นายอัมมาร์ สยามวาลา นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า หากประเทศไทยมีการกระจายรายได้ที่ดี การเก็บเงินร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล 30 บาท จะไม่เกิดปัญหา แต่ในปัจจุบันคงเป็นเรื่องยากที่ผ่านมาจึงคัดค้านแนวคิดดังกล่าวมาโดยตลอด
นายอัมมาร์ กล่าวว่า อยากให้ทบทวนว่าหากมีการร่วมจ่ายจริงจะแก้ปัญหางบประมาณได้จริงหรือไม่ เพราะชัดเจนว่าเม็ดเงินที่ได้จากการเก็บ 30 บาท มีจำนวนเพียงเล็กน้อยและไม่สามารถแก้ปัญหาได้
นพ.อมร นนทสุต อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนักวิชาการอาวุโส กล่าวว่า การรื้อฟื้นเก็บ 30 บาทของรัฐบาลเพื่อไทย เข้าข่ายพายเรือในอ่าง ซึ่งนอกจากจะไม่เกิดประโยชน์ยังจะสร้างปัญหาในอนาคต
นพ.อมร กล่าวว่า การเก็บค่ารักษาพยาบาล 30 บาท โดยให้ประชาชนร่วมจ่าย เป็นการคิดในกรอบของทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ซึ่งขาดมิติทางสังคม ส่วนตัวเห็นว่าประเทศไทยต้องมีระบบประกันสุขภาพหลายระบบ
ด้านชมรมแพทย์ชนบท แสดงจุดยืนคัดค้านการเก็บ 30 บาทเช่นกัน โดยเห็นว่าเป็นเพียงการสร้างโลโก้ทางการเมือง แต่จะทำให้ประชาชนเดือดร้อนเพราะเข้าไม่ถึงการบริการ
นอกจากนี้ ชมรมแพทย์ชนบทยังไม่เชื่อว่าการเก็บ 30 บาท จะช่วยยกระดับคุณภาพบริการให้กับประชาชน ตามที่นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข กล่าวอ้าง เพราะรัฐบาลพรรคเพื่อไทยได้เลือกที่จะปรับลดงบเหมาจ่ายรายหัวของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ลง ซึ่งนับเป็นรัฐบาลแรกตั้งแต่ก่อกำเนิดระบบบัตรทอง
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2555 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการ สปสช. มีมติเห็นชอบให้จัดเก็บเงินสมทบค่ารักษาพยาบาล 30 บาท จากผู้ป่วยที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2555 นี้ นำร่องเก็บเฉพาะโรงพยาบาลขนาดใหญ่ อาทิ โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป เป็นเวลา 6 เดือน
แหล่งที่มา เว็บไซต์โพสทูเดย์ 18 มิถุนายน 2555 เวลา 12:07 น.
เก็บ 30 บาท โบ๊ยให้ รพ.ตัดสินใจเองว่าจะเก็บหรือไม่
แพทย์ชนบทเผย “ยิ่งลักษณ์” สั่งเบรก สปสช.ไม่ให้บังคับเก็บ 30 บาทรักษาโรค โบ๊ยให้ รพ.ตัดสินใจเอง ผู้ป่วยไตวายโวยมติ 3กองทุนสุขภาพมั่ว ไม่ได้สร้างความเท่าเทียมให้ผู้ป่วยไตวายจริง
วันที่ 22 มิ.ย.55 นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ เลขาธิการมูลนิธิแพทย์ชนบทและอดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท เปิดเผยว่าในการประชุมสร้างความเท่าเทียมของ 3 กองทุนประกันสุขภาพ ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานวันที่ 21 มิ.ย. 2555 ที่ผ่านมานายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) ได้เสนอมติการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ที่ให้มีการกลับมาเก็บค่าธรรมเนียม 30 บาทจากผู้ป่วยที่ไปใช้บริการโรงพยาบาลขนาดใหญ่ตั้งแต่โรงพยาบาลประจำจังหวัดขึ้นไป (ยกเว้นผู้ที่สังคมควรให้การช่วยเหลือ) ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 55 เป็นต้นไป
โดยนายกรัฐมนตรี และที่ประชุมสามกองทุนฯ ให้บอร์ด สปสช.กลับไปทบทวนมติเก็บ 30 บาทใหม่ เนื่องจากระบบและคุณภาพการให้บริการในปัจจุบันยังไม่พร้อม และยังเสนอให้โรงพยาบาลเป็นผู้พิจารณาเองว่าจะเก็บ 30 บาทหรือไม่ เมื่อโรงพยาบาลมีการพัฒนาการให้บริการที่มีคุณภาพมากขึ้นแล้ว
“นายกฯน่าจะสั่งให้ยกเลิกความคิดกลับมาเก็บ 30 บาทอีกไปเลย เพราะนักวิชาการและผู้ใหญ่ในประชาคมสาธารณสุขไม่ว่าจะเป็น อ.อัมมาร สยามวาลา หรือ นพ.อมร นนทสุต อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้แสดงความเห็นว่าไม่ได้ประโยชน์อะไร แต่เพิ่มช่องว่างสร้างความแตกต่างระหว่างผู้ป่วยบัตรทองที่ต้องเสีย 30 บาท แต่ผู้ป่วยข้าราชการไม่ต้องร่วมจ่ายอะไรเลย” นพ.พงศ์เทพ กล่าว
