วันจันทร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เรารู้จักเมืองไทยดีแค่ไหน?

มีสิ่งดีๆ ที่น่าภาคภูมิใจอยู่มากมาย นับแต่อดีต ถึง ปัจจุบัน หลายสิ่งหลายอย่างล้วนเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ร้อยเรียงประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตแบบไทยเข้าไว้ด้วยกันอย่างงดงาม จนกลายเป็นเอกลักษณ์อันดีงามแบบอย่างไทย เราจึงควรศึกษาและอนุรักษ์สิ่งเหล่านี้ไว้ เพื่อทำความรู้จักเมืองไทยให้มากขึ้น และร่วมกันภาคภูมิใจตัวตนความเป็นชาติของไทยเรา
  1. อาหารไทย
  2. ธนบัตรไทย
  3. บัตรประจำตัวประชาชนไทย
  4. ธงไตรรงค์
  5. กองทัพไทย
  6. เพลงชาติไทย
  7. ว่าวไทย
  8. สวัสดี
  9. เมืองหลวงของไทย
  10. รถไฟไทย
  11. มวยไทย
  12. เหรียญทองโอลิมปิกของไทย
  13. สมุนไพรไทย
  14. เปิบ
  15. เครื่องดนตรีไทย
  16. ช้างไทย
  17. โขน
  18. เรือนไทย

อาหารไทย รสชาติความเป็นไทย ดังไกลสู่สากล
รู้หรือไม่? จากการสำรวจ 50 อาหารที่อร่อยที่สุดในโลก ประจำปีพ.ศ. 2554 โดยเว็บไซต์ Cable News Networks (CNN) ยกให้ แกงมัสมั่นไทย เป็นอันดับ 1 ของอาหารที่อร่อยที่สุดในโลก



ธนบัตรไทย เงินตรากระดาษ บันทึกประวัติศาสตร์ทรงคุณค่า
รู้หรือไม่? ประเทศไทยมีการประกาศใช้เงินกระดาษ หรือ ธนบัตรมาแล้วถึง 16 แบบ โดยมีมูลค่าต่ำสุดคือ 1 อัฐ หรือ 1/64  และมีมูลค่าสูงสุดคือ 500,000 บาท



บัตรประจำตัวประชาชนไทย สิทธิและตัวตนที่คนไทยทุกคนพึงมี
บัตรประจำตัวประชาชนไทย เป็นเอกสารทางราชการที่จะออกให้ผู้ที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น ใช้เป็นหลักฐานในการยืนยันตนเพื่อรับสิทธิ์ที่คนไทยทุกคนได้รับ เช่น การติดต่อราชการ การเลือกตั้ง เป็นต้น ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) ได้มีการตราพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2486 เพื่อใช้ในการปกครองและควบคุมราษฏร โดยกำหนดให้บุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีบริบูรณ์จนถึง 70 ปี ต้องมีบัตรประจำตัวประชาชน แต่ด้วยบัตรดังกล่าวมีลักษณะเป็นแผ่นพับขนาดใหญ่จึงไม่สะดวกต่อการพกพา ในปี พ.ศ. 2505 จึงเปลี่ยนมาเป็นบัตรที่มีลักษณะใกล้เคียงกับปัจจุบัน ก่อนจะปรับปรุงพระราชบัญญัติใหม่ให้อายุของผู้ที่ต้องมีบัตรสอดคล้องกับกฎหมายแรงงาน คือ 7 ปีบริบูรณ์

* ตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2554 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 10 กรกฎาคม 2554


ธงไตรรงค์ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ศูนย์รวมใจไทยทั้งผอง
ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีการใช้ธงพื้นแดงเพื่อแสดงความเป็นชาติจนถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มรูปจักรสีขาวบนพื้นธงสีแดง พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มรูปช้างเผือกซึ่งเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมือง
ธงไตรรงค์ รัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ธงไตรรงค์ รัชกาลที่ 1
ธงไตรรงค์ รัชกาลที่ 2

     ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนใช้ธงสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีแถบสีแดงและสีขาว เรียกว่า ธงแดงขาว 5 ริ้ว
ธงแดงขาว 5 ริ้ว

     เมื่อประเทศไทยเข้าร่วมเป็นฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 1 พ.ศ. 2460 ธงชาติไทยจึงเปลี่ยนมาใช้แถบสามสี สีแดงหมายถึงเลือดรักชาติ สีขาวคือธรรมะศาสนา และสีน้ำเงินคือสีประจำของพระมหากษัตริย์ ธงสามสี หรือ ธงไตรรงค์ จึงกลายเป็นอนุสรณ์การเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 และถูกบัญญัติให้เป็นธงประจำชาติไทยตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2460 เป็นต้นมา
ธงสามสี หรือ ธงไตรรงค์
สรุปภาพการเปลี่ยนแปลงธงชาติไทยยุคต่างๆ 

ภาพจาก    เว็บไซต์พิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย (ธงไตรรงค์)(Thai national flag museum)


กองทัพไทย รั้วของชาติ ผู้ปกป้องเอกราชของแผ่นดิน
รู้หรือไม่? วันกองทัพไทย ตรงกับวันที่ 18 มกราคมของทุกปี เป็นวันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช จอมทัพไทยแห่งกรุงศรีอยุธยากระทำยุทธหัตถี หรือการรบด้วยช้างจนมีชัยชนะเหนือสมเด็จพระมหาอุปราชาแห่งเมืองพม่า (เทียบเท่ากับกษัตริย์) ทำให้ประเทศไทยสามารถรักษาเอกราชไว้ได้ยาวนานกว่า 150 ปี


เพลงชาติไทย บทเพลงแห่งความภาคภูมิใจ จากสยามสู่ประเทศไทย
รู้หรือไม่? การบรรเลงเพลงชาติและเชิญธงชาติขึ้นสู่ยอดเสาในเวลา 8 โมงเช้า และเชิญธงชาติลงจากยอดเสาในเวลา 6 โมงเย็น เป็นหนึ่งในการปลูกฝังให้คนไทยรักชาติ โดยกำหนดให้เป็นเวลาเดียวกันกับการบรรเลงเพลงชาติ จากสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยตามกำหนดเวลาทำงานของราชการ


ว่าวไทย สมรภูมิน่านฟ้า จากสงครามสู่กีฬา
รู้หรือไม่? การละเล่นว่ายนี้มีปรากฎมาตั้งแต่สมัยเมืองสุโขทัย ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาว่าวยังถูกใช้เป็นกลศึกในรัชสมัยของพระเพทราชา ได้มีการใช้หม้อดินปีนผูกติดกับว่าวจุฬา ซึ่งมีขนาดใหญ่และเป็นรูปทรงของว่าวที่เป็นที่นิยมในสมัยนั้น ชักลอยข้ามกำแพงเมืองนครราชสีมาซึ่งเป็นกบฎ ก่อนจุดไฟให้ระเบิดเผาไหม้บ้านเมือง สร้างความโกลาหลจนกระทั่งสามารถปราบกบฎได้สำเร็จ
     การละเล่นว่าวไทยเป็นที่นิยมสูงสุดในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โดยจัดให้มีการชักว่าวต่อสู้แข่งขันกัน ซึ่งมีประเทศไทยเพียงชาติเดียวเท่านั้นที่จัดให้มีการแข่งขันประเภทนี้

