วันจันทร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2555

มารู้จัก...ดินสอพองกัน


เด็กรุ่นใหม่ที่อายุต่ำกว่า 30 ปีลงมา น้อยคนที่จะรู้จัก "ดินสอพอง" ยกเว้นพวกที่เกิดอยู่กับถิ่น หรือแหล่งผลิตดินสอพองจึงต้องขอความรู้ จากนายสมศักดิ์ โพธิสัตย์อดีตอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ซึ่งท่านได้กรุณาเขียนบทความเผยแพร่ให้ความรู้ดังนี้

อันที่จริงดินสอพองนับว่าเป็นสิ่งคู่บ้านคู่เมืองของไทยมาแต่ดั้งเดิมก็ว่าได้ คนไทยสมัยก่อนใช้ดินสอพองเป็นแป้งทาตัวให้เย็นสบายคลายร้อน โดยใช้ผสมน้ำอบไทยและนำมาปะเล่นในเทศกาลสงกรานต์ หรือนำมาสะตุพร้อมกับเครื่องหอม แล้วนำไปอบทำแป้งกระแจะไว้ทาตัวได้ทุกโอกาส ก่อนที่จะมีแป้งฝุ่นซึ่งผลิตมาจากแร่ทัลค์ (Talc) บดละเอียดมาแทนที่ เพราะลื่นและเนียนมือกว่า นอกจากนั้นชาวบ้านในพื้นที่ ยังนำมามักเกลือใช้พอกไข่เป็ดทำไข่เค็มขายกันมานานแล้ว และยังใช้เป็นตัวเชื่อมขี้เลื่อยในการปั้นธูปด้วย ปัจจุบันมีผู้นำดินสอพองมาจากใช้พองหน้าเพื่อให้หน้าตึง ซึ่งก็จริงเพราะดินสอพองเมื่อแห้งแล้วจะหดตัวแต่ควรกรองเอาเฉพาะเนื้อดินละเอียดแล้วนำไปสะตุเพื่อฆ่าเชื้อโรค และอาจผสมสมุนไพรบางชนิดเป็นสูตรผสมต่างๆ ใช้เป็นเครื่องประทินโฉมราคาถูกและทำได้เอง

มักจะมีคำถามว่าทำไมจึงเรียกดินสอพองทั้งที่ไม่ได้ใช้ทำไส้ดินสอ และทำไมจึงมีคำว่าพองต่อท้าย คำว่า "ดิน" คงไม่ต้องอธิบาย คำว่า "สอ"หมายถึงสีขาวก็ได้ หรือใช้เป็นวัสดุเชื่อม หรือโบกก็ได้ เช่นนำไปสออิฐหรือสอปูน ซึ่งเป็นคำโบราณ คือใช้เป็นวัสดุที่ใช้ก่ออิฐให้ติดกันนั้นเอง แต่ก็ไม่เรียกว่า "ดินขาว" ซึ่งเป็นดินเกาลิน (kaolin) หรือไชน่า เคลย์ (China clay) ที่ใช้ในอุตสาหกรรมเซรามิคส์ และก็ไม่เรียกว่า "ปูนขาว" เพราะปูนขาวคือหินปูน (CaCO3) ที่ถูกเผาเอาคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ออกไป (CO2) ส่วนคำว่า "พอง" ก็บ่งบอกคุณสมบัติของดินสอพองเอง ว่าเมื่อนำไปแช่น้ำหรือหยอดน้ำใส่แล้วดินชนิดนี้จะพองตัวขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจน เมื่อบีบมะนาวซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรดใส่ลงไป เนื่องจากเกิดปฏิกิริยาแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นฟองฟูขึ้นและดินพองตัว

ดินสอพองภาษาธรณีวิทยาเรียกว่า ดินมาร์ล (Marl) ก็คือหินปูนผุนั้นเอง จึงมีส่วนประกอบเหมือนกัน คือแคลเซียมคาร์บอนเนต (CaCo3) อยู่ร้อยละ 50 - 80 ส่วนประกอบอื่น ๆ คือแร่ซิลิกา ( SiO2)และอื่นๆ มีเนื้อละเอียดมากหากนำมาละลายน้ำหรือหมักไว้แล้วเอาไปกรองจะมีเนื้อละเอียดขนาด -325 เมซ (Mesh) ถึงร้อยละ 40 - 50 โดยน้ำหนัก

