วันพุธที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2558

การวางแผนการเงิน วางแผนเกษียณ

ความแก่มีจริง อาการหมดไฟมีจริง
ความเจ็บป่วยก็มีจริง อาการหมดแรงมีจริง
และอาการหมดตังค์ ตอนหมดแรงก็มีจริง

เมื่อมาถึงจุดนึงของชีวิต
เราจะเริ่มเห็นคนที่เดินมาก่อนหน้าเรา
ไปถึงจุดที่อีกหน่อยเราก็จะต้องไปถึง

คำถามจึงอยู่ที่ เราอยากไปถึงจุดนั้นแบบไหน?
เราอยากมีชีวิตแบบไหนในวันบ่ายคล้อย ใกล้ตะวันตกดิน

ยุคนี้เรื่องของการวางแผนการเงิน วางแผนเกษียณ
เป็นเรื่องที่ฮอตฮิตมาก ฮิตจนหลายคนเลยต่อต้านซะงั้น
พูดกันไปว่าเดี๋ยวก็เอาตัวรอดได้อยู่แล้ว คนสมัยก่อนยังอยู่มาได้

เรื่องวางแผนการเงิน วางแผนเกษียณมันเป็นเรื่องกังวลเกินกว่าเหตุ
คนที่พูดเรื่องนี้ อยากจะขายประกัน ขายกองทุนล่ะสิท่า บางคนก็ว่าไปแบบนั้น
เรื่องนี้ก็พูดยาก เอาที่สบายใจก็แล้วกัน

เพียงแต่อยากจะเล่าให้ฟังว่า
คงเดินทางมาถึงจุดที่รุ่นพี่หลาย ๆ คนเริ่มเป็นรุ่นใหญ่วัยใกล้เกษียณ
พวกเขาไม่ได้อยู่ในโมงยามของรุ่งอรุณอีกต่อไปแล้ว

ไม่ได้คึกคักเต็มไปด้วยพลัง ไม่ได้พร้อมจะเริ่มอะไรใหม่
เขาอยากจะหาที่ร่อนลง แต่ยังไม่รู้ว่าตรงไหน?
บ้างทำงานมาจนล้า บ่นว่าเหนื่อย แต่หยุดไม่ได้
บ้างปรับตัวไม่ทันกับกระแสความเปลี่ยนแปลง ไม่รู้จะไปอย่างไรต่อ
บ้างเพิ่งตรวจสอบสินทรัพย์ตัวเอง เพื่อที่จะพบว่าแทบไม่มีเงินเก็บเลย
บ้างเพิ่งรู้ตัวว่าไม่ได้ขุดบ่อน้ำไว้ ตั้งแต่วันที่ยังไม่กระหายน้ำ
อ่านแล้วเครียดเนอะ

แต่มันจะเครียดกว่า ถ้าเป็นชีวิตเราจริง ๆ
ไม่ใช่ตัวหนังสือที่อ่านแล้วรูดปรื้ด ๆ แบบนี้
สิ่งที่พยายามจะบอกก็คือ
ถ้าไม่ตายซะก่อน เราได้แก่ชราแน่ ๆ
และเราอาจจะได้เจ็บป่วย อาจได้พบกับมรสุมชีวิตที่ไม่คาดคิด

อาจหมดไฟ หมดแรง หมดตังค์
ทุกอย่างอาจเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น
อย่าโลกสวย จนลืมกางตาข่าย ปูฟูกไว้เผื่อตอนล้มด้วย

การวางแผนการเงิน
ไม่ต่างจากการฝึกภาษา ลดน้ำหนัก หรือการปลูกต้นไม้
นั่นคือ มันต้องใช้เวลา และไม่เห็นผลกระทบในวันเดียว
มันคือสิ่งที่เหมือนจะไม่จำเป็น จนกระทั่งมันจำเป็น นั่นล่ะเราถึงรู้ซึ้งว่าจำเป็น

หนึ่งในคำพูดที่เศร้าที่สุดก็คือคำว่า "ไม่ทันแล้ว"
และเรื่องการวางแผนทางการเงิน ก็คือหนึ่งในเรื่องที่ถ้าเราบอกว่า "ไม่ทันแล้ว"
มันจะเจ็บปวดเหลือเกิน

ถ้าเราวางแผนเสียตั้งแต่เนิ่น ๆ เราจะเครียดน้อย เพราะมีเวลาเยอะ
ถ้าเราวางแผนช้า เราจะเครียดเยอะ เพราะมีเวลาน้อย
เมื่อวานผ่านไปแล้ว วันนี้เริ่มถึงจะสาย แต่ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย
เพราะเวลาไม่เคยคอยใคร

ส่วนจะเริ่มต้นอย่างไรนั้น
หนังสือ ยูทูบ สัมมนา มหาศาลความรู้
ทั้งฟรีและเสียเงิน รอให้เราทำความเข้าใจอยู่แล้ว
ขึ้นอยู่กับว่าเราอยากทำจริง ๆ หรือเปล่าเท่านั้นเอง

ความแก่มีจริง อาการหมดไฟมีจริง
ความเจ็บป่วยก็มีจริง อาการหมดแรงมีจริง
และอาการหมดตังค์ ตอนหมดแรงก็มีจริง

วางแผนการเงินไว้ตั้งแต่วันที่ยังมีแรง วันที่ยังเป็นหนุ่มสาว
วันที่ยังหาเงินได้ วันที่ยังไม่จำเป็นต้องวางแผน
วันที่ยังไม่หิวน้ำ วันที่ยังไม่ต้องการร่มเงา

เมื่อวันที่ต้องใช้งานขึ้นมาจริง ๆ
เมื่อนั้นจะได้ไม่ต้องมีคำว่า "ไม่ทันแล้ว"
ยังไงล่ะ

แหล่งที่มา    Facebook : Boy's Thought

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...