วันอาทิตย์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ในหลวง' พระราชทานชื่อ 'โรหิสรัตน์' ลูกละมั่งหลอดแก้วตัวแรกของโลก

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อลูกละมั่งหลอดแก้ว หรือละมั่งอุ้มบุญตัวแรกของโลก ฝีมือนักวิจัยไทย อายุ 7 เดือน ว่า “โรหิสรัตน์” มีความหมายว่า “ละมั่งแก้ว” เผยสุขภาพแข็งแรง ปราดเปรียว ชอบวิ่งเล่นไปมา ไม่ชอบเสียงดัง...

ภายหลังจากที่องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประสบความสำเร็จด้านการอนุรักษ์และขยายพันธุ์สัตว์ป่า โดยสามารถพัฒนาการวิจัยการปฏิสนธิภายนอกร่างกาย หรือผลิตลูกละมั่งหลอดแก้ว หรือละมั่งอุ้มบุญ เพื่อใช้เป็นต้นแบบละมั่งพันธุ์ไทยได้สำเร็จเป็นตัวแรกของโลก เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันที่ 5 ธันวาคม 2554 และต่อมาทางองค์การสวนสัตว์ฯ ได้นำลูกละมั่งหลอดแก้วขึ้นน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้วนั้น

เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. 2555 พล.อ.ภัทรินทร์ลีลายุทธ รักษาการ ผอ.องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อลูกละมั่งหลอดแก้ว หรือละมั่งอุ้มบุญว่า “โรหิสรัตน์” ซึ่งมาจากคำ 2 คำ คือ “โรหิส” แปลว่า ละมั่ง และ “รัตน์” แปลว่า แก้ว “โรหิสรัตน์” จึงมีความหมายว่า “ละมั่งแก้ว” นำมาซึ่งความปีติยินดีในพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมแก่องค์การสวนสัตว์ฯ คณะนักวิจัย รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยขณะนี้ละมั่งโลหิสรัตน์อยู่ที่สวนสัตว์เปิดเขาเขียว จ.ชลบุรี มีอายุ 7 เดือนเศษ สุขภาพแข็งแรง ปราดเปรียว ชอบวิ่งเล่นไปมา และไม่ชอบเสียงดัง

รักษาการ ผอ.องค์การสวนสัตว์ฯ กล่าวต่อว่า สำหรับความคืบหน้าของโครงการขยายพันธุ์ละมั่งพันธุ์ไทย ซึ่งเป็นสัตว์ในตระกูลกวางที่หายากและถือเป็น 1 ใน 15 สัตว์ป่าสงวนของไทยและได้สูญพันธุ์จากธรรมชาติในป่าไทยกว่า 50 ปีแล้วนั้น ขณะนี้นักวิจัยกำลังเร่งวิจัยต่อยอดการวิจัยการขยายพันธุ์ด้านเทคนิคหลอดแก้ว และอุ้มบุญนี้กับละมั่งพันธุ์ไทย โดยขณะนี้ มีละมั่งพันธุ์ไทย เหลืออยู่เพียงไม่เกิน 40-50 ตัว ในทุกแหล่งเพาะเลี้ยงของไทย เพื่อปล่อยสู่ป่าธรรมชาติให้เกิดความสมดุลกับป่าและพันธุ์สัตว์ป่า คาดว่าภายในปีนี้จะสามารถขยายพันธุ์ลูกละมั่งพันธุ์ไทยได้จำนวนมาก และเตรียมสถานที่จะปล่อยละมั่งพันธุ์ไทยคืนสู่ป่าธรรมชาติไว้ที่หน่วยพิทักษ์ป่าห้วยสะด่องเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จ.กาญจนบุรี นอกจากนี้ นักวิจัยกำลังนำความสำเร็จจากการขยายพันธุ์ละมั่งพันธุ์ไทย ไปสู่การขยายไปยังสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ ที่หายากของประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มกวางผา เลียงผา กวางป่า รวมทั้งเสือ เช่น แมวป่าหัวแบน แมวลายหินอ่อน เสือไฟ ซึ่งในธรรมชาติถือว่ามีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างมากด้วย

พล.อ.ภัทรินทร์ กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์ของละมั่งในประเทศไทย เวลานี้ละมั่งพันธุ์ไทยเหลือแต่ในสวนสัตว์เท่านั้น ในธรรมชาติแทบจะไม่มีเหลือแล้ว แม้ว่าก่อนหน้านี้องค์การสวนสัตว์ฯ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะร่วมมือกันปล่อยละมั่งพันธุ์พม่านี้คืนสู่ป่าธรรมชาติที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งไปประมาณ 70 ตัว แต่ปัจจุบันตรวจสอบพบว่า ละมั่งเหล่านั้นเหลือประมาณ 10 กว่าตัวเท่านั้น เพราะส่วนใหญ่มีสุขภาพไม่ค่อยแข็งแรง วิ่งหนีเสือไม่ทัน ตกเป็นอาหารเสือเกือบหมดก่อนที่จะสืบพันธุ์ขยายลูกหลานต่อไปได้

แหล่งที่มา   เว็บไซต์ไทยรัฐ 3 มิถุนายน 2555, 18:11 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...