วันศุกร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2556

7 วัน "อ่านง่าย ได้เรื่อง"

7 วัน "อ่านง่าย ได้เรื่อง"
  1. วันอาทิตย์ อ่านอย่างไร...อ่านทำไม
  2. วันจันทร์ อ่านให้เป็น อ่านให้เร็ว
  3. วันอังคาร อ่านให้รู้ อ่านให้จำ 
  4. วันพุธ อ่านให้ง่าย อ่านให้ได้ผล
  5. วันพฤหัสบดี อ่านให้ตรง อ่านให้นาน
  6. วันศุกร์ อ่านได้มาก อ่านได้ดี
  7.  วันเสาร์ อ่านให้ครบ อ่านให้เป็นนิสัย
วันอาทิตย์ อ่านอย่างไร...อ่านทำไม
การอ่าน คือ การเรียนรู้วัฒนธรรม ประสบการณ์ ทัศนคติ ความคิด ความเชื่อ ฯลฯ ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจในสิ่งรอบตัว ยิ่งอ่านมากก็ยิ่งรู้มาก และก่อนที่จะอ่านหนังสือเล่มใด เด็กๆ ควรรู้ว่า เรากำลังอ่านหนังสือเล่มนั้นเพื่ออะไร?

5 ขั้นตอนของการอ่านหนังสือ
  1. เตรียมพร้อมอ่าน ตั้งคำถามกับตัวเองสิว่า ทำไมเราต้องอ่านหนังสือเล่มนี้ อะไรบ้างที่เรารู้อยู่แล้วเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้
  2. อ่านแบบผ่าน เพื่อให้คุ้นเคยกับหนังสือที่จะอ่าน เด็กๆ ลองอ่านปกหน้า ปกหลัง ปกใน สารบัญ ดัชนี และบรรณานุกรม แล้วลองสังเกตโครงสร้างหนังสือ เช่น ชื่อบท หัวข้อหลัก หัวข้อรอง รูปภาพ กราฟ การ์ตูน และ รูปถ่าย โดยเน้นเนื้อหาที่เราต้องการ
  3. อ่านแบบข้าม เมื่อเราพอจะรู้จักหนังสือที่จะอ่านบ้างแล้ว ให้อ่านแต่ละหน้าอีกครั้งอย่างรวดเร็ว ขีดเส้นใต้คำ หรือเนื้อหาที่กำลังมองหา หากไม่เข้าใจคำใด ให้ใช้พจนานุกรมหาความหมายก่อนจะอ่านเนื้อหาต่อไป
  4. อ่านแบบสรุป หนังสือที่ดีส่วนใหญ่จะเขียนบทสรุป หรือใจความสำคัญของบทไว้ที่ย่อหน้าแรก เราจึงควรอ่านย่อหน้าแรกของแต่ละบทและประโยคสุดท้ายอย่างละเอียด ขณะอ่านให้ใช้ปากกาขีดเส้นใต้ใจความสำคัญ และจดสรุปใจความสำคัญของย่อหน้านั้น
  5. เลือกอ่าน ลองทบทวนบันทึกย่อที่ทำไว้ ดูว่าเราพบเนื้อหาหรือเรื่องที่ต้องการแล้วหรือยัง ถ้ายังได้เนื้อหาไม่ครบถ้วน เด็กๆ สามารถกลับไปทบทวนเนื้อหาเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้อง กับเรื่องที่เราต้องการได้ทันที เพราะเรารู้จักเนื้อหาคร่าวๆ ในหนังสือ เล่มนั้นหมดแล้ว
วันจันทร์ อ่านให้เป็น อ่านให้เร็ว
การอ่านเร็ว หมายถึง การอ่านด้วยความเร็วที่เหมาะสมกับเนื้อหา เพราะถ้าอ่านช้าเกินไป จิตใจเราจะเกิดความเบื่อหน่ายและจดจำอะไรไม่ได้ แต่ถ้าอ่านเร็วเกินไปเราจะพลาดเนื้อหาที่ต้องจดจำ หากเด็กๆ รู้จักวิธีการอ่านหนังสือให้เป็น เราจะสามารถอ่านหนังสือได้รวดเร็ว และจดจำเนื้อหาได้มากขึ้น
เทคนิคสำคัญที่ช่วยให้เราอ่านหนังสือได้รวดเร็ว
  1. ทำความคุ้นเคยกับคำศัพท์ในหนังสือ เราจะได้ไม่ต้องหยุดคิดถึงความหมายของคำนั้น
  2. ตั้งเป้าหมายในการอ่าน ว่าเราต้องการอะไรจากหนังสือเล่มนั้น
  3. สำรวจความยากง่ายของเนื้อหา ทำให้รู้ว่าควรใช้ความเร็วเท่าใดในการอ่านหนังสือเล่มนั้น
  4. ควบคุมอารมณ์ให้แจ่มใส ผ่อนคลาย และมีความสุข จะทำให้อ่านหนังสือได้ดีขึ้น
  5. มีสมาธิในการอ่าน โดยเลือกสถานที่ในการอ่านให้เหมาะสม เช่น ห้องสมุด ห้องเรียน เป็นต้น
  6. ฝึกฝนการอ่านด้วยสายตา โดยใช้นิ้วหรือดินสอ ชี้ไปยังคำที่กำลังอ่านทีละบรรทัด เพื่อให้สายตาจดจ่ออยู่กับเนื้อหาที่กำลังอ่าน ส่งผลให้จดจำเนื้อหาได้มากขึ้น
  7. จดสรุปใจความสำคัญในแต่ละหน้า เด็กๆ ต้องบอกตัวเองได้ว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร ทำไม และทำอย่างไร ?
  8. หมั่นฝึกฝนเทคนิคการอ่านให้เป็นนิสัย โดยทำเช่นนี้ทุกวัน อย่างน้อยวันละ 5 หน้า
วันอังคาร อ่านให้รู้ อ่านให้จำ 
เด็กๆ เคยอ่านหนังสือถึงตอนท้ายของหน้า แต่ต้องไปอ่านเนื้อหาแต่ต้นใหม่รึเปล่า นั่นเพราะเราอ่านหนังสือและจดจำเนื้อหาผิดวิธี การฝึกฝนความจำ การออกกำลังกายและรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ จะช่วยให้เราจดจำเนื้อหาที่อ่านได้มากขึ้น

