วันอาทิตย์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2555

หยุดจ่ายภาษีซะที !!!!


เรามาทำความรูัจักกับวิธีการออมที่สามารถช่วยประหยัดภาษีไปแล้ว  ว่าเราจะนำเงินออมพวกนี้มาช่วยประหยัดภาษีได้อย่างไรบ้าง

ก่อนอื่นขออนุญาตพาคุณกลับมาทบทวน ความเข้าใจในการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของ “มนุษย์เงินเดือน” อีกสักครั้ง  ^^/



วิธีการคำนวณเงินได้สุทธิ

เนื่องจากวิธีการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของ “มนุษย์เงินเดือน” นั้นจะใช้วิธีคำนวณจาก “เงินได้สุทธิ” คือ รายได้ (เงินเดือน) บวก รายได้อื่น (ถ้ามี) ลบด้วย ค่าใช้จ่าย และ ค่าลดหย่อน เราลองมาไล่ดูทีละตัวกันนะ

  1. รายได้หลัก คือ เงินเดือน (ในกรณีนี้ผมขอสมมุติให้ทุกคนไม่มีรายได้อื่น)
  2. ค่าใช้จ่ายของเงินเดือน ประมวลรัษฎากร กำหนดให้หักได้ 40% แต่ไม่เกิน 60,000 บาท
  3. ค่าลดหย่อนต่างๆ



ค่าลดหย่อนประเภทต่างๆ


  • เงินสมทบกองทุนประกันสังคม
  • การออมเงินประเภทจ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพต่างๆของบริษัท
  • เงินสะสมค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF)
  • เงินสะสมค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
  • เบี้ยประกันชีวิต และเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ

ทีนี้พอเรารู้จักกับ “ค่าลดหย่อน” ที่เป็น “การออม” และก็ได้ทำการออมในระหว่างปีไว้แล้ว ทีนี้จุดสำคัญมันอยู่ที่ว่า “นายจ้าง” หรือ “กิจการ” เค้าทราบหรือไม่ว่า คุณได้ออมเงินที่สามารถลดหย่อนภาษีได้ …

ลองนึกย้อนกลับไปดูสิว่า ในช่วงต้นปีของทุกๆ ปีนั้น ฝ่ายบุคคลจะมีจดหมาย หรืออีเมลล์แจ้งกับคุณว่า ให้กรอกและส่งรายละเอียดการหักลดหย่อนของคุณ ที่เรียกว่า “แบบแจ้งรายการเพื่อการหักลดหย่อน” หรือ “ล.ย.01″ ให้กับทางฝ่ายบุคคล ซึ่งแบบฟอร์มนี้เองเป็นแบบฟอร์มที่ทุกคนต้องกรอก เพื่อแจ้งให้ฝ่ายบุคคลทราบว่า เรามีค่าลดหย่อนอะไรบ้าง จะได้นำไปคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายได้ถูกต้อง โดยปกติแล้ว ทุกกิจการจะต้องมีแบบฟอร์มนี้ให้กับพนักงานกรอกเพื่อเปิดเผยข้อมูลในส่วนนี้
  
ตัวอย่าง ล.ย. 01

แต่ปัญหาที่ผมเจอมาในเรื่องนี้ หรือจะเรียกว่าประสบการณ์ตรงเลยก็ได้ มีอยู่ 2 รูปแบบคือ “กิจการไม่ได้ถาม” หรือ “พนักงานไม่ได้บอก” (แต่ส่วนมากมักจะเป็นอย่างหลัง อิอิ)  ทำให้เกิดผลกระทบดังตัวอย่างที่จะได้อ่านต่อไปนี้

ตัวอย่าง

  1. นายป่านมีเงินเดือนเดือนละ 50,000 บาท คิดเป็นเงินได้รวมทั้งปี 600,000 บาท
  2. สถานภาพของนายป่าน โสด ไม่มีครอบครัว ไม่มีหนี้สิน
  3. ระหว่างปีนายป่านวางแผนที่จะลงทุนออมเงินดังนี้


  •  ประกันชีวิต 40,000 บาท และประกันชีวิตแบบบำนาญ 10,000 บาท
  •  กองทุน LTF 50,000 บาท
  •  กองทุน RMF 25,000 บาท

