วันอังคารที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ชุดประจำชาติอาเซียน

ประเทศไทย
ประเทศเดียวในเอเชียอาคเนย์ที่เป็นเอกราชในยุคล่าอาณานิคม แต่อย่างไรก็ดี ในช่วงเวลาดังกล่าวประเทศไทย หรือสยามในเวลานั้น ได้นำเอาเสื้อแบบตะวันตกมาปรับใช้กับผ้าของตน แทนการแต่งกายแบบดั้งเดิม จากนั้น ก็ปรับเปลี่ยนแบบเสื้อเรื่อยมาตามแฟชั่นตะวันตก จนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ไม่มีใครแต่งกายแบบดั้งเดิมอีก

การแต่งกายแบบไทยแท้ๆ เกือบจะหายไป แต่ด้วยพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ให้รื้อฟื้นรูปแบบการแต่งกายดั้งเดิมผสานกับยุคสมัยใหม่ ออกมาเป็นชุดไทยพระราชนิยม 8 แบบ

ในภาพเป็นชุดไทยศิวาลัยหนึ่งในชุดไทยพระราชนิยม 8 แบบ ชุดไทยศิวาลัยเป็นชุดไทยใส่เสื้อแขนยาวคาดเข็มขัดจะห่มสไบแบบไทยจักรี หรือห่มสะพักแบบไทยจักพรรดิก็ได้ แต่นิยมเป็นสไบปักมากกว่าสไบแถบเรียบๆ

ขวา:   เอกลักษณ์ของการแต่งกายแบบเขมรคือลูกไม้ปลายมือ ปะวะหล่ำ และกำไลมือ ซึ่งไทยเคยใช้สมัยต้นกรุงเทพฯแต่ปัจจุบันไทยไม่นิยมแล้ว
กลาง:สไบปักแบบเขมร
ซ้าย:  ชุดแบบต่างๆ

ลาว
ถ้าจะพูดถึงการแต่งกายของลาวก็ต้องเป็นผ้าซิ่น ผ้าซิ่นนั้นอยู่คู่กับชาวลาวมาช้านาน ผู้หญิงลาวต้องฝึกหัดทอผ้าตั้งแต่เล็กๆ

ผ้าซิ่นลาวประกอบด้วย 3 ส่วน คือ หัวซิ่น พื้นซิ่น และตีนซิ่น ส่วนของพื้นซิ่นเป็นส่วนที่กว้างและมีลวดลายสวยงามที่สุด จะทอเป็นลายต่างๆ ในหลายเทคนิค

ชุดลาวที่ใส่กันในปัจจุบันพัฒนามาจากแบบชุดของเจ้านายในหลวงพระบางซึ่งมีเอกลักษณ์ที่ใช้ซิ่นไหมจีนปักลายดอก บางครั้งก็ทอลายยกดอกทั้งผืนซิ่นความยาวของซิ่นอยู่ที่ครึ่งน่อง ห่มสไบทับโดยให้ชายสไบด้านหน้ายาวลงมา






กัมพูชา
ประเทศที่มีประวัติศาสตร์เก่าแก่ การแต่งกายของกัมพูชานั้น ได้มีการแลกเปลี่ยนกับประเทศไทยมานานมาก โดยเฉพาะช่วงต้นรัตนโกสินทร์

ในภาพเป็นชุดประจำชาติกัมพูชาท่อนบน เรียก Sbai หรือสไบนั่นเอง

ท่อนล่างคือ chang kben หรือโจงกระเบน

ผ้าที่ใช้นุ่งเรียกว่า Sampot หนือผ้ายกแบบเขมร ผ้านุ่งโจงกระเบนนั้นสมัยโบราณใส่กันเฉพาะผู้ชายเท่านั้น ต่อมาชาวเขมรเห็นสตรีไทยนุ่งจึงนุ่งตาม

ในปัจจุบันใส่กันในงานเฉลิมฉลอง หรืองานแต่งงาน ผ้านุ่งโจงกระเบนแบบเขมรนั้น ถึงจะมีวิธีการนุ่งเหมือนของไทยแต่ก็แตกต่าง ชาวเขมรจะนุ่งห่มให้รัดรูปเสมอ

โจงกระเบนก็เช่นกันจะรัดรูปที่เอวแต่ช่วงน่องจะโป่งออกมาก ตัวเสื้อก็จะตัดให้พอดีถึงแน่นเข้าไว้ ของไทยจะหลวมกว่า

พม่า
พม่านั้นประกอบไปด้วยหลากหลายชาติพันธุ์ ชุดที่เป็นชุดประจำชาตินั้น คือ longyi หรือสโร่ง eingyi หรือเสื้อกับผ้านุ่ง แต่เป็นชุดที่ใส่กันเป็นปกติ

