วันอังคารที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เป็นพระต้องเสียภาษีหรีอไม่ ...

วันนี้ (2 ก.ค. 2556) ได้รับการ share ผ่านทาง Facebook ในหัวข้อที่น่าสนใจและฉงนสนเท่ห์ (มองข้ามไม่ค่อยได้คิดถึง) เลยอย่านำมาแบ่งปันความรู้จากผู้ที่เชี่ยวชาญด้านภาษี มาฝากกัน

เป็นพระต้องเสียภาษีหรีอไม่ ...
เราทุกคนรู้กันดีอยู่แล้วว่า "หน้าที่" การเสียภาษีนั้นเป็นหน้าที่ของบุคคลธรรมดาทุกคน แต่ถ้าหากมีสถานะเป็น "พระสงฆ์" แล้วล่ะก็ ยังคงต้อง "เสียภาษี" อีกหรือไม่ เพราะอะไร?

ประเด็นที่ 1 พระสงฆ์ถือเป็นบุคคลธรรมดาหรือไม่

บุคคลธรรมดา หมายถึง คนซึ่งมีสิทธิและหน้าที่ได้ตามกฎหมาย ซึ่งการมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายได้นั้น ก็ต้องมี “สภาพบุคคล” แล้วเท่านั้น

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 15 ได้ให้ความหมายไว้ว่า “สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารกและสิ้นสุดลงเมื่อตายทารกในครรภ์มารดาก็สามารถมีสิทธิต่างๆ ได้ หากว่าภายหลังคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก”

ดังนั้น ถ้าหากว่าพระสงฆ์ท่านยังมีชีวิตอยู่ก็ถือว่ายังมีสภาพบุคคลที่ครบถ้วน ต่อจากนี้เราก็ต้องกลับมาดูเรื่องสิทธิและหน้าที่กันต่อว่า พระสงฆ์มีสิทธิตามกฎหมายหรือถูกจำกัดสิทธิอะไรบ้างหรือไม่ จากการค้นหาก็พบว่า มาตรา 106 ในรัฐธรรมนูญ ข้อ (2) ได้กำหนดให้พระภิกษุ สามเณร นักพรตและนักบวช เป็นบุคคลต้องห้าม มิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว แต่ไม่ได้จำกัดถึงเรื่องการเสียภาษีไว้

ประเด็นที่ 2 ใครมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้แก่ ผู้ที่มีเงินได้เกิดขึ้นระหว่างปีที่ผ่านมาโดยมีสถานะ อย่างหนึ่งอย่างใด ต่อไปนี้
1) บุคคลธรรมดา
2) ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
3) ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี
4) กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง
5) วิสาหกิจชุมชน ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เฉพาะที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล

จากประเด็นที่ 1 และ 2 เราจะสรุปได้ว่า พระสงฆ์มีสถานะเป็นบุคคลธรรมดา  ที่มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย แม้จะถูกจำกัดโดยห้ามใช้สิทธิเลือกตั้งก็ตาม แต่สิทธิในเรื่องสถานะการเสียภาษีนั้น พระสงฆ์ไม่ได้รับยกเว้นแต่อย่างใด

ประเด็นที่ 3 พระมีรายได้จากไหนบ้าง

รายได้หลักของพระสงฆ์ คือ รายได้จากการทำบุญตามศรัทธาของญาติโยมทั้งหลาย ทั้งในรูปแบบของสิ่งของและปัจจัย (เงิน) ผ่านทางการบิณฑบาตร กิจนิมนต์ และอื่นๆ ตามโอกาสและพิธีทางศาสนา

รายได้ของพระสงฆ์เราจะพบว่า รายได้ที่ได้เปล่าจากการที่ญาติโยมทั้งหลายถวายปัจจัยต่างๆ มาให้กับพระ ซึ่งตีความว่า ในกรณีนี้ รายได้ในส่วนนี้เข้าเกณฑ์ตามมาตรา 42(10) หรือเงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา เงินได้ที่รับจากการรับมรดก หรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธี หรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี ซึ่งได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้

โดยกรณีของการถวายสิ่งของและปัจจัยต่างๆ ถือเป็นการให้โดยเสน่หา หรือตามโอกาสขนบธรรมเนียมประเพณี จากทางญาติโยมเอง โดยที่พระไม่ต้องมีการร้องขอแต่อย่างใด (พระสงฆ๋ไม่สามารถร้องขอได้เนื่องจากผิดพระวินัย) ดังนั้น จึงเข้าตามมาตรา 42(10) ซึ่งได้รับสิทธิยกเว้นตามกฎหมายไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

แต่ถ้าหากรายได้มีลักษณะเป็นเงินเดือนจากหน้าที่การงานที่ทำ เช่น เงินเดือนที่ได้รับจากทางมหาวิทยาลัย หรือเงินที่ได้รับอุดหนุนจากทางงบประมาณแผ่นดิน ในส่วนนี้นั้นจะถือเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร (เงินได้ประเภทเงินเดือน) ซึ่งมีผลให้เงินได้ส่วนนี้ต้องนำมารวมเพื่อคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพราะไม่ได้รับสิทธิยกเว้นนั่นเอง

อ้างอิงหนังสือที่ กค 0811/9414 วันที่ 26 กันยายน 2544 เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีพระสงฆ์ได้รับเงินเดือน http://www.rd.go.th/publish/25288.0.html

ประเด็นที่ 4 รายได้รับจากการบริจาคนี่ต้องแยกว่าอันไหนบริจาคเข้าวัด และอันไหนบริจาคเข้าบัญชีส่วนบุคคล 

ในส่วนนี้อยู่ที่ญาติโยม ว่าจะแยกให้หรือไม่ นอกจากนั้นก็อยู่ที่ตัวของท่านพระสงฆ์เองว่าจะเจียดเงินส่วนไหนไว้ใช้ และส่วนไหนเข้าให้กับวัด โดยเงินได้ที่ได้รับเข้าวัดที่ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 นั้น จะถือเป็นเงินได้จากการบริจาคซึ่งได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี และทางผู้บริจาคสามารถขอหลักฐานเพื่อลดหย่อนภาษีได้ด้วย แต่หากบริจาคเข้าบัญชีส่วนบุคคล จะถือเป็นการให้โดยเสน่หาตามประเด็นที่ 3 ที่ว่ามาข้างต้น

ประเด็นที่ 5 ตัววัดเอง (เข้าใจว่าเป็นนิติบุคคล) ต้องมีผู้สอบบัญชีตรวจว่าเงินมี Internal Control ดีแค่ไหน

สำหรับวัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา (เขตที่พระราชทานแก่สงฆ์ เพื่อใช้เป็นที่สร้างพระอุโบสถ หรือเขตที่พระสงฆ์ใช้ประกอบสังฆกรรม) ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ถือว่ามีฐานะเป็นนิติบุคคล  แต่เข้าใจว่าไม่มีการตรวจสอบบัญชี เนื่องจากวัดไม่เข้าลักษณะเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามบทนิยามในมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ทำให้วัดจึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล และไม่มีหน้าที่ต้องนำส่งงบการเงินแต่อย่างใด

ดังนั้น วัดจึงไม่จำเป็นต้องมีผู้ตรวจสอบบัญชี แต่อยู่ในการกำกับดูแลของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม และกรมการศาสนา ซึ่งจะมีหน้าที่ตรวจสอบและดูแลเมื่อเกิดปัญหาเท่านั้น

แหล่งที่มา   Facebook : TaxBugnoms

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...