วันศุกร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2554

ตากุ้งยิง (stye,hodeolum)

เมื่อวันพุธที่ 30 มีนาคม 2554 ช่วงดึกๆ กำลังนั่งทำงานที่โต๊ะคอมพิวเตอร์อยู่ ก็รู้สึกเจ็บตาๆ (แต่จริงๆ รู้สึกเจ็บตามาช่วงหนึ่งแล้ว ก่อนหน้านี้สักสองสามวัน แต่อาการเจ็บตาก็หายไป เพิ่งกลับมาเป็นใหม่อีก) แต่ก็ไม่คิดว่าเป็นอะไร คิดว่าน่าจะเป็นอาการที่เคยเจ็บตาบ้างหากเราใช้คอมพิวเตอร์นานๆ  (นานๆ จะเป็นสักครั้งหนึ่ง) และก็จะหายไปในที่สุด

วันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม 2554 เริ่มรู้สึกเจ็บตามากขึ้นในช่วงเช้า และใกล้ๆ เที่ยงได้สังเกตว่าดวงตาขวาเริ่มมีอาการบวมที่เปลือกตาบนที่หัวตา จนสังเกตได้ว่าเป็นอาการกุ้งยิงและมีอาการเจ็บมาก ซึ่งมาปิดบังการมองเห็นตาข้างขวาอย่างรู้สึกได้ จนรู้สึกว่าปล่อยไว้แบบนี้ไม่ไหวแล้ว จึงได้ไปหาหมอในช่วงบ่ายที่โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน (สะพานควาย)

หมอบอกว่าจะต้องผ่าออกเพราะสุกแล้ว การผ่าออกจะทำให้หายได้เร็วกว่า แต่จะต้องทนเจ็บนิดหนึ่ง และเมื่อเจาะเอาหนองที่ตาออกเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ปิดตาข้างขวา ทำให้รู้สึกว่าการมองลำบากขึ้น จนต้องใช้มือจับตาข้างขวาไว้จะทำให้รู้สึกว่าการมองดีขึ้น และเมื่อผ่านไปสักระยะหนึ่งก็เริ่มปรับตัวได้บ้างในการใช้สายตาข้างซ้ายเพียงข้างเดียว (แต่ก็ยังลำบากอยู่ดี)

วันนี้เริ่มลองมาค้นหาว่าทำไมจึงเป็นกุ้งยิงได้ ก็ได้ความรู้จากเว็บไซต์หลายแห่ง สรุปได้ดังนี้
  1. กุ้งยิงคืออะไร
  2. ประเภทของกุ้งยิง
  3. สาเหตุที่เป็นกุ้งยิง
  4. การป้องกันกุ้งยิง
  5. อาการกุ้งยิง
  6. วิธีการรักษากุ้งยิง
  7. โรคแทรกซ้อน
กุ้งยิงคืออะไร
กุ้งยิงเป็นการอักเสบของหนังตา หมายถึง ตุ่มฝีเล็กๆ ที่ขอบเปลือกตา ซึ่งอาจพบได้ที่เปลือกตาบนหรือล่าง

ประเภทของกุ้งยิง
กุ้งยิงแบ่งเป็น 2 ชนิด ดังนี้
  1. ชนิดหัวผุดนอก เป็นการอักเสบที่ขนตา(hair follicle) เรียก External Hordeolum  จะเกิดการอักเสบของต่อมขับไขมันบริเวณผิวหนังตรงโคนขนตา จะเป็นหัวฝีผุดให้เห็นชัดเจน ตรงบริเวณขอบตา มีลักษณะสีเหลือง ตรงกลางรอบๆ นูนแดง และกดเจ็บ
  2. ชนิดหัวหลบใน เป็นอักเสบที่ต่อมไขมันที่เปลือกตาเรียก Internal Hordeolum จะเกิดการอักเสบของต่อมขับไขมันบริเวณเยื่อบุเปลือกตา (เนื้อเยื่อสี ชมพูที่อยู่ลึกจากขอบตาเข้าไปต้องปลิ้นเปลือกตาจึงจะเห็น)

    หัวฝีจะหลบซ่อนอยู่ด้านในของเปลือกตา คนไข้จะรู้สึกปวดที่เปลือกตา เมื่อใช้นิ้วคลำกดดูจะพบตุ่มแข็งและเจ็บ เมื่อปลิ้นเปลือกตาจะเห็นหัวฝีมีลักษณะสีเหลืองๆ บางครั้งต่อมขับไขมันบริเวณเยื่อบุเปลือกตานี้ อาจมีการอุดตันของรูเปิดเล็กๆ ทำให้มีเนื้อเยื่อรวมตัวอยู่ภายในต่อม กลายเป็นตุ่มนูนแข็งๆ ไม่เจ็บปวดอะไร ภาษาหมอเรียกว่า"คาลาเซียน" (chalazion) ภาษาชาวบ้านเรียกว่า ตาเป็นซิสต์ บางครั้งอาจมีเชื้อแบคทีเรียเข้าไปทำให้เกิดการอักเสบ คล้ายกุ้งยิงชนิดหัวหลบในได้
     