ในภาพเป็นชุดที่ทำให้เป็นสมัยใหม่จากชุดราชสำนักมัณฑเลย์ เป็นชุดที่ใช้ในพิธีแต่งงาน หรืองานพิธีใหญ่ๆ

เอกลักษณ์ที่เด่นชัดของผ้าพม่า คือ ผ้านุ่งลายลุนตยาอชิก พม่าออกเสียงว่า โลนต๊ะหย่า แปลว่าร้อยกระสวย เพราะการทอผ้าลายคลื่นนี้ใช้กระสวยหลายสิบอันเลยทีเดียว และใช้เวลาในการทอนานมาก

ซิ่นตัวนึงอาจจะใช้คนทอต่อครั้งมากกว่า 2 คน ส่วน อชิค หรือ อะฉิก แปลว่าคลื่น นอกจากจะสื่อถึงท้องคลื่นแม่น้ำอิระวดีแล้วยังแสดงนัยทางพระพุทธศาสนาเรื่องจักรวาลอีกด้วย คลื่นและลวดลายหมายถึงทะเลสีทันดรและเขาสัตตบริภัณฑ์ทั้ง 7 รอบเขาพระสุเมรุ

ซ้าย: ผ้าลุนตยาอชิค
รูปที่2: สตรีสมัยมัณฑเลย์
รูปขวา: ชุดพม่าแบบสมัยใหม่

เวียดนาม
ในภาพเป็นชุด Áo dài áo แปลว่า ชิ้นของเครื่องแต่งกาย  dài แปลว่ายาว

ชุดนี้พัฒนามาจากชุดในสมัยราชวงศ์ Nguyen ในศตวรรษที่ 18 รูปทรงจะหลวมๆ ตัวยาวๆ จนเมื่อเมื่อ 80 ปีที่แล้ว Nguyễn Cát Tường ร่วมกับศิลปิน ได้ออกแบบชุดนี้ใหม่ให้มีความเพรียวกระชับโดยได้แรงบันดาลใจจากแฟชั่นฝรั่งเศสสมัยยุค 1930's และได้รับการขนานนามว่า เป็นชุดประตำชาติของเวียดนามสมัยใหม่

ในช่วงยุค1950's ดีไซน์เนอร์ชาวไซ่ง่อนได้ปรับแบบให้ฟิตขึ้นจนเป็นอย่างที่เห็นกันในปัจจุบัน






ซ้าย: ชุดโบราณสมัยราชวงศ์ ทรงหลวม
รูปที่ 2: ชุดพิธีการจะมีเสื้อคลุมอีกชั้น
รูปที่ 3: ชุดแบบภาคเหนือ
ขวา: ชุดแบบภาคใต้ได้รับอิทธิพลของชุดแบบชาวจามคอจะคว้านลึก แต่ปัจจุบันก็ใส่สลับกันไปมา

ฟิลิปปินส์
ฟิลิปปินส์นั้นไม่มีชุดประจำชาติที่เป็นทางการสำหรับฝ่ายหญิง ส่วนฝ่ายชายนั้นใช้เสื้อ barong tagalog เป็นเสื้อประจำชาติ เนื่องจากเป็นเมืองขึ้นของต่างชาติมาหลายร้อยปี

ชุดของสตรีฟิลิปปินส์นั้นได้รับวัฒนธรรมจากสเปนอย่างเด่นชัด โดยใช้รูปแบบการตัดเย็บแบบสเปนแต่ใช้วัตถุดิบท้องถิ่น คือ ใยกล้วย ใยสัปปะรด และฝ้าย

ในภาพเป็นชุดที่คนสมัยใหม่ เรียกว่า Maria Clara ตั้งตามชื่อตัวเอกในนิยายเรื่อง Noli Me Tangere ซึ่งแต่งโดยวีรบุรุษของชาติ

José Rizal เป็นชุดที่ประกอบด้วย เสื้อสั้นแขนทรงระฆัง หรือเรียกกันว่าแขนนางฟ้า ผ้าคลุมไหล่ กระโปรงยาวลากพื้น และผ้าคาดเอว ชุดนี้จะพัฒนาต่อไปเป็นชุด Terńo ซึ่งเป็นชุดที่เสื้อกับกระโปรงติดกันและมีแขนตั้งเรียกว่าแขนปีกผีเสื้อ

ซ้าย: ชุด Baro't saya แปลว่าเสื้อกับกระโปรง
รูปที่ 2: ชุด Maria Clara
ขวา2 รูป: ชุด Terńo

