วันอาทิตย์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ชุดปลูกผักไฮโดรฯ สำเร็จรูป ง่ายสบาย เอาใจคนรักสุขภาพ


เพิ่มคำอธิบายภาพชุดแปลงปลูกผัก
ไฮโดรโปนิกส์สำเร็จรูป ‘I-Green’  
ด้วยกระแสรักสุขภาพ “ผักไฮโดรโปนิกส์” (Hydroponics) จึงได้รับความนิยมจากผู้บริโภคสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะเป็นผักที่ปลูกโดยปลอดสารพิษ และมีคุณค่าทางโภชนาการสูง อย่างไรก็ตาม ถ้าคิดจะปลูกเป็นผักสวนครัวไว้กินเองในครัวเรือน คงเป็นเรื่องยุ่งยากน่าดู เพราะกระบวนการปลูกต้องอาศัยเทคโนโลยีในการวางระบบต่างๆ ทั้งเรื่องรางปลูก การไหลเวียนของน้ำ และส่งสารอาหาร จึงเป็นเรื่องไกลตัวที่คนทั่วไปจะสามารถปลูกไว้กินเองได้        

แต่ด้วยไอเดียของหนุ่มช่างคิดอย่าง “ทิพากร วิริวิทยา” สร้างสรรค์ชุดแปลงปลูกผักไฮโดรโปนิกส์สำเร็จรูป แบรนด์ ‘I-Green’ ช่วยให้การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์เป็นเรื่องง่ายดายอย่างไม่น่าเชื่อ ขนาดคุณตาคุณยายวัยเกษียณ หรือแม่บ้านทั่วไปก็สามารถลงมือปลูกเองได้ แถมผลผลิต และคุณภาพไม่เป็นรองซื้อจากห้างสรรพสินค้า แม้แต่น้อย

 
ทิพากร วิริวิทยา 

 “ผมเรียนจบมาด้านวิศวกรรมไฟฟ้า จากนั้น ก็ทำงานประจำเหมือนคนทั่วไป แต่ส่วนตัวแล้ว ผมมีความสนใจเรื่องการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์อย่างมาก อยากจะปลูกไว้กินเองในครอบครัว เลยเริ่มศึกษาอย่างจริงจังตั้งแต่เมื่อ 7 ปีที่แล้ว ทั้งจากตำรา และยังไปเข้าอบรมหลักสูตรการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์โดยตรงจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์” หนุ่มนักประดิษฐ์เผยจุดเริ่มต้น

ทิพากรเริ่มจากทำเป็นงานอดิเรก แต่ด้วยความเป็นคนช่างคิด และช่างทดลอง ทำให้เห็นจุดอ่อนของตัววัสดุรางปลูกที่ขายทั่วไปเป็นอุปกรณ์นำเข้า ทำมาจาก “PVC” ทว่า เนื่องจากต้องวางไว้กลางแจ้ง ตากแดด ตากฝนตลอดเวลา รางปลูกที่ทำจาก PVC จะเกิดปัญหาแห้งกรอบและแตกในที่สุด     

จากที่เห็นปัญหาดังกล่าว เขาเริ่มทดลองหาวัสดุอื่นมาทดแทน โดยเลือกเป็นวัสดุ “UPVC” ซึ่งเป็น PVC ชนิดที่ใส่สารป้องกันแสง UV ไว้ มีความหนากว่า 2 มิลลิเมตร จึงมีความแข็งแรงและทนทานสูงกว่ามาก อายุการใช้งานมากกว่า 10 ปี ส่วนใหญ่วัสดุชนิดนี้จะนำไปใช้ผลิตเป็นอุปกรณ์เกี่ยวกับบ้านที่ใช้งานกลางแจ้ง เช่น หน้าต่าง ระเบียงประตู กันสาด เป็นต้น โดยวัสดุ “UPVC” ที่เขาเลือกเป็นเกรดที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ “อาหาร” จึงมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค

ในส่วนขาตั้งรางปลูกทำจากวัสดุ UPVC เช่นกัน แตกต่างจากทั่วไปที่นิยมเป็นขาตั้งเหล็ก ดังนั้น ขาตั้งที่ทำจากวัสดุ UPVC ตัดปัญหาเรื่องสนิมออกไปได้ เช่นเดียวกับนอตยึดทุกตัวเป็นอะลูมิเนียม ไม่เกิดปัญหาสนิมเช่นกัน