เทคนิคสำคัญที่ช่วยในการจดจำสิ่งที่อ่าน
  1. อ่านอย่างตั้งใจ เพราะหากไม่ตั้งใจอ่าน เด็กๆ จะขาดสมาธิ ทำให้จดจำอะไรไม่ได้
  2. ตั้งเป้าหมายและแรงจูงใจในการอ่าน เช่น ถ้าอ่านหนังสือให้จบเร็ว ก็จะได้ไปเล่นกับเพื่อนเร็วขึ้น
  3. ทำสรุปเนื้อหาที่อ่าน โดยแทรกความคิดของเราลงไปด้วย จะทำให้เราจดจำเนื้อหานั้นได้นานขึ้น
  4. ขีดเส้นใต้คำสำคัญ เพื่อให้เรานึกถึงเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับคำสำคัญนั้นได้ในทันที
  5. เล่าเรื่องราวที่อ่านให้ผู้อื่นฟัง เพื่อทบทวนความจำและความเข้าใจของตนเอง
  6. วาดรูปหรือสัญลักษณ์แทนเนื้อหา ทำให้จำง่ายและนึกถึงเรื่องที่ต้องการได้รวดเร็วขึ้น
  7. ทบทวนเรื่องที่อ่านหลายๆ ครั้ง ช่วยให้เราจดจำเนื้อหาได้แม่นยำ และยาวนานมากขี้น
วันพุธ อ่านให้ง่าย อ่านให้ได้ผล
การอ่านในใจ คือ การอ่านหนังสือโดยไม่ออกเสียง ทำให้สมองได้ยินเสียงพูด แต่ไม่ทำให้เราเข้าใจเนื้อหาที่กำลังอ่าน เราจึงจดจำเนื้อหาไม่ได้เท่าที่ควร และการอ่านในใจกำหนดให้เราอ่านได้ทีละคำ แต่ถ้าเราอ่านด้วยสายตา เด็กๆ จะสามารถอ่านได้หลายคำในเวลาเดียวกัน แล้วการอ่านด้วยสายตาเป็นยังไงล่ะ