สวัสดี  คำทักทายแบบไทย เอกลักษณ์แห่งความเป็นไทย
รู้หรือไม่? การทักทายหรืออำลาด้วยคำว่าสวัสดี มักกระทำคู่กับการยกมือไหว้ฝ่ายตรงข้าม หากเป็นผู้ที่มีอายุมากกว่าจะต้องยกมือไหว้ให้นิ้ว หัวแม่มือทั้งสองข้างอยู่บนดั้งจมูกพร้อมก้มศีรษะอย่างอ่อนน้อม แต่หากเป็นผู้ที่ม่อายุเท่ากันจะต้องยกมือไหว้ให้นิ้วชี้ทั้งสองข้างอยู่บนดั้งจมูกโดยไม่ต้องก้มศีรษะ


เมืองหลวงของไท จากบางกอกสู่กรุงเทพมหานคร
กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงประเทศไทยได้ถูกบันทึกลงในหนังสือบันทึกสถิติโลกกินเนสส์บุ๊คให้เป็นเมืองหลวงที่มีชื่อยาวที่สุดในโลก  สถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2325 และมีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนานกว่า 231 ปี
     สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงสถาปนาเมืองธนบุรีศรีมหาสมุทร  หรือ บางกอกให้เป็นราชธานีแห่งใหม่แทนกรุงศรีอยุธยา  จนกระทั่งถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จจพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพื้นที่ด้านตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นเป็นราชธานีแห่งใหม่เรียกว่า กรุงรัตนโกสินทร์อินท์อโยธา ในวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2325 ก่อนจะเปลี่ยนชื่ออีกครั้งในวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2515 เป็น กรุงเทพมหานคร เช่นในปัจจุบัน และได้รับคำขวัญว่า "กรุงเทพฯ ดุจเทพสร้าง เมืองศูนย์กลางการปกครอง วัด วัง งามเรืองรอง เมืองหลวงของประเทศไทย" เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

รถไฟไทย เส้นทางสายประวัติศาสตร์ เชื่อมไทยทั้งชาติเข้าด้วยกัน
     พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงสถาปนากิจการรถไฟไทย และทรงเปิดการเดินรถไฟสายแรก กรุงเทพ-อยุธยา ระยะทางกว่า 71 กิโลเมตรขึ้นมาเมื่อ 117 ปีที่แล้ว นับแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2439 และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกรมรถไฟหลวง และทรงแต่งตั้งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัคโยธินเป็นผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวงเป็นพระองค์แรก
     ขบวนรถไฟที่ใช้ในสมัยนั้น คือ รถจักรไอน้ำซึ่งใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในการขับเคลื่อน ทำให้เกิดประกายไฟเสี่ยงต่ออันตรายที่จะเกิดขึ้น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน จึงทรงสั่งซื้อรถจักรดีเซลซึ่งใช้น้ำมันในการขับเคลื่อนเข้ามาดำเนินกิจการแทนรถจักรไอน้ำเติม จอมพล ป.พิบูลสงครามตัดสินใจปรับปรุงการบริหารกิจการรถไฟเป็นรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้สามารถหารายได้จากการประกอบธุรกิจการเดินรถไฟมาบำรุงและซ่อมแซมส่วนที่เสียหาย และเปลี่ยนฐานะจากกรมรถไฟหลวงเป็นการรถไฟแห่งประเทศไทยจวบจนปัจจุบัน

มวยไทย ศิลปะการต่อสู้จากภูมิปัญญาไทย
รู้หรือไม่? มวยไทยในอดีตนิยมชกด้วยมือเปล่าหรือพันด้วยด้ายดิบ เรียกว่า คาดเชือก ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) การแข่งขันมวยไทยทำให้ผู้เข้าชกถึงแก่ความตาย เป็นเหตุให้การแข่งขันมวยไทยต้องสวมหมัดนวมตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