เลขาธิการมูลนิธิแพทย์ชนบท กล่าวต่อว่าการผลักภาระให้โรงพยาบาลเป็นผู้พิจารณาว่าจะเก็บเงิน 30 บาทจากคนไข้หรือไม่ ทำให้โรงพยาบาลต้องเผชิญหน้าขัดแย้งกับผู้ป่วย โดยรัฐบาลลอยตัวเพียงต้องการให้มีการเก็บ 30 บาท เพื่อเป็นโลโก้ทางการเมือง และที่นายกรัฐมนตรีฝากให้โรงพยาบาลต่างๆ มีการพัฒนาคุณภาพและเพิ่มให้บริการมากขึ้น มีการขยายบริการนอกเวลานอกสถานที่เพิ่มขึ้น อยากถาม รมว.สธ.ว่าจะทำได้จริงหรือ และจะทำอย่างไร ในเมื่อปี 2555 นี้ รพ.จำนวนมากประสบภาวะน้ำท่วม เครื่องมือทางการแพทย์เสียหาย แต่งบเหมาจ่าย สปสช. ปี 2555 กลับถูกปรับลดลงร้อยละ 5 เพื่อช่วยน้ำท่วม และปีหน้า 2556 รัฐบาลจะคงให้งบเหมาจ่ายคงที่เท่ากับปีนี้ที่ถูกปรับลดลงแล้ว ขณะที่ รพ.ต่างๆ โดยเฉพาะ รพ.ชุมชนขนาดเล็ก มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น จากการขึ้นเงินเดือนข้าราชการและลูกจ้างตามนโยบายรัฐบาลและภาวะเงินเฟ้อ
“แถมงบครุภัณฑ์ทางการแพทย์กว่า 7,000 ล้านบาทของโครงการไทยเข้มแข็งเดิมที่รัฐบาลที่แล้วเริ่มต้นไว้ กลับถูกระทรวงสาธารณสุขเตะถ่วงไว้อย่างไม่มีเหตุผล รวมทั้งงบลงทุนค่าเสื่อมกว่า 500 ล้านบาท และงบช่วยน้ำท่วมอีก 300 กว่าล้านบาท ที่บอร์ด สปสช. ชุดใหม่ยกให้ สธ.เป็นผู้พิจารณาอนุมัติจัดหาครุภัณฑ์ทางการแพทย์ให้ รพ.ต่างๆ แต่กลับมีกระบวนการคนใกล้ชิดผู้มีอำนาจในกระทรวงร่วมกับพ่อค้ากำลังหาประโยชน์จากงบ 2 ก้อนนี้ เหมือนกรณีทุจริตยาที่อื้อฉาวในอดีต แบบนี้คุณภาพบริการของ รพ.ต่างๆ ในสังกัดกระทรวงจะพัฒนาดีขึ้นได้อย่างไร คาดได้เลยว่าปีหน้า รพ.ต่างๆ จะมีวิกฤตทางการเงิน และระบบหลักประกันสุขภาพไทยที่มีการพัฒนาต่อเนื่องมา 10 ปี จะถดถอยพังทลายลงกลายเป็นระบบอนาถาของคนจนที่ถือบัตรทอง” เลขาธิการมูลนิธิแพทย์ชนบท กล่าว
ด้าน นายสหรัฐ ศราภัยวนิช รักษาการประธานชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่ารู้สึกสับสนกับมติที่ประชุม 21 มิ.ย. 2555 เรื่องที่ให้ 3 กองทุนใช้มาตรฐานการแพทย์เดียวกันในการวินิจฉัยผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย และให้มีการคงวิธีการทดแทนไตให้ต่อเนื่อง แม้จะมีการเปลี่ยนสิทธิเปลี่ยนกองทุนก็ตาม เพราะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงที่จะทำให้ผู้ป่วยไตวายของทั้ง 3 กองทุนมีความเท่าเทียมกัน นายกรัฐมนตรีน่าจะรู้ว่าขณะนี้ทุกสิทธิใช้มาตรฐานการวินิจฉัยโรคไตวายของสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยไม่ต่างกันอยู่แล้ว และทุกกองทุนก็มีแนวปฏิบัติที่ให้มีการทดแทนไตด้วยวิธีเดิมเมื่อผู้ป่วยมีการเปลี่ยนสิทธิจากกองทุนหนึ่งไปยังอีกกองทุนหนึ่งอยู่แล้ว ไม่มีอะไรเพิ่มใหม่ที่จะทำให้เกิดความเท่าเทียมกัน
“สิ่งที่ผู้ป่วยไตวายรอคอยการแก้ไขอยู่และทั้ง 3 กองทุนยังให้ไม่เท่ากัน เช่น
- ผู้ป่วยฟอกเลือด ระบบประกันสังคมจ่ายให้ รพ. ครั้งละ 1,500 บาท ส่วนเกินให้ผู้ป่วยจ่ายเพิ่มเอง
- ขณะที่ระบบ สปสช.จ่ายครั้งละ 1,500 สำหรับผู้ป่วยทั่วไป แต่ถ้าเป็นผุ้ป่วยสูงอายุและมีโรคแทรกซ้อนจ่ายครั้งละ 1,700 บาท และห้าม รพ.เก็บเงินเพิ่มจากผู้ป่วย แต่ผู้ป่วยทุกคนที่ไม่มีข้อห้ามต้องใช้วิธีผ่านทางช่องท้องก่อน
- ส่วนสวัสดิการข้าราชการจ่ายครั้งละ 2,000 บาท และ
- ผู้ป่วยประกันสังคมต้องจ่ายเงินเพิ่มให้ รพ. ครั้งละ 200 – 300 บาท ต่อสัปดาห์
- แต่ผู้ป่วย สปสช. ไม่ต้องจ่ายเพิ่ม และสวัสดิการข้าราชการการจ่ายชดเชยให้ รพ. ในอัตราที่สูงกว่ายาเดียวกันของ สปสช. หลายเท่าตัว
แหล่งที่มา เว็บไซต์สำนักข่าวอิศรา เขียนโดย ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน วันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน 2012 เวลา 17:35 น.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น