
ในชั้นแรก กรมหมื่นมหิศรฯ ทรงยื่นขออนุญาตจัดตั้งให้เป็น “บุคคลัภย์” (Book Club) ในวันที่ 4 เดือนตุลาคม รัตนโกสินทร์ศก 123 (พ.ศ. 2448) โยแจ้งไว้ในหนังสือบริคณฑ์สนธิ ว่า จะประกอบกิจการห้องสมุด คือจะมีหนังสือประเภทต่างๆไว้บริการให้สมาชิกอ่านหรือขอยืมได้ เหตุที่ต้องพรางความจริงเช่นนั้น เพราะกรมหมื่นมหิศรฯ ทรงคาดการณ์ว่า กิจกาครั้งนี้มิใช่เป็นเรื่องที่จะปฏิบัติสำเร็จง่ายๆ เพราะขาดประสบการณ์ หากไม่สำเร็จจะได้ไม่น่าอัปยศนัก

ลักษณะการดำเนินธุรกิจ คือเป็นธนาคารพาณิชย์นั่นเอง โดยรับเงินฝากจากประชาชนและจ่ายดอกเบี้ยให้ในอัตราร้อยละ 7.50 ซึ่งมีเพียงระยะแรกเท่านั้นก็มีผู้นำเงินมาฝากถึง 80,000 บาทเศษ เมื่อนำมารวมกับทุนก่อตั้งของ “บุคคลัภย์” แล้ว สามารถนำไปให้กู้ยืมไปทำธุรกิจเกี่ยวกับที่ดิน สิ่งก่อสร้าง และรับจำนองได้

ต่อจากนั้นไม่นาน “บุคคลัภย์” กลายเป็นธนาคารโดยสมบูรณ์ เช่นเดียวกับธนาคารข้ามชาติที่มีอยู่ในสยาม ณ ขณะนั้น ในการขยายกิจการเป็นธนาคารนั้น กรมหมื่นมหิศรฯ ทรงออกหุ้น 1,000 หุ้น หุ้นละ 1,000 บาท (เรียกว่า แชร์) โดยมีแชร์ที่มี Face Value 1,000 บาท ขายในราคา 1,500 บาท

เมื่อจำหน่ายหุ้นได้ครบถ้วนแล้ว กรมหมื่นมหิศรฯ จึงทรงแต่งตั้งคณะกรรมการ 7 คน และได้ทำหนังสือกราบเรียนเจ้าพระยาเทเวศรวงษ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว. หวาน กุญชร) เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ ณ ขณะนั้น ให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตพิเศษเพื่อก่อตั้ง “บริษัทแบงก์สยามกัมมาจลทุนจำกัด” ขึ้นในวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2449 โดยได้รับพระราชทานตราอาร์มแผ่นดินมาเป็นตราประจำธนาคารด้วย