นอกจากเรื่องวัสดุแล้ว ยังได้ปรับเปลี่ยนดีไซน์ของรางปลูกด้วย โดยเพิ่มความสูงเป็น 6 เซนติเมตร ขณะที่รางปลูกทั่วไปจะมีความสูง 5 เซนติเมตร รวมถึง ได้คิดระบบจ่ายสารอาหารแบบกึ่งฟิล์ม NFT (Nutrient Film Technique) ช่วยให้น้ำไหลเวียนได้ดี ผักดูดซึมสารอาหารได้เต็มประสิทธิภาพ ช่วยให้ผลผลิตผักมีน้ำหนักกว่า 150 กรัม ซึ่งถือว่าเป็นน้ำหนักมาตรฐานสากล เฉลี่ยอยู่ที่ 130-150 กรัม และสูงกว่าค่าเฉลี่ยผักไฮโดรโปนิกส์ที่ปลูกโดยรางปลูกทั่วไปในเมืองไทยที่น้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 110 กรัม

“รางปลูกที่ในเมืองไทยใช้กันอยู่ ส่วนใหญ่จะนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งการออกแบบรางปลูก ก็จะคิดคำนวณจากปัจจัยแวดล้อมของเขา แต่พอนำเข้ามาใช้ในเมืองไทย ซึ่ง “แสงแดด” ร้อนและแรงกว่าเมืองนอกมาก ทำให้ผลผลิตที่ได้น้ำหนักจะต่ำกว่ามาตรฐาน เช่น รางปลูกความสูง 5 เซนติเมตร เมื่อมาเจอแสงแดดแรงๆ ของเมืองไทย ระดับน้ำในรางก็จะแห้งเร็วกว่าปลูกที่ต่างประเทศ ทำให้ผักไม่ได้ดูดซับสารอาหารเต็มที่ ผลผลิตที่ได้ก็จะลดขนาดตามไปด้วย” ทิพากร อธิบายเสริม

ในส่วนระบบได้ออกแบบเป็นชุดปลูกผักไฮโดรโปนิกส์แบบสำเร็จรูป โดยเป็นรางปลูกที่ทำงานร่วมกับถังใส่สารอาหาร (น้ำปุ๋ย) พร้อมติดตั้งระบบปั๊มน้ำไว้ โดยใช้ไฟฟ้าระดับ 12 วัตต์ ไม่เป็นอันตรายต่อคน หน้าที่ของผู้ปลูกเพียงแค่ผสมน้ำปุ๋ยสูตร A และ B ตามสัดส่วนที่กำหนด เทใส่ลงในถัง แล้วเสียบปลั๊กไฟฟ้าให้เครื่องปั๊มน้ำทำงาน หลังจากนั้น ชุดปลูกก็จะทำงานเองโดยอัตโนมัติ ผู้ปลูกแค่ค่อยผสมน้ำปุ๋ยและเทเติมใส่ถังทุกๆ 2 สัปดาห์ต่อครั้งเท่านั้น     

จากเบื้องต้นแค่ทำเล่นเป็นงานอดิเรก ปลูกไว้กินเองในครัวเรือน แต่ด้วยการออกแบบระบบที่ลงตัว ใช้งานได้ง่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เริ่มมีผู้สนใจติดต่อขอซื้อจำนวนมาก ดังนั้น ได้ต่อยอดทำเป็นธุรกิจจริงจัง โดยสร้างโรงงาน พร้อมจดแบรนด์ว่า ‘I-Green’

ชุดรางปลูกแบบขั้นบันได 
เขา ย้ำว่า จุดเด่นของชุดปลูกผักฯ ‘I-Green’ อยู่ที่ความแข็งแรงทนทาน อายุการใช้งานกว่า 10 ปี อีกทั้ง ออกแบบระบบ และรูปทรงให้เหมาะสมต่อการปลูกในสภาพแวดล้อมของเมืองไทย ปัจจุบัน มี 3 รุ่น ทั้งแบบรางเปิด และรางปิด ได้แก่ 

  1. รุ่นรางปลูกแบบขั้นบันได ขนาด 70x100x90 ซม. (กว้าง x ยาว x สูง) จำนวนปลูก 30 ต้น ราคา 6,500 บาท 
  2. รุ่นรางนอน ขนาด 120x300x75 ซม. (กว้าง x ยาว x สูง) จำนวนปลูก 100 ต้น ราคา 12,500 บาท และ 
  3. รุ่นรางนอน ขนาด 120x600x75 ซม. (กว้าง x ยาว x สูง) จำนวนปลูก 200 ต้น พร้อมระบบปิดเปิดปั๊มอัตโนมัติ ราคา 23,000 บาท

