วันเสาร์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ยก “ไตรภูมิพระร่วง” เป็นวรรณกรรมอาเซีย




ยก “ไตรภูมิพระร่วง” เป็นวรรณกรรมอาเซียน เสียดายเยาวชนไทยเมิน แนะชนชั้นปกครองอ่าน 

จากการสัมมนาทางวิชาการ “คติไตรภูมิ : อิทธิพลต่อวิถีสังคมไทย” จัดโดยกรมศิลปากร ณ โรงแรมเอส.ดี.อเวนิว กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2555 นางสุกุมล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า การที่ประเทศชาติจะพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไปในทิศทางที่พึงปรารถนานั้น คนในชาติจำเป็นต้องมีความรู้ ความเข้าใจในพื้นฐานของวัฒนธรรมของตนเองก่อน โดยเฉพาะในยุคโลกาภิวัฒน์ที่ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการสื่อสารมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิต หากคนในชาติไม่เข้าใจ และรู้เท่าทันภาวะดังกล่าว ก็คงไม่สามารถดำรงรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตนเองไว้ได้

ด้านคุณหญิง กุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ ประธานกรรมการวรรณคดีแห่งชาติ กล่าวว่า จากการที่กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนได้จัดทำโครงการวรรณกรรมอาเซียนตั้งแต่ปี 2525 ให้สมาชิกนำวรรณกรรมที่ยอดเยี่ยมของประเทศนั้นๆ ออกมาเผยแพร่และแปลเป็นภาษาอังกฤษ โดยวรรณกรรมที่เลือกมาจะต้องแสดงถึงวิถีชีวิต ความเป็นมาของแต่ละชาติอย่างถ่องแท้ สำหรับประเทศไทยได้นำเสนอวรรณกรรมเรื่อง ไตรภูมิกถาหรือไตรภูมิพระร่วง พระราชนิพนธ์ของพระมหาธรรมราชาที่ 1 ลิไทย เป็นวรรณกรรมอาเซียน เพราะถือว่าเป็นวรรณคดีที่ดีที่สุดในสมัยสุโขทัย บอกเล่าปรัชญาทางพระพุทธศาสนา วิถีชีวิตของคนไทย ตลอดจนความเชื่อในเรื่องทำความดีละความชั่ว
  
"นับว่าบรรพบุรุษไทยฉลาดปราดเปรื่องมาก มีความสามารถล้ำเลิศด้านวรรณกรรม สังคมศาสตร์ ศาสนา ภาษาอย่างยอดยิ่ง แต่น่าเสียดายที่คนไทยโดยเฉพาะเยาวชนในยุคนี้ไม่สนใจวรรณกรรม ไม่สนใจอดีตของชาติ ทั้งที่เราตั้งประเทศมา 700 กว่าปีแล้วรุ่งเรืองด้วยศิลปวัฒนธรรมมากมาย คนในสมัยนี้ก็พูดกันแต่เรื่องประชาธิปไตยแต่ไม่เข้าใจว่าประชาธิปไตยอย่างแท้จริงนั้นคืออะไร ดังนั้น เราต้องเข้าใจว่าประชาธิปไตยนั้นคือการเคารพส่วนรวมไม่ใช่ส่วนตัว ต้องเห็นแก่คนอื่นไม่เห็นแก่ตัว ไม่เห็นแต่พวกพ้อง ไม่ยกตนข่มท่าน เคารพสิทธิของคนอื่น ไม่ใช่คลั่งอำนาจมวลชน ไตรภูมิพระร่วงสอนเรื่องนี้ไว้ชัดเจน จึงอยากให้ชนชั้นปกครองปัจจุบันอ่านไตรภูมิพระร่วงด้วย”ประธานกรรมการวรรณคดี กล่าว

แหล่งที่มา    เว็บไซต์เดลินิวส์ วันพฤหัสบดีที่ 28 มิถุนายน 2555 เวลา 15:41 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...