เหรียญทองโอลิมปิกของไทย ชัยชนะและความภาคภูมิใจของคนทั้งชาติ
โอลิมปิก คือ การแข่งขันกีฬาของมวลมนุษยชาติ นักกีฬาจากทั่วทุกมุมโลกต่างมุ่งมาเข้าร่วมการแข่งขันที่จัดขึ้นทุก 4 ปี ด้วยเป้าหมายเดียวกัน คือ เหรียญทองแห่งชัยชนะ
     ธงโอลิมปิกมี เครื่องหมาย 5 ห่วง แทน 5 ทวีปทั่วโลก คือ ทวีปเอเชีย ทวีปยุโรป ทวีอเมริกา ทวีปแอฟริกา และทวีปออสเตรเลีย กับ 6 สี อันได้แก่ สีฟ้า สีเหลือง สีดำ สีเขียว สีแดง และสีขาว แทนความเป็นหนึ่งเดียวกัน เพราะไม่มีธงชาติใดที่มีสีอื่นนอกเหนือไปจากนี้

สมุนไพรไทย หมอยาประจำบ้าน จากพืชพรรณธรรมชาติรอบครัว
รู้หรือไม่? ในปัจจุบันมีการประกาศให้ตำรับยาแผนโบราณไทยเป็นตำราแพทย์แผนโบราณของชาติ เพื่อคุ้มครองภูมิปัญญาไทยให้คงอยู่และเป็นที่ยอมรับจำนวน 3 เล่ม คือ คัมภีร์ธาตุพระนารายณ์ (ฉบับใบลาน) ตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวงรัชกาลที่ 5 เล่มที่ 1 และตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวงรัชกาลที่ 5 เล่มที่ 2


เปิบ วิธีการกินแบบดั้งเดิมของไทยลิ้มรสชาติแบบไทยๆ ด้วยสองมือ
รู้หรือไม่? เปิบ หมายถึง การใช้ปลายนิ้วขยุ้มข้าวใส่ปากตนเอง  ในอดีตเราสามารถพบวัฒนธรรมการเปิบได้ในหัวทุกภาคของประเทศไทย วัฒนธรรมการเปิบข้าวปฏิบัติกันมายาวนานจวบจนรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ประเทศไทยมีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับชาวต่างชาติอย่างมากมาย ส่งผลให้วัฒนธรรมการกินข้าวด้วยช้อนส้อมเข้ามาแทนที่การเปิบและนิยมกินข้าวบนโต๊ะมากกว่านั่งล้อมวงที่พื้นเหมือนเช่นในอดีต  ปัจจุบันเรายังสามารถพบการกินข้าวด้วยมือได้จากการเปิบข้าวเหนียว ซึ่งพบมากในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

เครื่องดนตรีไทย ดีด สี ตี เป่า ขับกล่อมโลกนี้ด้วยเสียงเพลง
รู้หรือไม่? ในสมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานี (เมืองหลวง) มีการเข้ามาของชาวต่างชาติมากมาย เกิดการแลกเปลี่ยนเครื่องดนตรีและการผสมผสานของเครื่องดนตรีจากหลากหลายชาติจนกลายมาเป็นวงดนตรี 3 ประเภท ที่สืบทอดมาจากสมัยกรุงศรีอยุธยาคือวงปี่พาทย์ ประกอบด้วย ซอด้วง ซออู้ จะเข้ ขลุ่ย โทน (ทับ) และฉิ่ง ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) เหล่าขุนนางและข้าราชการต่างต้องมีวงดนตรีไทยประจำบ้านเพื่อบ่งบอกฐานะ ก่อนจะมีการจัดตั้งกรมมหรสพขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ปัจจุบันการละเล่นดนตรีไทยถูกบรรจุเข้าไว้ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน และจะพบการละเล่นดนตรีไทยได้ในงานพิธีต่างๆ เช่น งานแต่งงาน งานศพ เป็นต้น

