วันเสาร์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2555

"ย่านาง"...สรรพคุณเลิศล้ำ "หมื่นปีไม่มีแก่"


เห็นผลิตภัณฑ์จาก ใบย่านาง แล้วแปลกใจ นอกจากนำใบย่านางมาคั้นเอาน้ำไปใส่แกงหน่อไม้ ใส่ซุปหน่อไม้แล้ว ยังสามารถนำไปทำผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้ เช่น ดังที่เห็นคือ
  1. สบู่ใบย่านาง และ
  2. ใบย่านางแคปซูล
  3. บางคนนำไปทำน้ำใบย่านางสำหรับดื่ม ก็มี
...สรรพคุณใบย่านางนั้นมีมากจนบางคนเรียกว่าเป็น ยาอายุวัฒนะ  ซะเลย...มีข้อมูลระบุว่า หมอยาโบราณทางอีสานเรียกใบย่านางว่า “หมื่นปีไม่มีแก่” อันนี้คงไม่ใช่ภาษาอีสาน หากเป็นอีสานคงพูดว่า “หมื่นปีบ่มีเฒ่า”...
ใบย่านาง นั้นเป็นไม้เลื้อย เถาสีเขียวสด ข้อมูลจาก คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล ระบุว่า มีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีวิตามินเอสูง วิตามินซีก็สูง มีโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน ไฟเบอร์ แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก ไทอะมีน ไรโบฟลาวิน และไนอะซีน สำหรับสรรพคุณในทางยา ย่านางถือเป็นยาเย็น มีความโดดเด่นด้านการดับพิษและลดไข้ โดยรากย่านางแก้ไข้ได้ทุกชนิด เช่น ไข้พิษ ไข้เหนือ ไข้หัด ไข้ผิดสำแดง แก้เบื่อเมา ใบและเถาย่านางใช้แก้ไข้ ลดความร้อนและแก้พิษตานซาง...เป็นต้น
สถาบันวิจัยการแพทย์แผนไทย  ระบุว่า ย่านาง
มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ  Tiliacora;Trian dra (Colebr.) Diels 
ชื่อสามัญ  (ภาคกลาง) เถาย่านาง, เถาหญ้านาง, เถาวัลย์เขียว, หญ้าภคินี  (เชียงใหม่) จ้อยนาง, จอยนาง, ผักจอยนาง (ภาคใต้) ย่านนาง, ยานนาง, ขันยอ (สุราษฎร์ธานี) ยาดนาง, วันยอ (ภาคอีสาน) ย่านางอื่นๆ เครือย่านาง, ปู่เจ้าเขาเขียว, เถาเขียว
 ลักษณะทางพฤกษศาสตร์...ต้น
เป็นไม้เถาเลื้อย เกี่ยวพันไม้อื่น เป็นเถากลมๆ ขนาดเล็ก เหนียว มีสีเขียว เมื่อแก่จะมีสีเข้ม บริเวณเถามีข้อห่างๆ เถาอ่อน มีขนอ่อนปกคลุม เมื่อแก่ผิวค่อนข้างเรียบ ราก มีหัวใต้ดิน รากมีขนาดใหญ่ ใบ เป็นใบเดี่ยวคล้ายใบพริกไทย ออกติดกับลำต้นแบบสลับ รูปร่างใบคล้ายรูปไข่ หรือรูปไข่ขอบขนาน ปลายใบเรียว ฐานใบมน ขนาดใบยาว 5-10 ซม. กว้าง 2-4 ซม. ขอบใบเรียบ ผิวใบเป็นคลื่นเล็กน้อย ก้านใบยาว 1-1.5 ซม. ในภาคใต้ใบค่อนข้างเรียวยาวแหลมกว่า สีเขียวเข้ม หน้าและหลังใบเป็นมัน  ดอก ออกตามซอกใบ ซอกโคนก้าน จากข้อเถาแก่เป็นช่อยาว 2-5 ซม. ช่อหนึ่งๆ มีดอกขนาดเล็กสีเหลือง 3-5 ดอกออกดอกแยกเพศอยู่คนละต้น ไม่มีกลีบดอก ขนาดโตกว่าเมล็ดงาเล็กน้อย ต้นเพศผู้จะมีดอกสีน้ำตาล อับเรณูสีเหลืองอ่อน ดอกย่อยของต้นเพศผู้จะมีขนาดเล็ก ก้านช่อดอกมีขนสั้นๆ ละเอียด ปกคลุมหนาแน่น ออกดอกช่วงเดือนเมษายน ผลรูปร่างกลมเล็ก ขนาดเท่าผลมะแว้ง สีเขียว เมื่อแก่กลายเป็นสีเหลืองอมแดง หรือสีแดงสด และกลายเป็นสีดำในที่สุด
...จากการศึกษาข้อมูลทางวิทยา ศาสตร์ พบว่า น้ำคั้นจากใบย่านางมีคลอโร ฟีลล์ สามารถเพิ่มความสดชื่น ปรับสมดุลร้อนเย็นในร่างกาย ลดไข้ ปวดแขนขา แสบร้อนเบ้าตา เป็นผดผื่นคัน แพ้อากาศ สามารถล้างสารพิษที่สะสมในระบบต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งมาจากอาหารและสิ่งแวดล้อม …

ปัจจุบันคนหันมานิยมผลิตภัณฑ์ที่มาจากสมุนไพรพื้นบ้านกันมากขึ้นด้วยตระหนักถึงคุณประโยชน์อันมีอยู่จริงที่ค้นพบโดยภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ นอกจากย่านางแล้วยังมีสมุนไพรอื่น ๆ อีกมากมายที่นำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ออกจำหน่าย มีหลายเจ้า หลายราคา หลายคุณภาพ แตกต่างกันออกไป...ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อหาได้ตามใจปรารถนา ผู้ประกอบการควรผลิตสินค้าที่มีคุณภาพออกมาจำหน่าย...เน้นที่คุณภาพให้เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า สมุนไพรของไทยนี้ดีนักหนา และเน้นที่ราคา ให้ถูกเข้าไว้ จะได้ชื่อว่า ...ของดี ราคาถูก..และที่สำคัญ อย่าให้ชาติอื่นใดนำไปครอบครองได้

แหล่งที่มา     เว็บไซต์เดลินิวส์ โดย เธียรพัฒน์ วันพุธที่ 30 พฤษภาคม 2555 เวลา 00:00 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...