วันพฤหัสบดีที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2559

“10 กลวิธี” โกงภาษี!

1. การตั้งตัวแทนเชิด
คือการตั้งบุคคลอื่นหรือบริษัทเป็นผู้มีรายได้และเสียภาษีแทนตน
ซึ่งมีผลให้ตัวเองเสียภาษีน้อย หรือหากมีปัญหาฟ้องร้องทางกฎหมาย
ก็จะยากขึ้น

กรณีเช่นนี้ก็เหมือนกับที่พลอย เฌอมาลย์ ให้คุณลุงวัย 77 ปี
รับเงินแทนเพื่อประหยัดภาษีนั่นเอง

สำหรับวิธีการตั้งตัวแทนเชิดนั้น
ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างซึ่งส่วนใหญ่บรรดา
นักการเมืองทั้งระดับชาติ และระดับท้องถิ่น
ล้วนเป็นเจ้าของกิจการ ซึ่งคนกลุ่มนี้กรมสรรพากร
อยากจะบอกว่าเป็นกลุ่มธุรกิจที่เลี่ยงภาษีมากในอันดับต้นๆ
โดยเฉพาะบริษัทรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่
จะใช้วิธีหารายชื่อคนงานแล้วให้คนงานของตนเอง
เป็นผู้รับเหมารายย่อย โดยเงื่อนไขสำคัญของคนที่
จะถูกเชิดให้เป็นผู้รับเหมารายย่อยนั้นต้องไม่ให้
มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท เพื่อเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
“จุดประสงค์ที่ทำแบบนี้ก็เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่ม
ทำให้เขาประหยัดภาษีมากขึ้น ซึ่งความจริงเงินจำนวน
ที่ถูกถ่ายออกไปก็เข้ากระเป๋าพวกเขากันเอง”

นอกจากบรรดาบริษัทรับเหมาก่อสร้าง
จะนิยมใช้วิธีการดังกล่าวแล้ว กรมสรรพากร
ยังพบว่าบรรดากิจการขนส่งสินค้าก็นิยมกระทำเช่นกัน
ด้วยการเอาชื่อลูกน้องในการรับส่งสินค้าแทน
เพื่อหลีกเลี่ยงรายได้แท้จริงของตนเอง

2. การตั้งคณะบุคคล
เป็นการก่อตั้งคณะบุคคลหลายๆ คณะ
จุดประสงค์เพื่อแตกฐานเงินได้ให้เล็กลง
โดยมีชื่อตนเองในทุกคณะ ทำให้เสียภาษีน้อยลง
และยังสามารถหักค่าใช้จ่ายในแต่ละคณะได้อีก

“พวกที่มีอาชีพอิสระ ที่ปรึกษา ศิลปินดารา หรือ
พวกที่มีรายได้สูงๆ นิยมทำมาก อย่างดาราที่เป็นข่าวโด่งดัง
ก็ ชมพู่-อารยา เอ ฮาร์เก็ต ที่ใช้วิธีการนี้เลี่ยงภาษี
ซึ่งชมพู่บอกว่าที่ทำแบบนี้เพราะไม่รู้และได้รับคำแนะนำ
จากเพื่อนๆ ยืนยันว่าต่อไปเธอจะไม่ใช้วิธีนี้
เพราะเท่ากับเป็นการโกงภาษีรัฐ”
แหล่งข่าวกรมสรรพากร ระบุ

3. ทำให้บริษัทขาดทุน 
วิธีการนี้เป็นที่นิยมทำกันแพร่หลายในทุกๆ ประเภทกิจการ
โดยเฉพาะบริษัทรับเหมาก่อสร้าง จะใช้วิธีการสร้างรายจ่าย
หรือบิลรายจ่ายมาเบิกบริษัทให้มากที่สุด
เมื่อถึงปลายปีก็จะพบว่าบริษัทขาดทุนและไม่สามารถเสียภาษีได้

ส่วนที่มีการหัก ณ ที่จ่ายไปแล้ว ก็มีโอกาสจะได้คืน
เนื่องจากบริษัทไม่มีกำไรและยังขาดทุน
ทั้งนี้ กรมสรรพากรได้เข้าไปตรวจสอบและพบว่า
บริษัทเหล่านี้มีการกระทำอีกหลายรูปแบบ

ตัวอย่างเช่น ให้บริษัทกู้ยืมเงินจากกรรมการบริษัทของตนเอง
เพื่อหลบยอดรายได้หรือยอดขาย และเพิ่มค่าใช้จ่ายในส่วน
ของดอกเบี้ยบริษัท “นักการเมืองบางคนใช้ชื่อบริษัท
สั่งซื้อวัสดุก่อสร้าง แต่ปรากฏว่าเอาวัสดุที่ซื้อไปก่อสร้าง
บ้านตัวเองราคาหลายล้าน แต่กลับนำบิลมาเบิกเป็น
รายจ่ายบริษัทแทน”

เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรเล่าอีกว่า
ที่น่าตลกที่สุด บริษัทรับเหมาก่อสร้างทำถนน
แต่กลับมีการสั่งซื้อ “สี” เป็นจำนวนมาก
มาหักภาษีซื้อ และยังมีการนำบิลรายจ่ายอื่นๆ
ที่ใช้เป็นการส่วนตัว แล้วมีการแต่งตัวเลขให้สูงขึ้น
จากนั้นนำมาตัดจ่ายในบัญชีของบริษัท

4. การหลบยอดขายและยอดซื้อ
ซึ่งหมายถึงบริษัทมีการแต่งบัญชีโดยให้ยอดขายเกิดขึ้น
เท่าที่ต้องการจะเสียภาษี เช่นมียอดขายสินค้า 200 รายการ
แต่มีการเปิดบิลหรือมียอดขายตามบิลแค่ 80 รายการ
ซึ่งวิธีนี้บรรดาบริษัท ห้างหุ้นส่วน นิยมกระทำมาก
“พวกนี้จะนิยมแต่งบัญชี คือเขาจะมีบัญชี 1 และบัญชี 2
ซึ่งเขาจะรู้ว่าบัญชีไหนไว้ใช้ยื่นเสียภาษี
ซึ่งจริงๆ แล้วมันผิดกฎหมาย แต่โทษบ้านเราก็แค่ปรับ
พวกนี้จึงไม่เกรงกลัว”

5. การซื้อใบกำกับภาษี 
ที่นิยมกันก็คือการซื้อใบกำกับภาษี
ซื้อของผู้ประกอบการค้าน้ำมันมาเป็น
ยอดรายจ่ายของบริษัทตน ทั้งนี้เพราะ
ผู้เติมน้ำมันรายย่อยมักไม่ขอใบกำกับภาษีอยู่แล้ว
“ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างมักขอซื้อใบกำกับภาษีดังกล่าว
เพื่อนำไปขอคืนภาษีจากรัฐ เพื่อทำให้เสียภาษีน้อยลง”

6. การหลีกเลี่ยงโดยผ่านระบบบัญชี
คือการสร้างบัญชีเท็จวิธีนี้นักบัญชีของบริษัทจะรู้กันกับ
เจ้าของกิจการ หุ้นส่วนบริษัท หรือบอร์ดบริษัท
ที่ต้องการจะมีการประหยัดเงินและนำผลกำไร
ให้กับเจ้าของกิจการตัวจริงและหุ้นส่วนมากที่สุด

ก่อนที่จะนำบัญชีบริษัทส่งให้ผู้ตรวจสอบบัญชีรับรองอีกขั้นตอนหนึ่ง
“วิธีการนี้เป็นการสร้างบัญชีเท็จ ด้วยการกำหนดรายจ่ายต่างๆ
เข้ามาเบิกในบัญชีบริษัทหรือค่าที่ปรึกษา ค่าโบนัสให้กับกรรมการ
หรือพนักงาน แต่ข้อเท็จจริงแล้วไม่ได้มีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น
เพียงแต่เป็นการวางแผนทางภาษีเพื่อให้บริษัทเสียภาษีน้อย
แต่เจ้าของกิจการได้กำไรมากๆ”

7. การตั้งบริษัทเพื่อเจตนาออกใบกำกับภาษีซื้อปลอม
วิธีการนี้จะมีการจัดตั้งบริษัทขึ้นมาหลายๆ แห่ง และ
มีการออกใบกำกับภาษีซื้อขายแก่กันเป็นทอดๆ
โดยข้อเท็จจริงแล้วบริษัทไม่ได้มีการทำกิจการจริง
แต่ใช้วิธีการโอนกลับไปกลับมาเท่านั้น “เขาเจตนาโกงภาษี
ทำทีมีการส่งออกสินค้า และมีการปลอมใบสั่งซื้อสินค้า
จากต่างประเทศ แล้วนำมาขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม”

8. การซื้อบิลจริง แต่ไม่มีการกระทำจริง
วิธีการดังกล่าวนี้เกิดขึ้นในธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่
โดยอาศัยการโฆษณาประชาสัมพันธ์ตามสื่อต่างๆ
มาเป็นเงื่อนไขในการจ่ายภาษี

ตัวอย่างเช่น บริษัทผลิตสินค้ารายหนึ่ง
ต้องการประหยัดภาษีรายได้ เนื่องจากบริษัทมีกำไรมาก
จึงใช้วิธีการติดต่อขอซื้อใบเสร็จ โดยอ้างว่าเป็นค่าการตลาด
(ประชาสัมพันธ์) ในสื่อต่างๆ ในวงเงิน 20 ล้านบาท

