วันอาทิตย์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2561

วิธีนับเวลาตามประเพณี

เคยได้ยินคนรุ่นปู่ย่าตายายหรือผู้สูงอายุ
เรียก ๑๐ นาฬิกา ว่า ๔ โมงเช้า หรือ
๑๑ นาฬิกาว่า ๕ โมงเช้า บ้างไหม ?

หลายคนสงสัยว่าทำไมเรียกแบบนั้น
วันนี้มาเล่าเรื่องการ “วิธีนับเวลาตามประเพณี
หรือวิธีการนับแบบไทยนั่นแหละ

วิธีนับเวลาแบบนี้ก็จะเจออยู่ ๓ คำ 
คือ โมง ทุ่ม และตี

คนไทยสมัยก่อนใช้การตีฆ้องและตีกลอง
เพื่อเป็นสัญญาณบอกเวลา คำว่า “โมง”
จึงเป็นคำที่เลียนเสียงฆ้อง

ส่วนคำ “ทุ่ม” เลียนมาจากเสียงกลองนั่นเอง

คำว่า “โมง” หมายถึง
วิธีนับเวลาตามประเพณีในเวลากลางวัน

ถ้าเป็นเวลาก่อนเที่ยงวัน
ตั้งแต่ ๗ นาฬิกา ถึง ๑๑ นาฬิกา
เรียกว่า โมงเช้า ถึง ๕ โมงเช้า

ถ้าเป็น ๑๒ นาฬิกา นิยมเรียกว่า เที่ยงวัน

ถ้าหลังเที่ยงวัน ตั้งแต่ ๑๓ นาฬิกา ถึง ๑๗ นาฬิกา
เรียกว่า บ่ายโมง ถึง บ่าย ๕ โมง

ถ้า ๑๘ นาฬิกา นิยม
เรียกว่า ๖ โมงเย็น หรือ ยํ่าคํ่า

คำว่า “ทุ่ม” หมายถึง
วิธีนับเวลาตามประเพณี
สําหรับ ๖ ชั่วโมงแรกของกลางคืน
ตั้งแต่ ๑๙ นาฬิกา ถึง ๒๔ นาฬิกา
 เรียกว่า ๑ ทุ่ม ถึง ๖ ทุ่ม
แต่ ๖ ทุ่ม นิยมเรียกว่า สองยาม

คำว่า “ตี” หมายถึง
วิธีนับเวลาตามประเพณีในเวลากลางคืน
หลังเที่ยงคืน ตั้งแต่ ๑ นาฬิกา ถึง ๖ นาฬิกา
เรียกว่า ตี ๑ ถึง ตี ๖ แต่ตี ๖ นิยมเรียกว่า ยํ่ารุ่ง

และน่าจะมีคนสงสัยอีกคำหนึ่งนั่นก็คือ
คำว่า “ยาม” ไม่ได้หมายถึง รปภ. นะ
แค่คำนี้เป็นคำที่คนไทยนับกันตามแบบไทย ๆ
กับ “ยาม” ของแขกตามที่ปรากฏในบาลีนั้นแตกต่างกัน
ทั้งนี้เพราะคืนหนึ่งเราแบ่งเป็น ๔ ยาม ยามละ ๓ ชั่วโมง

๑ ยาม คือ
ตั้งแต่ย่ำค่ำ คือ ๑๘ นาฬิกา ถึง ๓ ทุ่ม
(๒๑ นาฬิกา) หรือเรียกว่า “ยาม ๑”

๒ ยาม คือ
หลังจาก ๒๑ นาฬิกา หรือ ๓ ทุ่ม ไปถึง ๒๔ นาฬิกา
หรือ เที่ยงคืน หรือเรียกว่า “ยาม ๒”

๓ ยาม คือ
หลัง ๒๔ นาฬิกา ไปถึงตี ๓ (๓ นาฬิกา)
เราหรือเรียกว่า “ยาม ๓”

๔ ยาม คือ
หลังจากตี ๓ ไปจนย่ำรุ่ง หรือ ๖ นาฬิกา
เราหรือเรียกว่า “ยาม ๔” ซึ่งเป็นยามสุดท้ายของคืน

ระบบนี้ใช้กันมาในบางรูปแบบ
ตั้งแต่สมัยราชอาณาจักรอยุธยา
แต่ได้รับการจัดให้เป็นหมวดหมู่
คล้ายกับในปัจจุบันในปี พ.ศ. ๒๔๔๔

โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ ๕ ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๑๗หน้า ๒๐๖
ทุกวันนี้ ระบบดังกล่าวใช้ในการสนทนา
ระดับไม่เป็นทางการเท่านั้น

แหล่งที่มา  : Line คําไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...