วันอังคารที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2555

3 หน่วยงานตลาดทุน ลงขันตั้งองค์กรกลางวิเคราะห์หุ้น


3 หน่วยงานตลาดทุน ปิ๊ง! ไอเดีย ลงขันตั้งองค์กรกลางทำหน้าที่ออกบทวิเคราะห์หุ้นให้นักลงทุน โดยคัดหุ้นเล็กที่ให้ผลตอบแทนดีแต่ถูกมองข้าม หุ้นร้อน และหุ้นเก็งกำไร รวมทั้งหุ้นใหม่ไอพีโอที่นักลงทุนขาดข้อมูลในการตัดสินใจลงทุน...

เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2555 นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ เปิดเผยว่า 3 หน่วยงานหลัก ซึ่งประกอบด้วย
  1. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 
  2. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และ
  3. สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ (สมาคม บล.) 
มีแนวคิดที่จะจัดตั้งบริษัท ที่ทำหน้าที่ในการออกบทวิเคราะห์หุ้นให้กับนักลงทุน โดยเบื้องต้นจะมอบหมายให้สมาคมนักวิเคราะห์เป็นผู้ดูแลการดำเนินงานของบริษัทดังกล่าว เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่มีความพร้อมด้านบุคลากร และขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือถึงโครงสร้างการใส่เงินลงทุนของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปี 2555 นี้

ทั้งนี้ 3 หน่วยงานได้หารือกันและเห็นว่า บริษัทผู้ผลิตบทวิเคราะห์วิจัยดังกล่าว ควรจะออกบทวิเคราะห์หลักทรัพย์หรือตัวหุ้นที่มีลักษณะดังนี้ คือ
  1. บริษัทขนาดกลางและเล็ก ที่ไม่เคยมีโบรกเกอร์ใดทำบทวิเคราะห์มาก่อน ทั้งที่เป็นบริษัทที่มีผลตอบแทนน่าสนใจ และมีพื้นฐานบริษัทแข็งแกร่ง แต่อาจมีปัญหาด้านสภาพคล่องที่มีไม่มากนัก หรือทำประชาสัมพันธ์ไม่ดี ทำให้เป็นหุ้นที่ไม่ได้รับความสนใจในการลงทุนเท่าที่ควร 
  2. หุ้นเก็งกำไร ที่พบว่านักลงทุนส่วนใหญ่มักใช้อารมณ์และข่าวลือต่างๆ ตัดสินใจลงทุนเป็นหลัก ซึ่งหากมีการทำบทวิเคราะห์วิจัยจะช่วยให้นักลงทุนมีข้อมูลอ้างอิงประกอบการ ซื้อขาย 
  3. หุ้นที่จำหน่ายให้แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) ซึ่งที่ผ่านมาจะพบว่าหุ้นกลุ่มนี้ไม่มีบทวิเคราะห์ให้นักลงทุนพิจารณาก่อนการซื้อขาย มีเพียงแค่ความเห็นจากที่ปรึกษาทางการเงินเป็นผู้ให้ข้อมูลเท่านั้น จึงทำให้รายละเอียดที่นักลงทุนได้รับไม่รอบด้านและหลากหลายเท่าที่ควร จนอาจทำให้มีความเสี่ยงได้
“รูปแบบเบื้องต้นเห็นว่า บริษัทนี้ควรจะเป็นองค์กรกลาง ทำบทวิเคราะห์หุ้นที่ไม่เคยมีบทวิเคราะห์มาก่อนเลย ทั้งขนาดกลางและขนาดเล็ก รวมถึงหุ้นเก็งกำไร ซึ่งที่ผ่านมานักลงทุนมักจะใช้อารมณ์ตัดสินใจซื้อขายเป็นส่วนใหญ่ แต่หากมีบทวิเคราะห์ก็จะช่วยให้นักลงทุนมีข้อมูลประกอบการพิจารณา เหมือนมีฉลากยาให้เขาได้รู้ว่าไซด์เอฟเฟค หรือผลกระทบจะเป็นอย่างไร” 

นายสมบัติ กล่าวต่อว่า การจัดตั้งบริษัทผู้ออกบทวิเคราะห์นี้ ประเมินว่าจะใช้เงินลงทุนราว 8-10 ล้านบาท แต่อาจมีความเปลี่ยนแปลงบ้าง ขึ้นอยู่จำนวนของบทวิเคราะห์ที่จัดทำ ซึ่งต้นทุนเฉลี่ยของการผลิตบทวิเคราะห์ของแต่ละหลักทรัพย์อยู่ที่ประมาณ 100,000 - 150,000 บาทต่อหลักทรัพย์ต่อปี

แหล่งที่มา    เว็บไซต์ไทยรัฐ 19 มิถุนายน 2555, 22:00 น.

1 ความคิดเห็น:

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...