ซึ่งข้อเท็จจริงแล้วบริษัทนี้ไม่ได้มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์นี้
ในช่วงเวลาดังกล่าว และบริษัทที่ทำโฆษณาก็ยอมออกใบเสร็จให้
“นี่เป็นวิธีการโกงภาษี ที่มีผู้ร่วมกระทำหลายคน คือบริษัทผลิตสินค้า
และบริษัทผลิตสื่อโฆษณา เพราะวงเงิน 20 ล้านบาทที่บริษัท
ต้องการนำไปหักภาษีนั้น ข้อเท็จจริงเขาจ่ายให้
บริษัทผลิตสื่อแค่ส่วนของการหักภาษีรายได้ 2%
(ภาษีจ้างทำของ) และมีการตกลงส่วนต่างกัน
อีกประมาณ 10% เท่านั้น” ผลที่ตามมาก็คือ
บริษัทผลิตสินค้ารายนั้น ได้นำใบเสร็จ 20 ล้านบาท
ไปหักในรายได้บริษัท มีผลทำให้เขาประหยัดภาษีได้มาก
ขณะเดียวกันเขาก็เสียเงินให้กับบริษัทผลิตสื่อ
แค่ประมาณ 2 ล้านที่ถือเป็นเงินใต้โต๊ะเท่านั้น

9. ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เลี่ยงภาษีแบบเห็นๆ 
สำหรับวิธีการของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์หรือ
ธุรกิจพัฒนาที่ดินที่นิยมเลี่ยงภาษีกันมาก
ส่วนใหญ่จะเป็นรายเล็ก รายกลาง
และอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด
จะกระทำโดยการแบ่งขายและประกาศขาย
ที่ดินเปล่าเท่านั้น “หากสรรพากรไปตรวจ
บริษัทเหล่านี้จะอ้างว่า เขาขายเฉพาะที่ดินเปล่า
และผู้ซื้อไปว่าจ้างปลูกบ้านกันเอง
ไม่เกี่ยวข้องกับบริษัทเขา”

ทั้งที่ข้อเท็จจริงแล้ว เป็นการขายที่ดินพร้อมบ้าน
แต่แบ่งแยกเป็น 2 สัญญา คือสัญญาซื้อขายที่ดิน
กับสัญญาว่าจ้างปลูกบ้าน เพื่อเลี่ยงภาษีรายได้
ในส่วนของการปลูกบ้านที่ไม่ต้องจ่ายให้กับรัฐ

10. ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ประเภทคอนโดมิเนียม
ของนักพัฒนาที่ดินขนาดใหญ่ ที่ดำเนินการในพื้นที่
แหล่งท่องเที่ยวหลายจังหวัด จะมีการประกาศขาย
ห้องชุดเพียงบางส่วน และมีการเก็บห้องชุด
อีกส่วนหนึ่งไว้เพื่อใช้ประกอบกิจการโรมแรม
“บริษัทพวกนี้จะไม่ยอมแสดงรายได้ที่เกิด
จากการให้บริการกิจการโรมแรม เพราะรายได้
จำนวนนี้ความจริงแล้วต้องนำมาคำนวณ vat
เขาก็หลบเลี่ยง ซึ่งสรรพากรก็ต้องไปติดตาม
เพื่อให้เขาเสียภาษีและมีรายได้เข้ารัฐ”

 ปัญหาสำคัญที่สุดของเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร
ก็คือ เมื่อไปตรวจพบการเลี่ยงภาษีและบริษัทเหล่านี้
ไม่สามารถหาหลักฐานมาหักล้างได้ ผู้เลี่ยงภาษี
หรือโกงภาษี ก็จะใช้อิทธิพลทางการเมืองเข้ามา
บีบข้าราชการที่ปฏิบัติงานทันทีเช่นกัน แหล่งข่าวกล่าวว่า
“พวกเราเจอนักการเมืองบีบมาตลอด
โดยเฉพาะพวกธุรกิจรับเหมาก่อสร้างทั่วประเทศ
ที่ส่วนใหญ่เป็นของนักการเมือง ต้องบอกว่าพวกนี้มี
ประตูเลี่ยงภาษีเยอะที่สุด และชอบใช้อำนาจข่มขู่
ข้าราชการเพื่อไม่ให้พวกเราสืบสาวที่มาที่ไปมาก
เพราะรู้อยู่แล้วว่าบริษัทตัวเองโกงภาษี”

แหล่งที่มา   เว็บไซต์ TERRABKK คลังความรู้


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...