วันศุกร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2561

รู้ทัน...ป้องกันข้อเข่าเสื่อม

“จะลุกก็โอย จะนั่งก็โอย” 

คุณรู้หรือไม่ว่า 
อาการเหล่านี้
คือสัญญาณเตือนว่า
ข้อเข่าต้องการความช่วยเหลือ? 

ต้องบอกว่า ‘เข่า’ เป็นอวัยวะสำคัญ
ในการรับน้ำหนักตัวและเคลื่อนไหว
ของร่างกาย เมื่อใดที่เข่าเริ่มมีความ
เจ็บปวดเข้ามาเตือนนั่นอาจเป็น
สัญญาณของ “โรคข้อเข่าเสื่อม”

ซึ่งเกิดจากกระดูกอ่อนที่ทำหน้าที่
เสมือนกันชนรองรับน้ำหนักและ
แรงกดกระแทกของร่างกาย
เสื่อมสภาพลงจนบางมากขึ้นเรื่อยๆ
ทำให้กระดูกในข้อเข่าเสียดสีกัน
จนเป็นสาเหตุของอาการปวดและอักเสบ

อาการนี้เองที่ทำให้ไม่ค่อยแฮปปี้
กับไลฟ์สไตล์ในชีวิตประจำวันกันมากนัก

รองศาสตราจารย์ นพ.ปัญญา ไข่มุก
คณะกรรมการกองทุน สสส.
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูก
ข้อ และวิทยาศาสตร์การกีฬา
บอกกับเราว่า

ข้อเข่าเสื่อมเป็นโรคด้านข้อ
อันดับ 1 ของคนไทย
ที่พบในวัยเก๋าอายุ 55 ปีขึ้นไป
แต่สามารถมีอาการนี้ก่อนวัยได้เช่นกัน

สาเหตุนั้นมีได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น
1.ไลฟ์สไตล์ที่ชอบงอเข่าเกิน 90 องศา
ไม่ว่าจะเป็นนั่งขัดสมาธิ นั่งยองๆ
หรือคลานเข่า ที่ทำให้เกิดแรงบีบ
กระแทกบริเวณเข่า และหากทำ
ต่อเนื่องนานๆ กระดูกของเราก็จะสึกไวขึ้น

2.น้ำหนักตัวที่มาก
เพราะข้อเข่าเป็นส่วนที่รองรับน้ำหนักตัวของเราไว้

3.พันธุกรรมและการเคยได้รับบาดเจ็บรุนแรง

แล้วอาการของโรคหล่ะ เป็นอย่างไร?
หลายคนอาจจะคิดว่า
ถ้ามีเสียงดังกร๊อบแกร๊บเวลาขยับ
น่าจะเป็นสัญญาณของโรคข้อเข่าเสื่อม

แต่จริงๆแล้ว ข้อเข่าเสื่อมจะไม่เสียง
มีเพียงความรู้สึกฝืดๆ ภายในข้อ
มีอาการปวดและเจ็บเวลาเคลื่อนไหว
เหยียดข้อได้ไม่สุด ปวดเข่า ตึงน่อง
เมื่อยน่อง เข่าบวม เดินแล้วไม่มั่นคง
รู้สึกเหมือนเข่าหลวม
จนกระทั่งเข่าโก่งผิดรูป
หากโก่งมากแพทย์อาจให้รักษา
ด้วยการผ่าตัดข้อเข่าเทียม

เราจะรู้ทัน...ป้องกัน 
‘ข้อเข่าเสื่อม’ อย่างไรบ้าง ?
จะวัยเก๋าหรือวัยไหนๆ
ก็สามารถหลีกเลี่ยงการเกิดข้อเข่าเสื่อมได้
โดยการ…

1. เติมวิตามินดีและแคลเซียม
เพิ่มความแข็งแรงให้กระดูก
จากอาหารที่กินในประจำวัน

เช่น ซุปน้ำต้มกระดูก
ปลาเล็กปลาน้อย นม
โยเกิร์ต พืชผักใบเขียว
ถั่วเหลือง เต้าหู้ เป็นต้น

โดยที่ร่างกายจะใช้วิตามินดี
จากการกิน20% ส่วนอีก 80%
มาจากการรับแสงแดดก่อน 8 โมงเช้า
และหลัง 4 โมงเย็น วิตามินจะถูกเก็บเอาไว้ใช้
เมื่อแคลเซียมที่ได้จากการกินหมดลง

2.ออกกำลังกายเพิ่มความกระฉับกระเฉง
อย่างการยืนแกว่งแขน เดิน เต้นแอโรบิค
ปั่นจักรยาน หรือเพียงแค่ทำงานบ้าน
หรือขึ้นลงบันไดก็ถือเป็นหนึ่งในการใช้กล้ามเนื้อแล้ว

3.ลดสาเหตุการเกิดข้อเข่าเสื่อม
ด้วยการ ควบคุมน้ำหนักตัว
ให้อยู่ในเกณฑ์ที่พอดี

ไม่ต้องผอม
แต่ก็ไม่ควรอ้วนลงพุง

ปรับไลฟ์สไตล์ใหม่
ทั้งไม่นั่งงอเข่าเกิน 90 องศา
ไม่อยู่ในท่าที่ทำให้ข้อเข่า
ต้องรับแรงอัดกระแทกหนักๆ

เพียงเท่านี้
ก็ยืดเวลาที่ลุกก็โอย
นั่งก็โอย
ก่อนที่จะถึงวัยแล้วนะคะ

ขอบคุณข้อมูลจาก : กิจกรรมห้องเรียนสูงวัยกายใจยังสุข ตอนรู้ทัน ป้องกัน “ข้อเข่าเสื่อม” วันที่ 21 กรกฎาคม 2561 

แหล่งที่มา  : จาก SOOK By สสส.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...