วันจันทร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ตั้งศูนย์เรียนรู้รับมือรวมอาเซียน (AMEC)

การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2016 ถือว่าเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลง ปรับตัวให้เข้ากับการรวมอาเซียนเป็นหนึ่งเดียว ไม่เว้นแม้แต่ในแวดวงการศึกษาเองก็ต้องเตรียมรับมือเพื่อเข้าสู่ AEC เช่นกัน

ล่าสุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยคณะบริหารธุรกิจ ได้จัดตั้งศูนย์เชี่ยวชาญตลาดภูมิภาคเอเชีย (AMEC) เพื่อให้นักศึกษา นักธุรกิจ และผู้ที่สนใจทั่วไป มีความพร้อมเพื่อการทำธุรกิจเพื่อส่งออก จะได้มีความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่นในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน

ดร.ไพฑูรย์ เจตธำรงชัย หัวหน้าภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกับตำแหน่งล่าสุด คือ การเป็นผู้อำนวยการ AMEC ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นคนแรก อาจารย์เล่าว่า จุดประสงค์ของการตั้งศูนย์แห่งนี้ก็คือการรับมือกับการรวมอาเซียนเป็นหนึ่งเดียว เพื่อให้คนไทยมีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องภาษาอังกฤษและความรู้เรื่องการทำธุรกิจและการส่งออก รวมทั้งการหาพันธมิตรและคู่ค้าในประเทศที่น่าสนใจในการทำธุรกิจในกลุ่มอาเซียนให้ด้วย

การทำงานของศูนย์ AMEC นี้แบ่งเป็น 3 ส่วนหลักๆ ก็คือ
  1. การให้ความรู้อบรมให้กับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเอง
  2. ต่อมาคืออบรมให้กับนักธุรกิจที่สนใจการทำธุรกิจในประเทศกลุ่มอาเซียนและสร้างโอกาสในการลงทุนและหาผู้ร่วมทุนจากประเทศจีนให้ได้มาเป็นคู่ค้ากัน ในการอบรม 34 เดือนนี้จะพาไปดูงานที่ประเทศจีน ซึ่งที่เลือกประเทศจีนเป็นประเทศแรกเพราะเป็นประเทศที่มีอนาคตในการลงทุน มีเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วและจะเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงมากในอนาคต
  3. สุดท้ายคือการสอนภาษาหรือการทำแคมปิงให้กับเด็กๆ เพื่อให้มีความสามารถทางภาษาสู้เขาได้ โดยระยะเริ่มต้นอาจจะจัดอบรมภาษาอังกฤษให้กับเด็กประถมและมัธยม โดยร่วมกับโรงเรียนในกลุ่มกรุงเทพมหานคร (กทม.) ก่อน แล้วค่อยขยายต่อไปให้ครอบคลุมมากขึ้น
อาจารย์กล่าวด้วยความห่วงใยว่า ต้องยอมรับว่าภาษาอังกฤษของเด็กไทยโดยรวมนั้น (ยกเว้นเด็กที่เรียนอินเตอร์) ยังแพ้เด็กสิงคโปร์และมาเลเซียอยู่มาก แม้กระทั่งเด็กมหาวิทยาลัยของไทยเราก็ยังอ่อนภาษาอังกฤษมาก นอกจากนั้นยังมีเรื่องระเบียบวินัย ความกระตือรือร้นและเรื่องจิตอาสา ที่เรายังต้องพัฒนาปรับปรุงกันอีกมาก ศูนย์นี้เกิดขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์เหล่านี้ให้มีการพัฒนาได้ทัดเทียมและสู้เขาได้ อย่างเด็กเวียดนามเดี๋ยวนี้เขาตั้งรับและพัฒนาไปได้เยอะขึ้นมาก ถ้าเราไม่ปรับหรือทำอะไรเขาอาจจะแซงหน้าเราไปเช่นเดียวกับที่สิงคโปร์และมาเลเซีย ไปไกลกว่าเราเยอะแล้ว

ในส่วนของนักลงทุน นักธุรกิจนั้น ก็จะมีการอบรมให้ครบทุกด้านว่า การไปทำธุรกิจในต่างประเทศ จะส่งออก คุณจะต้องเรียนรู้อะไรบ้าง เรื่องภาษี ภาษา กฎระเบียบต่างๆ ธุรกิจใดที่น่าสนใจและมีอนาคต ซึ่งแต่ละประเทศก็มีไม่เหมือนกัน แม้กระทั่งในประเทศจีนเองแต่ละมณฑลกฎระเบียบก็แตกต่างกันไป การสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีกับนักธุรกิจต่างประเทศ ลบจุดอ่อนเพิ่มจุดแข็งอะไรที่ควรทำและไม่ควรทำ

