วันอาทิตย์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ตะวันพิโรธ



ภาพที่ 1 วันที่ 21 กรกฎาคม ปี 2011   ดาวเทียมเอสดีโอขององค์การนาซา
บันทึกภาพความปั่นป่วนในบรรยากาศดวงอาทิตย์ในช่วงแสงอัลตราไวโอเลตความถี่สูงไว้ได้ 

ภาพที่ 2 วันที่ 9 สิงหาคม ปี 2011   การลุกจ้าระดับเอกซ์  (X-class flare) ซึ่งเป็นระดับสูงสุด
ตามการจัดระดับของโนอาในวัฏจักรสุริยะที่คาดว่าจะขึ้นถึงจุดสูงสุดในปี 2013 การลุกจ้าและการพ่นมวลคอโรนา
หรือซีเอ็มอีจะพุ่งเข้าหาโลกและอาจสร้างความเสียหายแก่สายส่งไฟฟ้าเป็นบริเวณกว้าง

ภาพที่ 3 วันที่ 22 กันยายน ปี 2011  บ่วงพลาสมาที่ใหญ่พอจะคล้องโลกได้ทีละหลายใบได้รับการบันทึกภาพไว้จากบริเวณ
ด้านข้างดวงอาทิตย์ ในขณะที่เหนือบ่วงมีเปลวสุริยะรูปร่างเหมือนคลื่นกำลังเหวี่ยงอนุภาคสุริยะมีประจุออกสู่อวกาศ

ภาพที่ 4 วันที่ 24 มกราคม ปี 2012 แสงเหนือโบกสะบัดเหนือสะพานซอมมารอยบนเกาะควาลอยทางตอนเหนือ
ของประเทศนอร์เวย์ในช่วงดวงอาทิตย์มีกัมมันตภาพเข้มข้น
วันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1859  ริชาร์ด คาร์ริงตัน นักดาราศาสตร์สมัครเล่น  ปีนขึ้นไปยังหอดูดาวส่วนตัวของเขาใกล้กรุงลอนดอน  เปิดช่องโดม และปรับกล้องโทรทรรศน์ให้ฉายภาพดวงอาทิตย์ขนาด 28 เซนติเมตรลงบนฉากรับภาพ ระหว่างที่เขาวาดจุดมืดลงบนแผ่นกระดาษก็ปรากฏ “ริ้วแสงสีขาวเจิดจ้าสองริ้ว” ขึ้นท่ามกลางจุดมืดกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่ง ในเวลาเดียวกัน เข็มของมาตรวัดสนามแม่เหล็กหรือแมกนิโทมิเตอร์ (magnetometer)  ที่หอดูดาวคิวในลอนดอนก็เริ่มกระดิกอย่างรุนแรง  ครั้นเช้ามืดวันรุ่งขึ้น แสงเหนือใต้สีแดง เขียว และม่วงก็ปรากฏเป็นแนวมหึมาบนท้องฟ้าเห็นได้ไกล ลงไปทางใต้ถึงฮาวายและปานามา

แสงสว่างวาบหรือการลุกจ้าที่คาร์ริงตันสังเกตเห็นคือ บทนำของมหาพายุสุริยะหรือการระเบิดของแม่เหล็กไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ปล่อยอนุภาคมีประจุหลายพันล้านตันเข้าใส่โลก  เมื่อคลื่นที่มองไม่เห็นนี้พุ่งปะทะสนามแม่เหล็กโลก ส่งผลให้กระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันในเครือข่ายสายโทรเลข ทำให้สถานีโทรเลขหลายแห่งต้องหยุดให้บริการ

มหาพายุสุริยะที่รุนแรงเหมือนเมื่อปี ค.ศ.1859 ยังไม่เคยเกิดขึ้นอีกเลย จึงเป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์ว่าพายุที่รุนแรงใกล้เคียงกันจะสร้างความเสียหายต่อโลกที่ต้องพึ่งพากระแสไฟฟ้ามหาศาลอย่างในปัจจุบันมากเพียงไร ตัวอย่างที่พอจะทำให้เห็นภาพ