เทคนิคการอ่านด้วยสายตา
  1. มองคำให้เป็นกลุ่ม จะช่วยให้เด็กๆ อ่านและเข้าใจเนื้อหามากขึ้น เพราะสายตารับเนื้อหาต่างๆ ได้เร็วกว่าการอ่านในใจ และต้องทำควบคู่กับการใช้นิ้วชี้คำอ่าน ไล่ตามเนื้อหาจากซ้ายไปขวา ทำให้เรามีสมาธิและจดจำเนื้อหาได้อย่างไม่สับสน
  2. ป้องกัน ดูแล และรักษาสายตาโดย
    • หลับตาสัก 10-20 วินาที ทุกๆ 10-15 นาที
    • ถูฝ่ามือให้อุ่น และนำมาปิดตาจะทำให้รู้สึกสบายตามากขึ้น
    • หมั่นกระพริบตาบ่อยๆ เพื่อพักสายตา
    • บริหารสายตาด้วยการมองไปด้านบน ล่าง ซ้าย และขวา ให้ใกล้-ไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้
วันพฤหัสบดี อ่านให้ตรง อ่านให้นาน
การอ่านหนังสือให้ได้ผลดี ต้องเริ่มจากความชอบในเรื่องที่อ่าน เวลา และสถานที่ที่เหมาะสม แต่สิ่งที่รบกวน จะทำให้เราอ่านหนังสือไม่ได้ตามที่ตั้งใจไว้ ทำให้เราจดจำเนื้อหาที่อ่านไม่ได้ หากเราสามารถลดสิ่งรบกวนได้มากเท่าไร เราก็จะอ่านหนังสือได้ตรงและนานมากขึ้นเท่านั้น

เทคนิคการจัดการสิ่งรบกวนภายนอก
  1. สวมใส่หูฟังแล้วเปิดเพลงที่เหมาะสม ควรเป็นเพลงที่ไม่มีเนื้อร้อง และไม่เปิดเสียงดังเกินไป เพื่อให้เราผ่อนคลาย ขณะอ่านหนังสือ
  2. หาสถานที่เงียบๆ เพื่ออ่านหนังสือ โดยสถานที่นั้นควรสะอาด มีแสงสว่างเพียงพอ และอากาศถ่ายเทสะดวก
เทคนิคการจัดการสิ่งรบกวนภายใน
  1. วางแผนการอ่านหนังสือ เพราะในแต่ละวัน เรามีกิจกรรมต้องทำมากมาย เด็กๆ ควรทำตารางเวลากิจกรรมที่ต้องทำให้เสร็จวันนี้ โดยรวมเอาการอ่านหนังสือเข้าไปด้วยอย่างน้อยวันละ 1 บท
  2. หากวางแผนการอ่านหนังสือแล้ว ต้องตั้งใจอ่านตามแผนที่วางไว้ อย่าหยุดอ่านเพราะคิดว่าจะกลับมาอ่านให้จบ แต่หากเราจำเป็นต้องหยุดอ่าน ควรทำเครื่องหมายไว้ และกำหนดเวลาอ่านอีกครั้ง เมื่อทำกิจกรรมที่เข้ามาแทรกเสร็จแล้วจึงกลับมาอ่านต่อ
  3. เมื่อรู้สึกเหนื่อยล้าจากการอ่าน เด็กๆ ควรพักสายตา แล้วดื่มน้ำมากๆ หายใจเข้าลึกๆ หรือฟังเพลงที่มีจังหวะเร้าใจให้รู้สึกผ่อนคลาย
วันศุกร์ อ่านได้มาก อ่านได้ดี
เด็กๆ ได้เรียนรู้วิธีการอ่านหนังสือให้ได้ผลในแบบต่างๆ มาบ้างแล้วในวันก่อน แต่ไม่ว่าจะเป็นวิธีใด หากเด็กๆ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับการอ่านหนังสือประเภทต่างๆ ก็จะช่วยพัฒนาทักษะการอ่าน และทำให้เราสนุกสนานกับการอ่านมากขึ้น
เทคนิคการอ่านหนังสือประเภทต่างๆ
  1. หนังสือเรียน มีการจัดโครงสร้างหนังสือดีอยู่แล้ว เด็กๆ จึงควรนำเทคนิคการอ่าน 5 ขั้นตอน และเทคนิคการจำในวันอังคารมาใช้ เพื่อช่วยสรุปเนื้อหาของหนังสือเรียน
  2. หนังสือสารคดี เป็นหนังสือให้ความรู้คล้ายกับหนังสือเรียน แต่มีความสนุกสนานแทรกอยู่มากกว่า เราสามารถใช้เทคนิคการอ่าน 5 ขั้นตอน และเทคนิคการอ่านอย่างรวดเร็วมาใช้กับหนังสือประเภทนี้
  3. การอ่านหนังสือสอบ  เด็กๆ ต้องรู้ว่ามีเวลาเท่าไรก่อนจะถึงเวลาสอบ และควรรู้ว่ามีหนังสือหรือเอกสารที่ต้องอ่านมากน้อยแค่ไหน จากนั้นจึงทำรายการหัวข้อที่ต้องอ่าน และเขียนสิ่งที่ต้องอ่านเกี่ยวกับหัวข้อนั้นไว้ใต้หัวข้อ จากนั้นจึงจัดลำดับเนื้อหาที่ต้องอ่านก่อน-หลัง และกำหนดระยะเวลาที่จะอ่าน
วันเสาร์ อ่านให้ครบ อ่านให้เป็นนิสัย
การอ่านหนังสือให้ได้ผล ไม่สามารถกระทำได้ในทันทีทันใด แต่ต้องใช้ความพยายามและการฝึกฝนสม่ำเสมอ หากเด็กๆ ฝึกฝนวิธีการอ่านเป็นประจำ จะทำให้เรากลายเป็นเด็กเก่ง ที่สามารถอ่านหนังสือได้ และอ่านหนังสือเป็น