เราลองมาคำนวณภาษีของนายป่านแบบง่ายๆ ดู

  1. เงินได้รวมทั้งปีจำนวน 600,000 บาท สามารถหักค่าใช้จ่าย 40% ไม่เกิน 60,000 ดังนั้นนายป่านจะเหลือเงินได้ 540,000 บาท (600,000 – 60,000)
  2. หลังจากนั้นนำมาหักค่าลดหย่อนส่วนตัว 30,000 บาท ทำให้เหลือเงินได้ 510,000 บาท (540,000 – 30,000)
  3. สุดท้ายต้องนำมาหัก ค่าลดหย่อนประกันชีวิต / ประกันชีวิตแบบบำนาญ กองทุน LTF และ RMF รวมทั้งสิ้น 125,000 บาท ทำให้เหลือเงินได้สุทธิ 385,000 บาท (510,000 – 125,000) 



เมื่อคำนวณตามอัตราภาษีตามตารางภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้ว นายป่านต้องเสียภาษีทั้งหมด 23,500 บาท ((385,000 – 150,000) x 10%) ซึ่งแปลว่า ถ้ากิจการรู้ข้อมูลค่าลดหย่อนทั้งหมดของนายป่านแล้ว นายป่านจะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้เดือนละ 1,958.33 บาท (23,500/12)

แต่ถ้านายป่านเกิดไม่แจ้งข้อมูลในข้อ 3 ให้ทางกิจการรับรู้ เมื่อฝ่ายบุคคลนำไปคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายในแต่ละเดือน นายป่านก็จะมีเงินได้สุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 510,000 บาท และจะต้องเสียภาษีทั้งหมด 37,000 บาท  [((500,000 - 150,000) x 10%) + (10,000 x 20%)] และจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้เดือนละ 3,083.33 บาท (37,000/12) หรือเพิ่มขึ้นจากเดิมเดือนละประมาณ 1,000 บาท

พอถึงปีถัดไป เมื่อนายป่านกรอกแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ก็ต้องไปทำเรื่องขอคืนภาษีที่ตัวเองได้ถูกหักเกินไว้จำนวน 13,500 บาทอีกทีหนึ่ง และนั่นก็คือที่มาของชื่อตอนนี้ว่า “หยุดจ่ายภาษีซะที !!!!” หมายถึง “หยุดจ่ายภาษีเกินซะที” จะได้ไม่ต้องเสียเวลาไปขอคืนให้ยุ่งยากไงละ

ทีนี้อาจจะมีคนแย้งผมว่า เราก็ปล่อยให้หักภาษีไว้เกินก็ไม่เป็นไรนี่นา พอตอนสิ้นปีก็ขอคืนได้อยู่แล้ว เคยทำแบบนี้มาทุกๆ ปี ก็ไม่มีปัญหาอะไร

เห็นด้วยที่ว่ายังไงเงินตรงส่วนนี้คุณก็ได้คืนแน่นอน แต่ว่าคุณต้องเสียเวลาและเสียโอกาสมากแค่ไหน ลองคิดดูนะ



  1. ผลประโยชน์ของตัวคุณเอง “เสียทั้งเวลาและโอกาส” ลองคิดดูสิว่า คุณต้องรออีกกี่เดือนกว่าจะได้เงินภาษีคืน แทนที่จะได้คืนทุกๆ เดือนโดยที่ไม่ต้องเสียอะไร และถ้าคุณสามารถนำเงินในส่วนนี้ไปลงทุนได้ผลตอบแทนสูงๆ ได้อีกต่อหนึ่ง คิดๆ ดูแล้วก็น่าเสียดายใช่ไหม
  2. ผลประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม ไม่ว่าจะเป็นการลดขั้นตอนการทำงานของเจ้าหน้าที่สรรพากรลง ทำให้มีเวลามากขึ้นในการทำงานส่วนอื่น แถมยังไม่ต้องเปลืองทรัพยากรต่างๆ ไม่ว่าจะเอกสาร กระดาษที่ต้องยื่นเพื่อให้กับเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ถ้าลดการใช้จ่ายพวกนี้ได้ ผมว่าก็เป็นการวิธีการช่วยชาติแบบง่ายๆ อีกทางหนึ่งได้เหมือนกัน 

ถ้าเกิด “มนุษย์เงินเดือน” ทุกคนสามารถทำได้แบบนี้จริงๆ ก็เรียกได้ว่าหมดเวลากับการที่เราต้องมานั่งขอคืนภาษีและมานั่งรอให้สรรพากรคืนภาษี เรียกว่า ประหยัดทั้งเขาและเรา คุ้มยิ่งกว่าคุ้มใช่ไหมล่ะ ^^

แหล่งที่มา   เว็บไซต์บล็อกภาษีข้างถนน  August 3rd, 2012

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...