  • เกิดขึ้นในวันที่ 13  มีนาคม ค.ศ.1989 เมื่อเกิดไฟดับครั้งใหญ่ในเมืองควิเบก ในครั้งนั้น พายุสุริยะที่รุนแรงราวสองในสามของปรากฏการณ์ที่คาร์ริงตันสังเกตเห็น ดับโครงข่ายไฟฟ้าซึ่งให้บริการผู้คนกว่าหกล้านคน 
  • พายุสุริยะระดับเดียวกับเมื่อปี ค.ศ. 1859 อาจทำลายหม้อแปลงไฟฟ้าไปมากกว่าจำนวนอะไหล่ที่ผู้ผลิตไฟฟ้าสำรองไว้ 
ส่งผลให้ผู้คนหลายล้านคนขาดแคลนแสงสว่าง น้ำดื่ม ระบบบำบัดน้ำเสีย ความอบอุ่น เครื่องปรับอากาศ เชื้อเพลิง บริการโทรศัพท์ อาหารสด และยารักษาโรคตลอดช่วงหลายเดือนที่ใช้ในการผลิตและติดตั้งหม้อแปลงทดแทน

คาร์ล ไชรเวอร์ จากห้องปฏิบัติการสุริยะและฟิสิกส์ดาราศาสตร์ของบริษัทล็อกฮีด มาร์ติน ยอมรับว่า “เราพยากรณ์ว่าดวงอาทิตย์จะทำอะไรล่วงหน้าได้เพียงไม่กี่วันเองครับ” หลังคาดการณ์กันว่า ช่วงสูงสุดของการเกิดกัมมันตภาพสุริยะ (solar activity) จะเริ่มขึ้นในปีนี้ ศูนย์ภูมิอวกาศต่างๆ จึงเพิ่มอัตรากำลังเจ้าหน้าที่และหวังว่าจะไม่มีเรื่องร้ายแรงเกิดขึ้น ไชรเวอร์เสริมว่า “เรากำลังศึกษาว่าภูมิอวกาศส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างไร เมื่อรู้แล้วว่าภัยคุกคามที่รออยู่รุนแรงเพียงใด สิ่งที่สมควรทำก็คือการเตรียมตัวให้พร้อม ไม่เช่นนั้นผลที่ตามมาอาจเลวร้ายจนเกินรับได้นะครับ”

น่าจะนานหลายศตวรรษกว่ามหาพายุแบบที่คาร์ริงตันเห็นจะเกิดขึ้นสักครั้ง แต่พายุสุริยะที่เล็กกว่านั้นก็สร้างความเสียหายได้มากแล้ว โดยเฉพาะเมื่อมนุษย์ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีที่ติดตั้งไว้ในอวกาศมากขึ้นเรื่อยๆ พายุสุริยะมีผลกระทบต่อบรรยากาศชั้นไอโอโนสเฟียร์เหนือผิวโลก 100 กิโลเมตร ในแต่ละปี นักบินเที่ยวบินพาณิชย์กว่า 11,000 เที่ยวที่บินผ่านขั้วโลกเหนือ ต้องอาศัยสัญญาณวิทยุคลื่นสั้นที่สะท้อนจากไอโอโนสเฟียร์เพื่อการสื่อสารเหนือเส้นละติจูดที่ 80 องศาขึ้นไป เมื่อภูมิอวกาศก่อกวนบรรยากาศชั้นไอโอโนสเฟียร์และทำให้ระบบสื่อสารที่ใช้คลื่นสั้นขัดข้อง นักบินต้องเปลี่ยนเส้นทางบินซึ่งอาจมีค่าใช้จ่ายสูงถึงเที่ยวบินละ 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ บรรยากาศชั้นไอโอโนสเฟียร์ที่ปั่นป่วนจะรบกวนสัญญาณจีพีเอส ด้วย ส่งผลให้การกำหนดพิกัดอาจผิดพลาดได้มากถึง 50 เมตร นั่นหมายความว่านักสำรวจต้องเก็บของกลับบ้าน แท่นขุดเจาะน้ำมันลอยน้ำจะปรับตำแหน่งให้อยู่กับที่ได้ยาก และนักบินยังไม่สามารถพึ่งพาระบบจีพีเอสที่นิยมใช้ตามสนามบินต่างๆ ในการลงจอดได้