มาเลเซีย
เครื่องแต่งกายนั้นแต่ละรัฐจะแต่งกายไม่เหมือนกัน

ในภาพเป็นการแต่งกายของเมืองหลวงกัลลาลัมเปอร์ ชาวมาเลย์นิยมใช้ผ้า songket หรือผ้ายกดอกตัดเป็นชุดในงานสำคัญๆ แบบเสื้อที่เห็นเรียกว่าเสื้อ baju kebaya เป็นเสื้อตัวยาวปิดสะโพกและก้น ผ่าหน้าไม่มีกระดุมแต่จะใช้เข็มกลัด 3 อันกลัดแทนกระดุม และนิยมเสื้อกับกระโปรงเป็นผ้าชนิดเดียวกันสีเดียวกัน









ซ้าย: การแต่งกายรัฐยะโฮร์
รูปที่ 2: การแต่งกายรัฐเปรัก
รูปที่ 3 การแต่งกายรัฐปะหัง
ขวา: การแต่งกายรัฐกลันตัน

สิงคโปร์
ประเทศสิงคโปร์ไม่ได้กำหนดชุดประจำชาติ แต่ถ้าให้เลือกนอกจากชุดจีนกี่เพ้าแล้วก็น่าจะเป็นชุดนี้ Sarong Kebaya

ชุดโสร่งเคอบายานั้นเป็นการแต่งกายของชาวเปอรานากัน หรือที่คนไทยเรียกย่าหย๋า เปอรานากันแปลว่า เกิดที่นี่ซึ่งย้อนหลังไป 400 กว่าปี ชาวจีนเข้ามาทำการค้าขาย และแต่งงานกับหญิงพื้นเมือง จึงก่อเกิดเป็นวัฒนธรรมใหม่ขึ้นมา ย่าหย๋านั้นใช้เรียกผู้หญิงส่วนบาบ๋าใช้เรียกผู้ชาย ชาวเปอรานากันนั้นกระจุกตัวในเมืองท่าได้แก่ มะละกา ปีนัง ภูเก็ต และสิงคโปร์

การแต่งกายนั้นสตรีนำแบบเสื้อจีนยาวสมัยราชวงศ์หมิงมาดัดแปลงโดยใช้วัสดุที่บางเบามาตัดเย็บต่อมาจึงมีการเข้ารูป เสื้อเคอบายาแบบย่าหย๋านั้นตัวจะสั้นและบางกว่าแบบมาเลย์ เน้นทรวดทรง และปักเสื้อด้วยลายดอกไม้ต่างๆ นิยมสีสันสดใสและใส่กับผ้านุ่งโสร่งปาเต๊ะสีสดตัดกัน และสวมรองเท้าปักลูกปัด สังเกตุว่าผ้านุ่งแบบย่าหย๋าตะใช้สีสดเท่านั้นส่วนชาวมาเลย์และอินโดนีเซียจะใช้โทนสีน้ำตาลเป็นหลัก


ซ้าย: ชุดแบบดั้งเดมเรียก Baju Panjang แปลว่าชุดยาว สมัยนี้ไม่มีใครใส่กันจริงๆจังยกเว้นเป็นชุดออกงาน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ
รูปที่ 2: ชุดแต่งงาน จะยืมเอาชุดแบบจีนใต้มาใช้แต่มงกุฏยังคงรักษารูปแบบดั้งเดิมของสมัยราชวงศ์หมิง
รูปที่ 3: ชุดเคอบายา
ขวา: เคอบายาได้รับการออกแบบใหม่โดยปิแอร์ บัลแมง ในชุดยูนิฟอร์มของสิงคโปร์แอร์ไลน์ จนกลายเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของสิงคโปร์

อินโดนีเซีย
อินโดนีเซียนั้นมีหลากหลายชนเผ่า แต่ละเผ่าก็จะมีชุดประจำเผ่าของตนเอง แต่ชุดประจำชาตินั้น ยึดเอาแบบราชสำนักชวาโดยใช้เสื้อเคอบายา และผ้าบาติกเป็นชุดประจำชาติ ส่วนผ้าบาติกนั่นเน้นโทนสีน้ำตาล เวลานุ่งจะจีบจีบด้านหน้าเหมือนหน้านางของไทยแต่จีบเล็กกว่าการแต่งกายแบบนี้ใช้ในโอกาสทั่วไป

การแต่งกายแบบที่กล่าวนั้นเอาแบบอย่างมาจากราชสำนักยอกยาการ์ตา และสุราการ์ตาในชวากลาง

ในภาพเป็นชุดที่ใช้กันในพิธีแต่งงานและราชพิธีของราชสำนักชวากลาง ตัวเสื้อสีดำหรือเขียวเข้มอันเป็นสีของศาสนาอิสลามทำจากกำมะหยี่ ปักลายทอง นุ่งกับผ้าบาติกจับจีบ