ทั้งนี้ ทุกรุ่นจะได้รับอุปกรณ์เสริมครบชุด เช่น ถังใส่สารอาหาร ปั๊มน้ำ กรวยปลูกต้นกล้า ฟองน้ำเพาะต้นกล้า ถาดเพาะต้นกล้า สารอาหารสูตร A และB เมล็ดพันธุ์ผัก และคู่มือการปลูก นอกจากนั้น มีการฝึกอบรมการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ รวมถึง แนะนำจุดวางชุดแปลงปลูก และซ่อมบำรุงฟรีในกรณีเสียหายอันเกิดจากการผลิตของโรงงาน

ทิพากร เผยด้วยว่า การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์แต่ละรอบ ใช้เวลา 45 วัน จากการทดสอบและใช้งานจริงของชุดแปลงปลูกผัก ‘I-Green’ เมื่อนำต้นกล้าขึ้นวางบนรางปลูกแล้ว อัตราการรอด 100% ภายใต้เงื่อนไขว่า จุดที่ตั้งวางชุดปลูก ต้องเจอแสงแดดอย่างน้อย 6 ชั่วโมงต่อวัน     

ด้วยความง่ายของชุดอุปกรณ์ดังกล่าว กำหนดกลุ่มลูกค้าเป้าหมายไว้ที่ผู้รักสุขภาพทั่วไป ที่ต้องการนำชุดแปลงปลูกผักไฮโดรโปนิกส์สำเร็จรูปไปปลูกเพื่อกินเองในครัวเรือน หรือปลูกเพื่อเป็นงานอดิเรก รวมถึง สามารถใช้เป็นเฟอร์นิเจอร์สำหรับตกแต่งสวนได้ด้วย

ชุดรางปลูกแบบแนวนอน
ในส่วนช่องทางตลาดนั้น มีเพียงทางเว็บไซต์ www.igreenthai.com โดยลูกค้าส่วนใหญ่จะมาจากการบอกปากต่อปาก ลูกค้ามีทั้งกลุ่มผู้สูงอายุใช้เวลาว่างยามเกษียณปลูกเพื่อเป็นงานอดิเรก ตลอดจนกลุ่มแม่บ้านที่ปลูกไว้ประกอบอาหารให้แก่สมาชิกครอบครัว รวมถึง กลุ่มลูกค้าที่ต้องการนำไปใช้ปลูกเพื่อการพาณิชย์ด้วย

“ปัจจุบัน มีผู้ผลิตชุดแปลงปลูกผักไฮโดรโปนิกส์อยู่หลายราย แต่ละรายก็จะมีจุดเด่นของตัวเองต่างกันไป ซึ่งชุดอุปกรณ์‘I-Green’ เรามีเจตนาชัดเจนว่า อยากให้การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์เป็นเรื่องใกล้ตัว เหมาะจะปลูกในครัวเรือน เพราะใช้วัสดุแข็งแรงทนทาน สะดวกต่อการดูแลรักษา ช่วยให้ลูกค้ารู้สึกว่าการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์เป็นเรื่องง่ายมาก ใครๆ ก็สามารถทำได้” เจ้าของไอเดีย ระบุในตอนท้าย     

รู้จักผัก "ไฮโดรโปนิกส์" 
"ไฮโดรโปนิกส์" (Hydroponics) เป็นการปลูกพืชโดยไม่ใช้วัสดุปลูก คือ จะปลูกพืชลงบนสารละลายธาตุอาหารพืช ให้รากพืชสัมผัสกับสารอาหารโดยตรง ตามรากศัพท์เดิมมาจาก ไฮโดร (Hydro) แปลว่าน้ำ และ โพโนส (Ponos) แปลว่า งาน รวมความคือ วอเตอร์-เวิร์คกิ้ง (Water-working) หมายถึงการทำงานของน้ำที่มีสารละลายธาตุอาหารผ่านรากพืช ซึ่งต้องมีการควบคุมอุณหภูมิของสารละลายธาตุอาหารพืช ให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืชให้ดี

ข้อดี เป็นระบบที่ให้ผลผลิตสะอาด เนื่องจากไม่มีการใช้ดิน สามารถลดขั้นตอนการทำความสะอาดที่ทำให้ผลผลิตต้องโดนน้ำและมีโอกาสเน่าเสียได้ สามารถหลีกเลี่ยงหรือลดการใช้สารเคมีในการป้องกันและกำจัดศัตรูพืชได้ ทว่า มีข้อเสียต้นทุนสูง สิ้นเปลืองพลังงาน และจำเป็นต้องใช้ความชำนาญในการดูแล

โทร.02-525-6054 , 081-130-3846 หรือ www.igreenthai.com


แหล่งที่มา   เว็บไซต์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ 25 กรกฎาคม 2555 08:56 น.  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...