ช้างไทย สัตว์ประจำชาติไทย เพื่อนรักตัวใหญ่ของเด็กๆ
รู้หรือไม่? ช้างเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองไทยมาแต่อดีต นับแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานี ช้างไทยอยู่ในฐานะของขุนพลรบ และเป็นสัตว์พาหนะของพระมหากษัตริย์ยามออกรบกับศัตรู เราเรียกการรบบนหลังช้างว่า ยุทธหัตถี ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) ทรงโปรดเกล้าฯ ให้นำช้างที่มีลักษณะเป็นมงคลคือมีสีผิว นัยน์ตา และเล็บเป็นสีขาวมาใช้เป็นสัญลักษณ์แทนราชวงศ์จักรี ด้วยเหตุนี้ ช้างเผือกจึงถูกเลือกให้เป็นสัตว์ประจำชาติไทย และประกาศให้วันที่ 13 มีนาคม ของทุกปีเป็นวันช้างไทย

โขน  ศิลปะการแสดงประจำชาติ เอกลักษณ์งดงามแบบอย่างไทย
รู้หรือไม่? โขนจัดเป็นการละเล่นอย่างหนึ่งคล้ายละครรำ โดยผู้เล่นจะสวมหัวโขน หรือ เครื่องสวมหัวเพื่อรับบทบาทของตัวละครนั้นๆ ประกอบการแสดงดนตรีตามแบบละคร การแสดงโขนปรากฎอย่างชัดเจนครั้งแรกในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และปรับปรุงการแสดงตามสำนวนการประพันธ์บทละครเรื่อยมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) และเพิ่มความอลังการของการแสดงโขนด้วยฉากประกอบการแสดง สร้างความตื่นตาตื่นใจให้ผู้ชมอย่างมีมนต์ขลังจวบจนปัจจุบัน

เรือนไทย ความงดงามแห่งสถาปัตยกรรมไทย
รู้หรือไม่? การสร้างเรือนไทยในอดีตไม่ใช้ "ตะปู" เลยสักตัวเดียว เพราะคนไทยในสมัยนั้นโยกย้ายถิ่นฐานกันเป็นปกติ เมื่อใดที่ต้องการย้ายเรือนก็เพียงถอด "เดือย" หรือแท่งไม้ทรงกระบอกขนาดเล็กที่สอดไว้ตามรูที่ยึดแต่ละชิ้นส่วนของเรือนไว้ก็สามารถรื้อเรือนเป็นชิ้นๆ เรียงซ้อนกันบนแพ ล่องไปตามแม่น้ำเพื่อหาที่อยู่ใหม่ได้ทันที

แหล่งที่มา   แผ่นพับจากมูลนิธิศุภนิมิตรแห่งประเทศไทย ก.ค. 2556

1 ความคิดเห็น:

  1. ในปี พ.ศ. 2475 ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้นในประเทศไทย คณะราษฎรได้ประกาศใช้เพลงชาติมหาชัย ประพันธ์เนื้อร้องโดย เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา ) แต่ก็ไม่เป็นที่นิยมของประชาชน จึงได้เปลี่ยนมาเป็นเพลงชาติไทยฉบับที่แต่งทำนองโดย พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร) เป็นเพลงชาติอย่างเป็นทางการแทนเพลงสรรเสริญพระบารมี โดยหลวงนิเทศกลกิจได้ติดต่อให้พระเจนดุริยางค์ช่วยแต่งเพลงชาติหลายครั้งแล้วและถูกปฏิเสธ แต่ครั้งนี้หลวงนิเทศกลกิจอ้างว่าเป็นความต้องการของคณะราษฏร เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองในเวลานั้นยังไม่มีแน่นอน พระเจนดุริยางค์จึงรับคำแต่งเพลงชาติให้ โดยแต่งเสร็จในวันที่ 6 กรกฏาคม พ.ศ.2475 จากนั้นจึงได้เรียบเรียงเสียงประสานสำหรับให้วงดุริยางค์ทหารเรือบรรเลง ให้ใช้ทำนองเพลงคล้ายคลึงกับ เพลงมาซูแร็กดอมบรอฟสกีแยกอ และได้นำไปบรรเลงที่พระที่นั่งอนันตสมาคม โดยขอให้ปิดบังชื่อผู้แต่งไว้

    ตอบลบ

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...