ซ้าย: ชวากลาง
รูปที่ 2: สุมาตราเหนือ
รูปที่ 3: บาหลีเหนือ
รูปที่ 4: บาหลีใต้

เกร็ดความรู้:  Kebaya เคอบายา (สามจังหวัดภาคใต้จะเรียกว่าเสื้อ บานง)เป็นชื่อเรียกของเสื้อสตรีที่ผ่าหน้าไม่มีกระดุม มีต้นกำเนิดที่ชวา อินโดนีเซียในสมัยอาณาจักรมัชฌปาหิตราวๆศตวรรษที่15 และแพร่หลายจากชวาไปยังดินแดนต่างๆเช่น เกาะบาหลี สุมาตรา มาเลเซีย สิงคโปร์ ภาคใต้ของฟิลิปปินส์ และไทย เวลาสวมใส่จะใช้เข็มกลัดกลัดแทน

เคอบายามีความหลากหลายมาก เช่น

อินโดนีเซีย-เคอบายาของชวาจะฟิตรัดรูปมากราวคอจะเป็นสี่เหลี่ยม ชายเคอบายาจะตกที่ราวสะโพก ทำจากผ้าที่ทึบ ส่วนของบาหลีลักษณะเหมือนของชวาแต่ทำจากผ้าโปร่ง ส่วนของชาวยูเรเซียนเคอบายา จะเป็นสีขาว ของราชสำนักจะเป็นเหมือนในภาพที่ผมวาด

มาเลเซียและสุมาตรา-เคอบายาจะหลวมแต่เข้ารูปเล็กน้อยมักทำจากผ้าเนื้อหนา ยาวปิดสะโพก ตามหลักศาสนาอิสลามที่จะไม่เน้นสัดส่วน

ชาวเปอรานากัน(มะละกา สิงคโปร์ ปีนัง ภูเก็ต)-เนื่องจากมีเชื้อสายจีน เคอบายาจะสั้นและบางแนบเนื้อโชว์สัดส่วนที่สวยงามของสตรี เวลาใส่บนตัวจะเห็นเสื้อในอย่างชัดเจน ชายเคอบายาจะตัดเป็นเหลี่ยม มีสีสันสดใสและปักเป็นลวดลายต่างๆ

บรูไน
ประเทศบรูไนนั้น ใช้ชุด Baju Kurung (สามจังหวัดภาคใต้เรียกว่าเสื้อ กูรง) เป็นชุดประจำชาติ ชุดนี้ใช้กันทั่วไปในอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทยมุสลิม เป็นเสื้อแขนยาวทรงหลวมๆ คลุมไปจนถึงหัวเข่า

ชาวบรูไนชอบใช้สีสันสดใส แต่ไม่ใช้สีเหลือง เพราะเป็นสีของสุลต่าน โพกผ้าฮิญาบตามหลักศาสนาอิสลาม

ในภาพนั้นเป็นการแต่งกายของสตรีบรูไนในพิธี Berbedak เป็นพิธีให้พรของญาติๆ เจ้าสาวโดยจากมีการลงแป้งและขัดถูทั่วร่างกาย การแต่งกายนั้น แต่งตามแบบโบราณ ชุดที่ใส่ ก็คือ Baju Kurung นั่นแหละแต่มีการประดับประดามากขึ้นเท่านั้น





ซ้าย: ผ้าSongket
ขวา: ชุดในพิธีBerbedak

ติมอร์เลสเต
ว่าที่น้องใหม่ของอาเซียน มีการแต่งกาย และลวดลายผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ เพราะติมอร์เป็นแหล่งทอผ้าที่มีลวดลาย และสีสันที่สวยแห่งหนึ่งของโลก

ผ้าทอของชาวติมอร์ตะวันออกเรียกว่า tais ของผู้ชายจะผืนเล็กกว่าเรียก tais mane ส่วนของผู้หญิงผืนใหญ่กว่าเรียก tais feto

การทอผ้าถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ในช่วงที่ตกอยู่ภายใต้การปกครองของอินโดนีเซียการทอผ้าพื้รเมืองเป็นเรื่องต้องห้าม แต่อย่างไรก็ตามปัจจุบันก็เป็นที่แพร่หลายอีกครั้ง ผ้าทอของชาวติมอร์ใช้ฝ้ายอันเป็นมรดกที่ชาวโปรตุเกสนำเข้ามาตั้งแต่ศตวรรษที่16 และใช้สีธรรมชาติในการย้อมสี เช่น ขมิ้น มะม่วง ใบมันสำปะหลัง เป็นต้น ผ้าทอของชาวติมอร์ใช้เทคนิคที่หลากหลายจึงเป็นที่ต้องการของนักสะสมผ้าทั่วโลก การนุ่งห่มนั้นจะนุ่งเป็นกระโจมอกอาจจะมีผ้าคล้องคอซึ่งนิยมกันไม่กี่ปีมานี้ ใส่เครื่องประดับที่ทำจากปะการัง และเครื่องประดับต่างๆ

แหล่งที่มา   เว็บไซต์พันทิพย์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...