วันพุธที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2555

1 ส.ค. 55 วันสตรีไทย


วันสตรีไทย วันที่ 1 สิงหาคมของทุกปี

ความเป็นมาของวันสตรีไทย
ความเป็นมาของวันสตรีไทยก่อเกิดจากแนวความคิดที่ว่า ในเดือนสิงหาคมเป็นเดือนแห่งมหามงคลสมัยที่ปวงชนชาวไทยพร้อมใจกันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในวันที่ 12 สิงหาคม ประดุจแม่ของแผ่นดิน และทางราชการได้กำหนด เป็นวันแม่แห่งชาติ

องค์กรสตรีไทยทั่วประเทศได้หารือกันทั้งภาครัฐและเอกชน มีความประสงค์ร่วมกันกำหนดให้มีวันสตรีไทยขึ้น ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจที่สตรีไทย ได้มีโอกาสร่วมกัน กำหนดวันของตนเอง เป็นการผลักดันกระบวนทัศน์ ความคิด ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะสตรีไทย และภูมิปัญญา ที่เป็นของตนเองให้ผนึกกันก้าวไปในแนวทางที่สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐ เพื่อยกระดับ สถานภาพชีวิตของสตรีไทย และร่วมกันพัฒนาเพื่อความเจริญก้าวหน้า ของประเทศ ทุกองค์กร จึงกำหนดวันสตรีไทยขึ้น และได้รับพระมหากรุณาธิคุณอันล้นเกล้า จากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระราชทานกำหนดให้วันที่ 1 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันสตรีไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2546 เป็นต้นไป

พระราชดำรัส
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์
ทรงเปิดงานโครงการรวมพลังสตรีไทย เทิดไท้องค์ราชินี และพระราชทานวันสตรีไทย
ณ อาคารใหม่สวนอัมพร พระราชวังดุสิต
วันศุกร์ที่ 1 สิงหาคม 2546

"สตรีไทยในยุคปัจจุบัน มีความคิดที่ก้าวหน้าและทันสมัยมากขึ้น จึงมีส่วนร่วมอย่างสำคัญ ในการพัฒนาประเทศ การสั่งสมภูมิปัญญาของสตรีไทย ที่สืบเนื่องกันมานับแต่โบราณกาลจวบจนปัจจุบัน ได้ก่อให้เกิดเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอันเป็น ความภาคภูมิใจยิ่งของชาวไทยและการที่จะธำรงความภาคภูมิใจนี้ไว้ให้ยั่งยืน ย่อมเป็นหน้าที่ของสตรีไทยทุกคน ที่จะต้องช่วยกันรักษา และเชิดชูเอกลักษณ์ ทางวัฒนธรรมของชาติ ตลอดจนภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้สืบทอดไปยังอนุชนรุ่นต่อไปโดยไม่ขาดสาย

เนื่องในโอกาสที่วันนี้เป็นวันสตรีไทย ข้าพเจ้าจึงของฝากความคิดเห็นว่า สตรีไทยมีหน้าที่สำคัญเบื้องต้น 4 ประการ คือ

ประการแรก พึงทำหน้าที่ "แม่" ให้สมบูรณ์
โดยทำให้ครอบครัวบังเกิดความรัก และความอบอุ่น มีความเข้าใจและไว้วางใจ ซึ่กงันและกัน แม่ควรเป็นที่ยึดมั่นของลูก เมื่อลูกเกิดปัญหาก็ช่วยแก้ไขด้วยความเมตตา และสอนให้รู้จักดำเนินชีวิตในทางที่ถูกที่ควร ถ้าสตรีไทยทำเช่นนี้ได้ เด็กไทยก็จะเติบโตเป็นพลเมืองดี และช่วยป้องกันปัญหาร้ายแรงต่างๆ ในสังคมไทย

ประการที่สอง พึงทำหน้าที่ของ "แม่บ้าน" 
ให้ดีโดยทำให้บ้านมีความน่าอยู่ เป็นที่พักพิงอันอบอุ่น ของสมาชิกในครอบครัว ช่วยเก็บออมและเพิ่มพูนทรัพย์สินให้ครอบครัว รวมทั้งให้ความช่วยเหลือแก่ชุมชนรอบข้างตามสมควร

ประการที่สาม พึง "รักษาเอกลักษณ์ของความเป็นสตรีไทย" 
ผู้มีความนุ่มนวล อ่อนโยน สุภาพ เมตตา และยิ้มแย้มแจ่มใส รวมทั้งธำรงรักษาศิลปวัฒนธรรมไทยอันละเอียดประณีตให้เป็นที่ชื่นชมของนานาชาติตลอดไป

ประการที่สี่ พึง "ฝึกฝนตนเอง" 
ให้มีความรู้ความสามารถยิ่งขึ้น ขยัน และอดทน มีความประยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย และรักษา ความสามัคคี ในหมู่คณะไว้ให้มั่นคง

หากสตรีไทยทุกคนตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ ทั้ง 4 ประการ นี้ได้ ก็จะส่งผลให้ครอบครัวไทย สังคมไทย และประเทศชาติมีความสุข ความเจริญ นำไปสู่การพัฒนาด้านอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง และสตรีไทยจักเป็นที่ยกย่อง ชื่นชมของสังคมโลกตลอดไป"

แหล่งที่มา   เว็บไซต์ True ปลูกปัญญา 1 ส.ค. 2555 โพสโดย ดาวแม่ไก่ ที่มา : เว็บไซต์กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ภาพประกอบ : อาสามีเดีย 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...