การลุกจ้ายังอาจรบกวนวงโคจรดาวเทียม ด้วยการทำให้บรรยากาศร้อนขึ้นซึ่งจะเพิ่มแรงต้าน องค์การนาซาประมาณว่าสถานีอวกาศนานาชาติลดระดับลงวันละ 300 เมตรเมื่อดวงอาทิตย์เกิดการลุกจ้า นอกจากนี้ พายุสุริยะยังอาจทำลายระบบอิเล็กทรอนิกส์ในดาวเทียมสื่อสารจนกลายเป็น “ดาวเทียมไร้วิญญาณ” ที่ลอยคว้างไปในวงโคจรและใช้การไม่ได้

โครงข่ายไฟฟ้าส่วนใหญ่บนพื้นโลกต่างจากดาวเทียมในอวกาศ ตรงที่โครงข่ายไฟฟ้าไม่มีระบบป้องกันพายุแม่เหล็กโลก (geomagnetic storm) ระดับรุนแรง เนื่องจากหม้อแปลงไฟฟ้าขนาดใหญ่มักต่อสายดินลงพื้นโลกโดยตรง พายุแม่เหล็กโลกจึงอาจเหนี่ยวนำให้เกิดกระแสที่ทำให้หม้อแปลงร้อนจัดจนลุกเป็นไฟหรือระเบิดได้ ความเสียหายอาจรุนแรงถึงขั้นหายนะ จอห์น แคปเพนแมน จากบริษัทที่ปรึกษาด้านการวิเคราะห์พายุ (Storm Analysis Consultants)  บอกว่า  พายุสุริยะอย่างที่เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1859 หากเกิดขึ้นในวันนี้อาจทำให้ไฟฟ้าดับทั้งระบบ ถึงขนาดทำให้คนหลายร้อยล้านคนต้องกลับไปใช้ชีวิตเหมือนสมัยที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้เป็นเวลาหลายสัปดาห์หรืออาจจะหลายเดือน

ดังนั้น นักวิจัยจึงมุ่งพยากรณ์ความรุนแรงของพายุสุริยะ และเวลาที่น่าจะมาถึงบรรยากาศโลก เพื่อเตรียมความพร้อมให้ระบบต่างๆ ที่อาจได้รับความเสียหาย เมื่อเดือนตุลาคม 2554 ที่ผ่านมา องค์การบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐ หรือโนอา (National Oceanic and Atmospheric A2-ministration: NOAA) ได้เริ่มใช้แบบจำลองคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ชื่อ เอ็นลิล (Enlil) แบบจำลองนี้สามารถทำนายเวลาที่ซีเอ็มอีหรือการพ่นมวลคอโรนา (Coronal Mass Ejection: CME – การปะทุพลาสมาร้อนปริมาณมหาศาลออกสู่อวกาศ) จะมาถึงโลกได้ช้าเร็วไม่เกิน 6 ชั่วโมง ซึ่งดีกว่าแบบจำลองรุ่นก่อน ๆ ถึงสองเท่า ล่าสุดเอ็นลิลพยากรณ์ว่า พายุสุริยะที่อาจมีขนาดใหญ่จะเกิดขึ้นในวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา ผลปรากฏว่าคลาดเคลื่อนไปเพียง 45 นาทีเท่านั้น พายุคราวนั้นเอาเข้าจริงเป็นแค่สายลมแผ่ว ๆ แต่คราวหน้าเราอาจไม่โชคดีอย่างนี้อีก

เรื่อง : ทิโมที แฟร์ริส  นิตยสารเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก  ฉบับภาษาไทย เดือนกรกฎาคม

แหล่งที่มา    เว็บไซต์เดลินิวส์ วันอาทิตย์ที่ 1 กรกฎาคม 2555 เวลา 00:00 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...