ในช่วงเวลานั้น การค้าขายของชาวกรุงเทพฯ กระจุกตัวอยู่แถวสำเพ็ง เยาวราช ทรงวาด และตลาดน้อย เนื่องด้วยมีทำเลติดแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นเส้นโลหิตของการคมนาคมขนส่งสินค้าทุกชนิด และบริเวณนั้นเป็นชุมชนชาวจีน ซึ่งมีอาชีพค้าขายมาตั้งแต่กรุงรัตนโกสินทร์เริ่มก่อตั้ง
ย่านตลาดน้อยดูจะเหมาะสมในการตั้งสำนักงานแห่งใหม่ที่สุด เพราะเป็นย่านการค้าเก่าแก่ของกรุงเทพฯ รองจากสำเพ็ง อีกทั้งเป็นย่านที่พักของชาวกรุงเทพฯ ทั้งชาวจีนและไทยหนาแน่น มีที่อยู่ซึ่งสร้างแบบเก๋งจีนมากมายมาตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาในละแวกไม่ไกลจากตลาดน้อยนัก เป็นที่ตั้งของธนาคารต่างประเทศยุคแรกในสยาม ได้แก่ ธนาคารฮ่องกง-เซี่ยงไฮ้ ธนาคารชาร์เติร์ด และธนาคารอินโดจีน ซึ่งสนองตอบผลประโยชน์ของลูกค้าซึ่งเป็นพ่อค้ากิจการโรงสี โรงเลื่อย โกดังสินค้า ข้าว และอื่นๆ ดังนั้น นับว่าสำนักงานถาวรแห่งแรกของ “แบงก์สยามกัมมาจล” เลือกทะเลที่ตั้งที่เหมาะสมมาก
สำนักงานแห่งนี้สร้างขึ้นเป็นอาคาร 3 ชั้นขนาดกลาง ซึ่งมีความสวยงามประณีตมาก กล่าวตือเป็นอาคารที่สร้างตามแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกที่เรียกว่า “โบซาร์” (Beaux Arts) ผสมกับ “นีโอคลาสสิก” (Neo-classic) ออกแบบโดยสถาปนิกชาวอิจาเลียนผู้มีชื่อเสียงในกรุงสยามในขณะนั้น คือ นายอันนิบาเล ริก๊อตติ (Annibale Rigotti) และนาย มาริโอ ดามันโย (Mario Tamagno) ซึ่งเป็นนายช่างออกแบบรับราชการอยู่ที่กระทรวงมหาดไทย

ริก๊อตติ และตามันโย ได้ร่วมกันออกแบบอาคารของสยามกัมมาจลแห่งแรกนี้ให้มีความละเอียดงดงามอย่างหาที่ติมิได้ บริษัทที่มาดำเนินการก่อสร้างได้แก่ ห้างยี ครูเซอร์ เสียค่าออกแบบก่อสร้างรวมค่าวัสดุวัสดุอุปกรณ์ และเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ที่นำเข้าจากต่างประเทศเปฌ็นส่วนใหญ่ สิ้นเงินไปราว 300,000 บาท

“แบงก์สยามกัมมาจล” ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “ธนาคารไทยพาณิขย์ จำกัด” เมื่อวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2482 ขณะที่ประเทศอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม ซึ่งมีนโยบายชาตินิยม และได้เปลี่ยนชื่อประเทศสยาม เป็นประเทศไทยด้วย
เมื่อธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ก่อสร้างที่ทำการสำนักงานแห่งใหม่ที่ถนนเพชรบุรี และได้ย้ายสำนักงานใหญ่ไปอยู่ ณ ที่นั้นในวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2514 สำนักงานแห่งเดิมที่ตำบลตลาดน้อยยังคงดำเนินงานต่อไปในฐานะเป็น “สาขาตลาดน้อย”

หากท่านมีธุรกิจธุรกรรมกับธนาคารไทยพาณิชย์สาขาตลาดน้อย หรือไปติดต่องานที่อาคาร 100 ปีย่านตลาดน้อยแห่งนี้ ท่านจะได้เห็นตึก 3 ชั้นที่มีความงดงามเช่นเดียวกับตึกสวยงามในยุโรป มีลวดบัว หัวเสา ปูนปั้น ในสถาปัตยกรรมแบบยุโรปครบถ้วนตามแม่แบบ ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจไม่เฉพาะแต่ชาวธนาคารไทยพาณิชย์เท่านั้น แต่ยังเป็นมรดกแห่งชาติของชาวไทยทั้งปวงอีกด้วย
หมายเหตุ .. ในปี พ.ศ. 2525 ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาถนนเพชรบุรี ซึ่งเดิมเป็นบ้านของ “มหาอำมาตย์โทพระยามหินทรเดชานุวัฒน์” (ใหญ่ ศยามานนท์) ก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2474 – 2476 ก็ได้รับรางวัลในฐานะเป็นอาคารอนุรักษ์ที่ดีเยี่ยมเช่นเดียวกัน
แหล่งที่มา เว็บไซต์ OkNation July 24, 2008
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น