หากมองผลกระทบต่างๆ เพื่อกำหนดสิ่งที่ควรต้องเตรียมพร้อมกัน ทั้งในแวดวงบุคลากรทางการศึกษาทางด้านไอทีและการทำงานของวิศวกรไอที คงต้องเริ่มกันที่ I ในคำว่า IT หรือสารสนเทศซึ่งปัจจุบันพัฒนาจากสารสนเทศหรือข้อมูลที่ประมวลผลแล้ว เข้าสู่ยุคองค์ความรู้หรือ โนว์เลดจ์ หรือสารสนเทศข่าวสารที่ก่อเกิดประโยชน์นำไปใช้งานกันได้แล้ว
สำหรับอาเซียนก็คงจะไม่ผิดซึ่งองค์ความรู้ที่ “จำเป็น” สำหรับทั้งการศึกษา และธุรกิจด้านวิศวกรรมไอทีนั้นประกอบด้วย 4 ด้านหลัก คือ
- องค์ความรู้ศาสตร์และวิทยาการ,
- เศรษฐกิจ,
- สังคม และ
- แนวปฏิบัติที่ทำกันมาที่สั่งสมเป็นภูมิปัญญา
ยังมีโจทย์ ปัญหา ความท้าทายใหม่ ในระดับภูมิภาค ที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น อาเซียนแบ่งเป็นกลุ่มประเทศที่เป็นผืนแผ่นดิน และกลุ่มประเทศเกาะ โครงสร้างพื้นฐานทางไอทีที่เหมาะสมจะไม่เหมือนกัน อาเซียนมีภัยพิบัติเฉพาะภูมิภาคน่าจะเป็นโอกาสของระบบไอทีเตือนภัยที่ต่างจากภูมิภาคอื่น หรือการรับมือกับโรคเฉพาะภูมิภาค ประเภทเวชศาสตร์เขตร้อน ซึ่งต้องใช้ความรู้ไอทีเข้าไปพัฒนาสินค้าหรือบริการไอทีที่ตอบสนองธุรกิจระดับภูมิภาค
ปัจจัยที่ทำให้สามารถขยายตัวเองเข้าสู่ระดับสากลได้สำเร็จ บริษัท ตัววิศวกร หรือนิสิตนักศึกษา จะต้องปรับตัวให้เข้ากับความหลากหลายและแตกต่างได้ ซึ่งแนวทางปรับตัวมีวิธีการพื้นฐาน 3 ขั้นตอนคือ
อันดับแรก “การประเมิน” ตนเอง
ทั้งระดับองค์กร, บริษัท, กลุ่มหน่วยงานย่อย หรือตัวบุคคล เพื่อรับรู้สภาพปัญหา หรือ “องค์ความรู้” ในระดับภูมิภาคหรือสากลที่เรายังขาด ยังไม่ชำนาญ โดยเน้นองค์ความรู้ 4 ด้านที่กล่าวไว้ คือ
- ศาสตร์และวิทยาการเทคโนโลยีที่ใช้ ซึ่งในวงการไอทีเป็นวงการสากลอยู่แล้วประเทศไทยจึงอยู่ที่ประเมินว่า “ทันสมัย” หรือไม่,
- มีความรู้และสามารถดำเนินธุรกิจในเศรษฐกิจ การเงินการธนาคารระดับภูมิภาคอาเซียนหรือไม่,
- ด้านสังคม รวมไปถึงรู้จัก “ภาษา” วิธีการสื่อสาร วัฒนธรรมองค์กรความเชื่อกฎหมาย ศาสนาของอาเซียนที่มีผลต่อธุรกิจหรือยัง และ
- รู้แนวปฏิบัติหรือภูมิปัญญาท้องถิ่นของอาเซียนที่เราจะไปติดต่อค้าขายด้วย เช่น วิธีทำการตลาดของสินค้าไอทีแต่ละประเทศ แต่ละภูมิภาคก็จะแตกต่างกัน
ขั้นตอนที่สองคือ “เรียนรู้แสวงหา”
องค์ความรู้ใหม่ที่เราขาดไป ติดตามข่าวสาร ยอมรับความต่างของสิ่งที่ไม่คุ้นเคย วิธีที่ไม่คุ้นเคย เครื่องมือ ศาสตร์ ภาษา วิธีการทำงาน ระเบียบ กฎที่ไม่คุ้นเคยได้ โดยตั้งหลักในความถูกต้อง (จากหลักของประเทศไทยสู่ถูกต้องระดับอาเซียน) ซึ่งองค์ความรู้ด้านศาสตร์และวิทยาการจะไม่เป็นอุปสรรคเพราะมีความเป็นสากลอยู่แล้วจะมีความแตกต่างในด้านความทันสมัย ส่วนด้านเศรษฐศาสตร์ สังคม และ ค่านิยมต่าง ๆ นั้นต้องอาศัยการยอมรับและปรับตัวให้เรียนรู้ได้รวดเร็ว แล้วนำองค์ความรู้ที่เรียนรู้ หรือซื้อหามาไปใช้แทน หรือประยุกต์กับองค์ความรู้เดิมที่ใช้ระดับประเทศ