แนวทางการฝึกฝนการอ่านให้ได้ผล
  1. อย่าวางแผนการอ่านหนังสือให้ง่าย หรือยากเกินไป เพราะหากยากเกินไปจะทำให้เราอ่านหนังสือไม่ต่อเนื่อง แต่ถ้าง่ายเกินไปอาจทำให้เราขี้เกียจอ่านหนังสือ
  2. เลือกหนังสือเรื่องที่สนใจเพื่อใช้ในการฝึกฝนการอ่าน ควรเป็นหนังสือที่เด็กๆ ชอบเพื่อสร้างแรงจูงใจในการอ่านให้มากขึ้น
  3. มีความหลากหลาย เด็กๆ ควรเลือกหนังสือหลายๆ แบบเพื่อให้เกิดความคุ้นเคยกับโครงสร้างหนังสือแบบต่างๆ ทำให้สามารถอ่านหนังสือได้รวดเร็วขึ้น
  4. อ่านให้ได้อย่างน้อย 20 นาที และเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการฝึกฝนการอ่านคือช่วงเช้า เพราะเราจะมีสมาธิในการอ่านมากที่สุด
  5. ใช้เทคนิคต่างๆ ในบทความนี้กับหนังสือที่ต้องอ่านทั้งวัน เด็กๆ ควรนำเทคนิคเหล่านี้ไปใช้ในทุกสิ่งที่เราต้องอ่าน เพื่อสร้างความเคยชิน
  6. ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนและมีวินัยในการฝึกฝน ว่าทำไมเราต้องอ่านหนังสือให้ได้ผลและรวดเร็ว เพราะหากไม่มีเป้าหมายในการอ่าน เราจะหมดความตั้งใจได้ง่าย
  7. รวมกลุ่มกันอ่านหรือฝึกฝน เพื่อสร้างแรงกระตุ้นในการอ่าน โดยเราสามารถแบ่งปันเรื่องที่ได้จากการอ่านกับเพื่อนในกลุ่ม ปัญหาที่พบ และหาวิธีแก้ปัญหาร่วมกัน
  8. จดความรู้ใหม่ๆ ทุกวัน เช่น เกร็ดความรู้ คำศัพท์ใหม่ๆ โดยเราสามารถจดไว้ในสมุดเล่มเล็ก เพื่อเพิ่มความรู้ให้กับตนเองตลอดเวลา
คำคิด คำคม
จินตนาการสำคัญกว่าความรู้
- อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ -
(นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมัน)

เคล็ดลับของความสำเร็จ คือ ความมุ่งมั่นที่จะไปให้ถึงจุดหมาย
- เบนจามิน ดิสแรลิ -
(รัฐบุรุษชาวอังกฤษเชื้อสายยิว)

เรามีเวลาเพียงพอเสมอ ถ้าเราใช้มันอย่างถูกต้อง
- โยฮัน วูลฟ์กัง ฟอน เกอเต้ -
(กวี นักเขียนนวนิยาย นักเขียนบทละคร และนักปรัชญาชาวเยอรมัน)

คนที่รักการอ่านหนังสือ ย่อมไขว่คว้าทุกสิ่งทุกอย่างได้
- กอตฟรีด วิลไฮม์ ฟอน เลียบนิทซ์ -
(นักปรัชญา และนักคณิตศาสตร์ชาวเยอรมัน)

ความรู้คือขุมทรัพย์ แต่การปฏิบัติคือ กุญแจไขไปสู่ขุมทรัพย์
- โทมัส ฟูลเลอร์ -
(แพทย์ และนักเขียนชาวอังกฤษ)

แหล่งที่มา   เอกสารมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย (World Vision)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...