เกร็ดเรื่องการเขียนหนังสือราชการ (และหนังสือที่เป็นทางการ) ที่ถูกต้อง เพื่อไม่้ให้ "เสียหน้า" และ "เสียงาน"
- คำขึ้นต้น "กราบเรียน" และคำลงท้าย "ขอแสดงความนับถืออย่างสูง" ใช้กับ ประธานองคมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานศาลฎีกา นายกรัฐมนตรี และรัฐบุรุษ เท่านั้น ... ส่วนบุคคลอื่นๆ ทั่วไป ใช้คำขึ้นต้นว่า "เรียน" และลงท้ายว่า "ขอแสดงความนับถือ"
- การใช้สรรพนามแทนตัวว่า "ข้าพเจ้า" ล้าสมัยแล้ว การแทนตัวว่า "ผม" "กระผม" หรือ ดิฉัน" เหมาะสมและทันสมัยกว่า
- ท่อนจบที่ว่า "จึงเรียนมาเพื่อโปรด...." เยิ่นเย้อและไม่เหมาะสม ในปัจจุบันนิยมใช้คำว่า "จึงเรียนมาเพื่อ..." (ไม่มี โปรด) เช่น จึงเรียนมาเพื่อทราบ หรือ จึงเรียนมาเพื่อดำเนินการ
- การเขียนขอบคุณแบบคาดหวังล่วงหน้า "จะขอบคุณยิ่ง" เป็นภาษาพูด คำที่เป็นภาษาเขียนและให้ความรู้สึกเน้นหนักกว่าคือ "จักขอบคุณยิ่ง"
- การขอความช่วยเหลือว่า "ใคร่ขอความอนุเคราะห์" เป็นการใช้คำฟุ่มเฟือยและโยงไปถึงเรื่องรักๆ ใคร่ๆ แม้จะตัดคำว่า "ใคร่" ออกไปก็ไม่เสียความหมาย ใช้แค่ "ขอความอนุเคราะห์" ก็พอแล้ว
- การเท้าความว่าเคยแจ้งรายละเอียดไปแล้ว แต่ครั้งนี้ไม่อยากจะพูดซ้ำ จะเขียนว่า "[ความเดิมโดยสรุป] ความละเอียดแจ้งแล้ว นั้น" หรือ "ความแจ้งแล้ว นั้น"
- "ให้กับ" ไม่เป็นทางการ ที่เหมาะสมคือ "ให้แก่" ส่วนคำว่า "แด่" จะใช้กับผู้ที่อยู่ในสถานะสูงกว่า เช่น ถวายแด่
- "ขอเชิญมาเป็น..." และ "ไม่ทราบจะทำอย่างไร" เป็นภาษาพูด ภาษาเขียนต้องใช้ว่า "ขอเชิญไปเป็น..." และ "ไม่ทราบว่าควรทำเช่นใด"
เรียบเรียงมาจากบทความ "การเรียนหนังสือราชการ" ของคุณสิริวิท อิสโร www.polsci.chula.ac.th/qapolsci/km3.htm ซึ่งเป็นการสรุปความมาจากโครงการอบรม "เทคนิคการเขียนอย่างมีประสิทธิภาพ" โดยอาจารย์จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ มี.ค. 2552
แหล่งที่มา Facebook : Thailand Investment Forum
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น