับ “ฝ่าย” นั่นเอง และ
คำว่า “ฟาก” เช่น ข้ามฟาก หรือ “ฟากข้างโน้น” แล้วกร่อนมาเป็น “ฟากขะโน้น” ก็คือ “ฝ่าย”

เช่นเดียวกัน คำว่า “ฝักฝ่าย”
- “ฝัก” ในที่นี้ก็คือ “ฝ่าย” นั่นเอง หรือ
- คำว่า “บานแพนก” ในหนังสือเก่า ๆ เดี๋ยวนี้ก็ใช้ว่า “บานแผนก” หมดแล้ว หรือ
- “แปลก” กับ “แผก” เช่นในคำว่า “ผิดแผก” กับ “ผิดแปลก” ก็มีความหมายอย่างเดียวกัน

คำว่า “พลิ้ว” กับ “ปลิว”
ก็มีลักษณะอย่างเดียวกัน ในพจนานุกรม ฉบับ พ.ศ. ๒๕๒๕ จึงได้เก็บคำว่า “พลิ้ว” ไว้คำเดียว และได้ให้ความหมายไว้ว่า “ก. บิด, เบี้ยว, เช่น มีดคมพลิ้ว, สะบัดเป็นคลื่นไปตามลม เช่น ธงพลิ้ว.” ข้อความที่ว่า “มีดคมพลิ้ว” นี้ ต่อมาคณะกรรมการชำระปทานุกรมได้แก้เป็น “คมมีดพลิ้ว”

คำว่า “พลิ้ว” นี้ ก็ยังมีผู้เขียนผิด ๆ อยู่เสมอ
เช่น
- ในนิตยสารฉบับหนึ่ง ชื่อ “สะบัดช่อ” ฉบับที่ ๑๒๔ เรื่อง “ระเริงไฟ” ของ จัน ดารา มีข้อความตอนหนึ่งว่า “ความซาบซ่านระคนวาบหวิวพริ้วเพริด” หรือ
- ในนวนิยายเรื่อง “หิมะไฟ” ของ ยุพา รำไพ ในนิตยสารชื่อเดียวกัน ฉบับที่ ๑๒๓ มีข้อความตอนหนึ่งว่า “ยิ้มคมเหมือนสมน้ำหน้า ขณะพริ้วกายหลุดจากอ้อมกอดค้ากำไร”

คำว่า “พลิ้ว” ไม่ว่าจะในกรณีใด ๆ ก็ตาม ใช้ได้เพียงรูปเดียวเท่านั้น 
คือ “พลิ้ว” ที่มี ล กล้ำ เท่านั้น

แหล่งที่มา   เว็บไซต์ http://www.unigang.com/Article/20224

วันพุธที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2560

"คะ ค่ะ นะคะ", "จ้ะ กับ จ๊ะ" เขียนอย่างไรถึงถูกต้องกันแน่

คะ และ ค่ะ
สำหรับ "ค" นั้น ตามหลักภาษาจัดให้เป็น "อักษรต่ำ" และถ้ามาผสมสระอะ เป็นคำว่า "คะ" ซึ่งนั่นเราถือว่าเป็น "คำตาย" เนื่องจากมีสระเสียงสั้น เมื่อเป็นแบบนี้ เท่ากับว่า คำว่า "คะ" เป็นอักษรต่ำด้วย และเป็นคำตายด้วย

การผันวรรณยุกต์จึงผันได้เพียงแค่ 2 เสียงเท่านั้น คือ 
  1. "ค่ะ" (เสียงเอก) กับ 
  2. "คะ" (เสียงตรี) 
ดังนั้น ถ้าเห็นที่ไหนเขียน "ค๊ะ" หรือ "นะค๊ะ" เติมไม้ตรีละก็ อันนี้ผิดแน่นอนค่ะ เพราะอักษรต่ำอย่าง "ค" จะผันด้วยไม้ตรีไม่ได้โดยเด็ดขาด

คำว่า "คะ" 
ใช้กับประโยคที่ต้องการแสดงเสียงสูง อาจเป็นประโยคคำถามหรือเรียกด้วยความสุภาพ
เช่น ไปไหนกันคะ ดูได้ไหมคะ คุณคะเชิญทางนี้ เป็นต้น

ส่วนคำว่า "ค่ะ" (ออกเสียง ขะ) 
ใช้กับประโยคที่ต้องการเสียงต่ำ อย่างประโยคบอกเล่า ตอบรับ ตอบคำถาม
เช่น สวัสดีค่ะ ขอบคุณค่ะ รักค่ะ เกลียดค่ะ เชิญค่ะ จบค่ะ

คำว่า “นะคะ”
จะใช้กับประโยคบอกเล่า หรือตอบรับเช่นกัน
เช่น ขอบคุณมากนะคะ คิดถึงนะคะ เดินทางปลอดภัยนะคะ
อันนี้บอกเลยว่า มีแต่ “นะคะ” คำว่า “นะค่ะ” ไม่มี

คำลงท้ายที่ผู้หญิงใช้ในการแสดงความสุภาพก็ยังมีอีกหลายคำ คือ
  • คำว่า คะ ใช้ในเชิงถาม เช่น ทานไหมคะ หรือ
  • ใช้ลงท้ายร่วมกับคำว่า “นะ” เป็น “นะคะ” เช่น น่ารักนะคะ หรือ
  • ใช้ลงท้ายคำว่า “ล่ะ” เป็น “ล่ะคะ” เช่น แล้วอันนี้ล่ะคะ 
  • นอกจากนั้นยังมีคำว่า “ขา” ที่ใช้ขานรับ เช่น ขา ได้ยินแล้วค่ะแม่ หรือ
  • ใช้ต่อท้ายคำเรียกขาน เช่น พ่อขาไปด้วยกันไหมคะ
จ้ะ กับ จ๊ะ

คำว่า จ้ะ ใช้ในเชิงรับ เช่น ไปจ้ะ
คำว่า จ๊ะ ใช้ในเชิงถาม เช่น ไปไหนจ๊ะ
ส่วนคำว่า จ๋า ใช้ขานรับ หรือใช้ต่อท้ายคำเรียกขาน เช่น แม่จ๋า หนูคิดถึงแม่จ้ะ


แหล่งอ้างอิง   ข่าวที่: https://www.thairath.co.th/content/972383

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...