สาเหตุที่เป็นกุ้งยิง
กุ้งยิงเกิดจากการติดเชื้อแบคที่เรีย (มักเป็นเชื้อ Staphylococcus aureus เป็นส่วนใหญ่) บางรายเกิดเนื่องจากมีการอุดตันของต่อมบริเวณเปลือกตานำมาก่อน แล้วเกิดการติดเชื้อซึ่งมีอยู่เป็นปกติในบริเวณนั้นตามมา สาเหตุที่ทำให้เกิดติดเชื้อได้ง่ายได้แก่
  • เปลือกตาไม่สะอาด มักเกิดจากการขยี้ตาบ่อยๆ
  • ใช้เครื่องสำอาง แล้วล้างออกไม่หมดหรือล้างไม่สะอาด
  • ใส่หรือถอดคอนแทคเลนส์ด้วยมือที่ไม่สะอาด
การป้องกันกุ้งยิง
วิธีป้องกันง่ายๆ คือ พยายามรักษาความสะอาด ไม่เอามือสกปรกไปขยี้ตารักษาความสะอาดบริเวณใบหน้าและเส้นผม สระผมบ่อยๆ อย่าให้ผมแยงตา และเมื่อสงสัยหรือเริ่มมีอาการ ก็ควรรีบมาพบจักษุแพทย์โดยเร็ว

อาการกุ้งยิง
ผู้ป่วยจะมาด้วยอาการปวดหนังตา กลอกตาหรือหลับตาจะทำให้ปวด บางคนมีอาการบวมที่เปลือกตา คลำได้ก้อนหรือเห็นเป็นก้อนที่เปลือกตา บางคนบวมมากจนตาปิด บางคนมีหนองไหลออกจากเปลือกตา หากหนองแตกในตาจะทำให้มีขี้ตาเป็นสีเขียว

วิธีการรักษากุ้งยิง
เมื่อสงสัยว่าเริ่มเป็นตากุ้งยิง ก็ควรรีบมาพบจักษุแพทย์โดยเร็ว เพราะในระยะแรกจะมีลักษณะแบบเปลือกตาอักเสบ ยังไม่มีหนอง ถ้าได้ใช้ยาทันท่วงที และใช้น้ำอุ่นประคบบริเวณที่เป็น จะทำให้ไม่เกิดการรวมตัวเป็นฝีขึ้น กุ้งยิงก็จะหายได้โดยการใช้ยาเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องผ่าฝี การใช้ยาควรได้รับการตรวจตาและสั่งยาโดยแพทย์ ยาที่ใช้มักเป็นยาปฏิชีวนะหยอดตาป้ายตา และบางรายอาจต้องใช้ยาปฏิชีวนะรับประทานร่วมด้วย แต่ในรายที่เป็นฝีหรือตุ่มเป็นไตขึ้นมาแล้วจำเป็นต้องทำการผ่าฝีและขูดบริเวณนั้นออกให้สะอาดจริง ๆ ร่วมกับการใช้ยาเพื่อรักษาให้หายขาดและไม่ให้เป็นซ้ำอีก ในบางรายอาจเป็นซ้ำได้ถ้าหนองยังออกไม่หมด หรือการอักเสบยังไม่หายดี
  • การผ่าตัดระบายหนอง
         จักษุแพทย์จะใช้ยาชาหยอดตาให้ชา และใช้ยาชาเฉพาะที่ฉีด ดังนั้นขณะที่ทำคนไข้จะไม่เจ็บ
หลังการเจาะกุ้งยิง แพทย์มักปิดตาข้างนั้นไว้เพื่อไม่ให้เลือดออก และช่วยลดอาการบวมประมาณ 4-6 ชั่วโมง ท่านไม่ควรขับรถในช่วงนั้นเพราะอาจเกิดอุบัติเหตุได้ ถ้ามีอาการปวดเจ็บบริเวณที่เป็น ให้รับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอลครั้งละ 1-2 เม็ด ทุก 4 ชั่วโมงเมื่อมีอาการ
  • การดูแลตนเองถ้าเป็นกุ้งยิง
          - ประคบด้วยผ้าชุบน้ำอุ่นหรือไข่ต้มสุกห่อผ้าสะอาดบริเวณที่เป็นวันละ 3-4 ครั้ง ครั้งละประมาณ 15-20 นาที่ เป็นเวลา 3-4 วัน เพื่อช่วยลดอาการบวม เจ็บ และเป็นการทำให้รูเปิดของต่อมเปลือกตาไม่อุดตัน ในขณะทำการประคบให้หลับตาไว้
          - ล้างมือบ่อยๆ
          - งดทาเครื่องสำอาง
          - หลีกเลี่ยงการใส่คอนแทคเลนส์
          - ไม่ควรบีบหนองที่เปลือกตาเอง เพราะอาจทำให้อักเสบมากขึ้น

โรคแทรกซ้อน
  • หากไม่รักษาอาจจะทำให้เกิดแผลที่แก้วตา หรือความผิดปกติของหนังตา
  • ขนตางอกผิดปกติ หรืออาจจะเกิดรู

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...