ประโยชน์ดินสอพองในด้านอุตสาหกรรม นับว่ามีบทบาทสำคัญยิ่งในอุตสาหกรรมซีเมนต์ ตั้งแต่ประเทศไทยได้มีการผลิตปูนซีเมนต์ โดยบริษัทปูนซีเมนต์แห่งหนึ่งที่ตั้งกว่ามา 100 ปี โดยใช้ดินสอพองจากแหล่งดินสอพอง ต.ท่าศาลา อ.เมือง จ.ลพบุรี และแหล่ง อ.บ้านหมอ อ.ท่าหลวง และ อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี เป็นวัตถุดิบในการผลิตปูนซีเมนต์โดยวิธีเปียก (Wet Process) หรือโดยนำมาเผาไล่น้ำ หรือความชื้นออกก่อน โดยใช้ฟืนซึ่งในสมัยนั้นถ้านั่งรถไฟผ่านโรงปูนซีเมนต์บางซื่อจะเห็นควันขาวของไอน้ำ ลอยออกจากป่องอ้วนและเตี้ยตลอดเวลา ก่อนที่จะเลิกใช้ดินสอพอง และฟืนหันมาใช้ก๊าซธรรมชาติ จากอ่าวไทยแทนฟืน และใช้หินปูนแทนดินสอพองทีเรียกว่าผลิตโดยวิธีแห้งหรือ Dry Process เมื่อประมาณ 30 ปีเศษเป็นต้นมา

ดินสอพองได้มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการเกษตรกรรมมาตั้งแต่เมื่อใดไม่ทราบได้ แต่นับว่าเป็นภูมิปัญญาของคนไทยแต่โบราณที่นำดินสอพองไปใช้แก้ดินเปรี้ยว หรือดินที่มีฤทธิ์เป็นกรดในนาข้าว ไร่ข้าวโพด ข้าวฟ่าง หรือสวนผลไม้ เนื่องจากเป็นดิน ที่มีซัลเฟตสูง เช่น ดินพรุ ซึ่งมีความเป็นกรดจัด คือ มีค่า pH4 หรือต่ำกว่าจะทำให้เมล็ดข้าวลีบและผลผลิตต่ำ หรือดินที่ใช้ปุ๋ยเคมีมานานจะทำให้ดินเปลี่ยนสภาพเป็นดินแข็งมีความเป็นกรดสูงขึ้นมากเช่นกัน เกษตรกรที่ประสบปัญหานี้ ก็จะใช้ดินสอพองไปโรยเพื่อปรับค่าความเป็นกรดของดิน ให้เป็นกลางเนื่องจากดินสอพองมีฤทธิ์เป็นด่าง ซึ่งต่อมากรมพัฒนาที่ดิน เมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว ได้มีการส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ดินสอพองปรับแก้ดินเปรี้ยวเพื่อเพิ่มผลผลิต

แหล่งดินสอพองในประเทศไทย แหล่งใหญ่ ๆ มีอยู่ที่บริเวณตีนเขาหินปูน โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดลพบุรี และจังหวัดสระบุรี ดังได้กล่าวมาแล้ว นอกจากนั้นก็ยังพบอีกหลายแห่ง เช่นอ.เมือง,อ.ท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี,อ.ตาคลี จังหวัดนครสวรรค์, อ.แม่ทะและแม่เมาะ จังหวัดลำปาง,จ.เพชรบูรณ์และอีกหลายแห่งที่มีภูเขาหินปูน

น่าเสียดายที่ภูมิปัญญาของไทยด้านการใช้ดินสอพองในการแก้ดินเปรี้ยวได้ถูกละเลยทั้งๆ ที่เป็นวัตถุดิบราคาถูกใช้ได้ผลดีมาก อย่างน้อยก็ควรสนับสนุนให้เกษตรกรในพื้นที่ ที่มีแหล่งดินสอพองและใกล้เคียงได้มีความรู้เรื่องการแก้ดินเปรี้ยว ด้วยดินสอพองมากกว่าที่จะปล่อยให้เกษตรกรไปใช้หินปูนบดหรือโดโลไมต์บด และสารเคมีต่างๆ ที่ผลิตขายในเชิงพาณิชย์และเป็นเหยื่อการโฆษณา โดยละเลยภูมิปัญญาของบรรพชนไทยอย่างสิ้นเชิง เมื่อเรารู้คุณค่าแล้วควรนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์จากสิ่งที่มีอย่างคุ้มค่าให้มากที่สุด

แหล่งที่มา   เว็บไซต์สนุกดอทคอม สนับสนุนข้อมูลโดย สมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย 10 ส.ค. 55 13.50 น. 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...