ขั้นตอนสุดท้ายคือต้อง “พัฒนา” การ ทำงาน สินค้า บริการ การเรียนรู้ใหม่ซึ่งทักษะสำคัญที่ต้องทำให้ได้ 4 ทักษะ โดยทักษะแรกคือสามารถทำงานร่วมกันแบบกระจายงานให้ได้ เน้นทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงาน การทำงานร่วมกันจากเดิมในกลุ่มในทีม ระหว่างบริษัทในประเทศ แต่เมื่อเข้าสู่ยุคเออีซี จะกระจายในระดับประเทศซึ่งการติดต่อสื่อสารจะทำได้ยากขึ้นต้องทำงานผ่านเทคโนโลยี ไอที ทำให้เกิดข้อจำกัด เช่น เวลา งบประมาณ ภาษา ซึ่งทำให้อาจจะต้องเพิ่มต้นทุนให้กับตัวกลางหรือหน่วยงานกลางในระดับธุรกิจ หรือ ส่วนบุคคลต้องสร้างทักษะการสื่อสาร การทำงานเป็นทีมข้ามชาติ ของตนเองโดยเน้นทักษะด้านภาษาและความรู้ด้านวัฒนธรรม
ทักษะต่อมาคือ ทุกองค์กร หรือทุกคนในวงการไอทีควรสามารถอธิบาย หรือเข้าถึงข้อมูลธุรกิจไอทีของอาเซียนให้ได้ เช่น การตลาด ผู้บริโภค ผู้จ้างงาน บริษัท แหล่งรายได้ในอาเซียน ซึ่งอาจจะต้องอาศัยทักษะด้านภาษาและวัฒนธรรม และเข้าถึงแหล่งความรู้เหล่านี้
ทักษะที่สามคือ ต้องเข้าใจและสามารถปรับตัวกับการควบรวมกิจการ องค์กร บริษัท
ซึ่งจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในแทบทุกวงการโดยเฉพาะไอที เพราะเป็นกลวิธีทางธุรกิจพื้นฐานในการขยายการเติบโต ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการทำงาน เช่น องค์กรแปลงไปเป็นอีกองค์กร หรือยังคงอยู่แต่ต้องปรับให้เข้ากับระบบใหม่ ตัววิศวกรไอทีหรือบุคลากรต้องสามารถปรับตัวได้ รวมทั้งบริษัทไทยเองก็อาจจะเป็นผู้ไปควบรวมกิจการในอาเซียนซึ่งต้องคำนึงถึงการผนวกองค์ความรู้ทั้ง 4 ด้านของไทยเข้ากับองค์กรในประเทศนั้น
ทักษะสุดท้ายคือสามารถวิเคราะห์ “ข้อดี” หรือ “โอกาส”
ของสินค้าและบริการเฉพาะพื้นที่ในภูมิภาคให้ได้ เช่น เพิ่มฟังก์ชั่นการออกแบบสินค้า หรือบริการไอทีที่เฉพาะภูมิภาค หรือประเทศนั้น (เช่นมองด้านกฎหมาย หรือการเงิน) ทำให้ได้เปรียบคู่แข่งทางธุรกิจ, มองโอกาสที่เพิ่มขึ้น ช่องทางที่เพิ่มให้สิ่งที่ออกแบบมีมูลค่าเพิ่ม เช่น ต้องมีวิธีการใช้งานเฉพาะประเทศนั้น ๆ เช่น มีหน้าจอการใช้งานที่ใช้ภาษาประเทศนั้น มีการใช้สีสัน รูปแบบเฉพาะกลุ่ม และคิดค้นหาวิธียุบรวมให้เหลือสินค้า บริการ การทำงานต่าง ๆ ที่ตอบสนองเรื่องเดียวกัน, ความต้องการแบบเดียวกันให้เหลือน้อย เป็นมาตรฐาน แต่ให้สามารถพัฒนาปรับไปใช้งานได้กับภาษาอื่น หรือพัฒนาเพิ่มความเป็นท้องถิ่นแทรกได้ เป็นต้น เช่น โปรแกรมที่เปลี่ยนหน้าจอได้ อุปกรณ์ที่ปรับปุ่ม สีสันภายนอกได้ หรือแม้แต่คู่มือการทำงานที่ปรับให้เหมาะกับประเทศนั้นได้ เป็นต้น
การเปิดอาเซียนหรือเออีซีจริงๆ แล้วไม่ใช่สิ่งใหม่แต่เป็นเรื่องเดิมที่ขยายเพิ่มขึ้น หากมองว่าเราก็ต้องมีการปรับตัวจากสิ่งที่ทำในบ้านให้เข้ากับที่ทำงาน ที่โรงเรียน ต้องปรับให้เหมาะกับบริษัทที่ไปทำงานใหม่ หรือแม้แต่จากเมืองหลวงกับชนบทซึ่งล้วนแล้วแต่ใช้หลักการของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้องค์ความรู้ของตนเข้ากับคนอื่น ต้องมีการยอมรับปรับตัว อาศัยแนวปฏิบัติ 3 ขั้นตอนที่กล่าวมาใครที่ปรับตัวเก่งก็น่าจะเป็นผู้ประสบความสำเร็จแต่ที่สำคัญคือการช่วยเหลือเกื้อกูลให้กับผู้อื่นให้ก้าวสู่การเป็นประชาคมอาเซียนที่มีความสุขกันให้ได้
แหล่งที่มา เว็บไซต์เดลินิวส์โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิษณุ คนองชัยยศ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น