วันที่ 12 มิถุนายน 2555 เว็บไซต์บีบีซีนิวส์ของอังกฤษ รายงานผลการสำรวจของเมอร์เซอร์กรุ๊ป เกี่ยวกับการจัดอันดับเมืองที่มีค่าครองชีพสูงที่สุดในโลก โดยการประเมินจะใช้นครนิวยอร์กของสหรัฐฯ เป็นฐานสำหรับอ้างอิง เพื่อเปรียบเทียบราคาสินค้าและบริการต่างๆ มากกว่า 200 รายการ และพิจารณาจากค่าใช้จ่ายของชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ใน 214 เมืองทั่วโลกระหว่างเดือน มี.ค. 2011-2012
สำหรับผลการสำรวจพบว่า กรุงโตเกียว นครหลวงของญี่ปุ่น ครองแชมป์เมืองที่มีค่าครองชีพแพงที่สุดในโลกของผู้อาศัยที่เป็นชาวต่างชาติ ขณะที่เมืองที่มีค่าครองชีพต่ำที่สุด คือ นครการาจี ประเทศปากีสถาน โดยมีค่าครองชีพถูกกว่ากรุงโตเกียวประมาณ 3 เท่า
10 อันดับเมืองที่มีค่าครองชีพสูงที่สุดในโลก
1. กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
2. กรุงลูอันดา ประเทศแองโกลา
3. นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น
4. กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย
5. นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
6. ประเทศสิงคโปร์
7. เมืองซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (เป็นที่ 6 ร่วมกับสิงคโปร์)
8. กรุงเอ็นจาเมนา สาธารณรัฐชาด
9. ฮ่องกง
10. เมืองนาโงยา ประเทศญี่ปุ่น
จากผลวิจัยข้างต้น กรุงโตเกียวของประเทศญี่ปุ่น กลายเป็นเมืองที่ค่าใช้จ่ายในด้านต่างๆ ของชาวต่างชาติสูงที่สุด แซงหน้ากรุงลูอันดา เมืองหลวงของประเทศแองโกลา ซึ่งตกมาอยู่ที่ 2 ส่วนเมืองที่ค่าครองชีพถูกที่สุดคือกรุงการาจี ของปากีสถานอันดับที่ 214
โดยเมื่อเปรียบเทียบโดยใช้กางเกงยีนส์หนึ่งตัว พบว่า
- ที่กรุงลูอันดา มีราคาประมาณ 174 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 5,394 บาท)
- ขณะที่ชาวต่างชาติในรัสเซีย ต้องจ่ายค่าหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษประมาณ 9.60 ดอลลาร์ (ราว 297 บาท)
- ส่วนกรุงโตเกียว ราคากาแฟหนึ่งแก้วตกอยู่ที่ประมาณ 8.15 ดอลลาร์ (ราว 252 บาท)
- ขณะที่ค่าเช่าอพาร์เมนท์หรูที่ไม่มีเฟอร์นิเจอร์รายเดือน ตกอยู่ที่ราว 4,766 ดอลลาร์ (ประมาณ 147,746 บาท)
ประเทศที่มีค่าเงินแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้เมืองในประเทศนั้นมีอันดับค่าครองชีพสูงขึ้นตามไปด้วย เช่น เมืองในประเทศออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เมืองอเดเลดในออสเตรเลียมีอันดับพุ่งขึ้น 19 อันดับมาอยู่ที่ 27
นอกจากนี้ ค่าครองชีพในภาพรวมของเมืองในเอเชียแปซิฟิก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีแนวโน้มสูงขึ้น เห็นได้จาก
- เมืองสิงคโปร์อยู่ที่ 6 ขยับขึ้นมาจากอันดับ 8 เมื่อปี 2011
- เซี่ยงไฮ้และกรุงปักกิ่ง ที่ขยับขึ้นมา 5 และ 3 อันดับ (ตามลำดับ)
- ขณะที่ กรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซียอยู่ที่ 61 ขยับขึ้นมา 8 อันดับ
- กรุงเทพฯของไทย อยู่ที่ 81 เพิ่มขึ้น 7 อันดับ
- ส่วนกรุงกัวลาลัมเปอร์ ของมาเล์เซียขยับขึ้น 2 อันดับอยู่ที่ 102 โดยเป็นผลมาจากเศรษฐกิจกำลังขยายตัว และค่าเงินผันผวน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น