วันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2561

รู้และเข้าใจ โรคที่มาพร้อมกับวัยที่เพิ่มขึ้น

คุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงวัยสร้างได้
...ถ้ารู้จักและเข้าใจโรคที่มาพร้อมกับวัยที่เพิ่มขึ้น..

ก่อนอื่นต้องบอกว่า...
ร่างกายคนเราชราลงไม่เท่ากัน
จะดูที่อายุอย่างเดียวคงไม่ได้

ส่วนใหญ่การเสื่อมถอยของร่างกาย
มักจะเริ่มเมื่ออายุย่างเข้า 40

แต่ความเร็วช้าของการเสื่อมถอย
ในแต่ละคนย่อมต่างกัน

ยิ่งเราดูแลตัวเองดีแค่ไหน
ความสึกหรอที่มาพร้อมกับวัย
ก็จะยิ่งช้าลงไปเท่านั้น

โรคภัยไข้เจ็บในกลุ่มผู้สูงอายุ
แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ
นั่นคือ
กลุ่มของโรคที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
เมื่ออายุมากขึ้น เช่น
โรคที่เกี่ยวข้องกับหลอดเลือด
และกลุ่มของโรคที่เกิดเฉพาะในผู้สูงวัยเท่านั้น
เช่น โรคกระดูกพรุน และภาวะสมองเสื่อม

1. โรคในหลอดเลือด
กลุ่มโรคที่เกี่ยวข้องกับหลอดเลือด
เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง
โรคหลอดเลือดหัวใจ

และโรคหลอดเลือดในสมองนั้น
ไม่ได้มีสาเหตุมาจากอายุโดยตรง
แต่เป็นผลมาจากการละเลย
การดูแลสุขภาพเป็นเวลานาน

ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่เหมาะสม
หรือการขาดการออกกำลังกาย
จนทำให้เกิดการสั่งสมของน้ำตาลและ
คอเลสเตอรอลในกระแสเลือด

ซึ่งการลดความเสี่ยงของโรคกลุ่มนี้
สามารถทำได้โดยการไม่รับประทานอาหาร
จำพวกแป้งหรือไขมันมากเกินไป
และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

ผู้สูงอายุที่มีอาการของโรคเหล่านี้
ควรเลือกรับประทานโปรตีนจาก
ถั่วหรือปลาแทนที่จะเป็นเนื้อ หมู ไก่

เพราะใยอาหารจากถั่ว
จะช่วยในเรื่องการขับถ่าย
ทำให้ร่างกายระบายคอเลสเตอรอล
และจัดระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น

ส่วนปลาก็มีไขมันที่เรียกว่าโอเมก้าสาม
ซึ่งเป็นไขมันดีที่เชื่อว่าสามารถช่วย
ลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดได้อีกด้วย

2. โรคของกระดูก
อายุที่มากขึ้นส่งผลให้ความหนาแน่น
ของกระดูกเบาบางลงจนเปราะหักได้ง่าย
และกลายเป็นโรคกระดูกพรุนในที่สุด

ผู้หญิงควรระวังโรคนี้เป็นพิเศษ
เพราะมีโอกาสเสี่ยงมากกว่าผู้ชาย

อันตรายของโรคกระดูกพรุนคือ
โรคนี้แทบไม่มีสัญญาณบ่งชี้
จนกระทั่งเกิดหกล้ม
กระดูกหักขึ้นมาจึงจะรู้อาการ

ฉะนั้นแล้วการบำรุงกระดูกตั้งแต่เนิ่นๆ
จึงเป็นสิ่งจำเป็นเพราะจะช่วยลด
ความเสี่ยงและความรุนแรงของโรคได้เป็นอย่างดี

ดังนั้นผู้สูงอายุควรได้รับแคลเซียม
อย่างน้อยประมาณ 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน

นอกเหนือจากโรคที่มาพร้อมกับวัยที่สูงขึ้นแล้ว
อีกหนึ่งสิ่งที่ต้องระวังคือ
ปริมาณยาที่ผู้สูงวัยส่วนใหญ่ได้รับ
ก็ดูเหมือนจะเพิ่มขึ้น

ฉะนั้นแล้ว ผู้สูงอายุควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
ซึ่งอาจเป็นแพทย์หรือเภสัชกร
เพื่อดูยาทั้งหมดว่าชนิดใดจำเป็นหรือไม่

และสามารถรับประทานด้วยกันได้หรือเปล่า
นอกจากนี้ทุกครั้งที่ไปพบแพทย์
ควรแจ้งให้แพทย์ทราบว่ารับประทานยาอะไรอยู่
เพื่อไม่ให้เกิดการซ้ำซ้อน

…เพียงเท่านี้
รับรองว่าคนสูงวัย
สุขภาพดีทั้งกาย ทั้งใจ อย่างแน่นอน....

แหล่งที่มา  จาก SOOK By สสส.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...