จุดเด่นของศูนย์นี้คือผู้ที่มาสอน มาให้การอบรมนั้น เป็นนักธุรกิจ นักการตลาด นักลงทุนที่มีชื่อเสียงในวงการต่างๆ ที่เป็นผู้มีประสบการณ์ตรงในการทำการค้ากับประเทศอื่นๆ ว่าเขาทำอย่างไรถึงประสบความสำเร็จ ข้อผิดพลาดล้มเหลว ที่ไม่ควรทำ เรียกว่าศูนย์นี้มีอาจารย์ประจำเพียง 34 ท่านเท่านั้น ที่เหลือเราเชิญนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจากหลายวงการมาสอนจริงๆ เลย โดยเรียนทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ แต่จะเน้นปฏิบัติมากกว่าการเรียนในห้อง ได้ให้ผู้เข้าอบรมไปลงพื้นที่จริงๆ

“การทำธุรกิจ หากคุณเรียนรู้เองก็จะช้า เสียเวลาและหลงทาง แต่ศูนย์เราให้คุณเรียนลัด เรียนจากประสบการณ์ตรงของนักธุรกิจที่เขาลองผิดลองถูกมาแล้ว ที่สำคัญคือคุณจะได้คอนเนกชัน มีลู่ทางการลงทุนได้ง่ายขึ้น ที่นี่จะสร้างโอกาสในการทำธุรกิจของคุณให้ง่ายขึ้น ในวงการธุรกิจถ้าคุณยิ่งเร็วก็ยิ่งได้เปรียบ ยิ่งช้าก็เสียเปรียบคนอื่น แล้วเรายังมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์หลายอย่าง สนใจเข้าไปดูได้ที่ amecthailand.com ” ดร.ไพฑูรย์ กล่าวทิ้งท้าย

สุภาษิตจีนว่าไว้ รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งก็ชนะร้อยครั้ง จริงแท้

5 สิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจในการทำงาน
  1. พระสมเด็จ แม้จะเป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่ แต่เขาก็ฝักใฝ่ธรรมะ เพราะเชื่อว่าทางโลกกับทางธรรมถ้ารู้จักรักษาสมดุลก็ไปด้วยกันได้ เขาจะสวดมนต์ไหว้พระทุกวันเพื่อสร้างสติและสมาธิ มีโอกาสก็ทำบุญให้ทานให้สม่ำเสมอ เพราะเชื่อในธรรมะ เขาจึงได้รับพระสมเด็จองค์นี้มาจากพ่อตา และเพราะความศรัทธาทำให้เขารู้สึกได้ว่าเจอแต่สิ่งดีๆ เข้ามาทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว
  2. ศ.ดร.สาคร สุขศรีวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ กรุงเทพธนาทร เป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่ที่มีจิตอาสาและทำงานเพื่อสังคมเยอะมาก ทำงานให้กับร้านภูฟ้า และมูลนิธิการกุศลอีกหลายอย่าง ถือว่าเป็นแบบอย่างที่ดีว่าถ้ามีพลัง มีความสามารถ ช่วยทั้งแรง เวลา และยังสละทุนทรัพย์ส่วนตัวอีกด้วย เป็นตัวอย่างที่ดีที่คนรุ่นใหม่มีโอกาสแล้วไม่ลืมคนที่โอกาสน้อยกว่า ชื่นชม
  3. สตีฟ จ็อบส์ ชื่นชมในการทำงานของเขา เขามักคิดนอกกรอบแล้วดี เขามักจะคิดเทคโนโลยีใหม่ๆ มาให้เราใช้ ให้เราสะดวกสบายในการสื่อสารด้านต่างๆ ผมใช้ไอโฟนอยู่ ชอบสิ่งประดิษฐ์ของเขาที่ใช้ดี ดูทันสมัย เขาเป็นผู้บริหารที่ดูทั้งภาพกว้างและภาพลึก และให้โอกาสคนทำงานได้คิดอะไรใหม่และให้เครดิตกับคนที่สร้างสรรค์ผลงานกับเขาเสมอเก่ง
  4. มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ เขาจบปริญญาโทและเอกที่นี่ ชื่นชมและภูมิใจกับมหาวิทยาลัยแห่งนี้มาก ชอบความเป็นตำนาน มีประวัติศาสตร์ ชอบวิธีการเรียนการสอน ชอบการเป็นทีมเวิร์ก เขาพยายามนำข้อมูลวิชาการดีๆ ที่ที่ได้เรียนรู้มาปรับใช้ปรับสอนกับงานที่เขาทำอยู่นี้
  5. โทรศัพท์ไอโฟน เพราะชอบ สตีฟ จ็อบส์ นี่เอง เขาจึงใช้สินค้าของสตีฟโทรศัพท์เครื่องนี้เป็นสมาร์ตโฟน ที่ตอบทุกโจทย์ในการทำงานให้แก่เขาทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัวพร้อมสรรพ
แหล่งที่มา    เว็บไซต์โพสทูเดย์ โดย...อณุศรา ทองอุไร 28 พฤษภาคม 2555 เวลา 08:42 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...