วันอาทิตย์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

"อีสาน" ครองแชมป์ ป่วยฉี่หนูมากที่สุด

สธ. เตือนเกษตรกร ลุยน้ำ ย่ำโคลน ให้ระวัง  “ติดเชื้อโรคฉี่หนู” แนะสวมชุดป้องกัน พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและ อสม. ทั่วประเทศเฝ้าระวังโรคฉี่หนูอย่างใกล้ชิด ขณะสถานการณ์ปี 2555 นี้พบทั่วประเทศป่วยแล้ว 772 ราย มากที่สุดภาคอีสานร้อยละ 59 รองลงมาภาคใต้ร้อยละ 28 เสียชีวิต 17 ราย แนะหากมีไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัว โดยเฉพาะที่น่อง อย่าซื้อยากินเอง เพราะแม้ไข้จะลด แต่เชื้อยังอยู่ เสี่ยงเสียชีวิต
      
วันนี้ (26 พ.ค.2555) ที่ จ.อุดรธานี นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในระหว่างการเดินทางเยี่ยมชมระบบการให้คำปรึกษาการรักษาด้วยภาพและเสียง ผ่านโปรแกรมสไกป์ ของ รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบลดงหวาย อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี พร้อมมอบนโยบายให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ว่า ช่วงฤดูฝนนี้ประชาชนโดยเฉพาะเกษตรกร ผู้ที่มีอาชีพทำไร่ทำนาจะมีความเสี่ยงสัมผัสเชื้อโรคฉี่หนูหรือโรคเลปโตสไปโรซีส (Leptospirosis) สูงกว่าฤดูอื่นเนื่องจากมีแหล่งน้ำขังจำนวนมาก โดยเชื้อโรคจะอยู่ในฉี่ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น หนู วัว ควายจะพบมากที่สุดในฉี่ของหนูทุกชนิด และเชื้อจะปนเปื้อนอยู่ตามแอ่งน้ำขังต่างๆ ดินโคลนที่เฉอะแฉะ และเข้าสู่ร่างกายคนเราได้  2 ทาง คือ
  1. จากการรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อฉี่หนูเข้าไป และ
  2. เชื้อไชเข้าทางแผล ตามเยื่อบุในปาก หรือตา หรือเข้าที่รอยผิวหนังถลอก รวมทั้งผิวหนังปกติที่แช่น้ำนานๆ ก็สามารถไชผ่านไปได้
หลังได้รับเชื้อประมาณ 7-10 วัน จะเริ่มมีอาการที่มีลักษณะเฉพาะ ได้แก่ มีไข้สูงทันทีทันใดปวดศีรษะ ปวดตามกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะที่น่องขาทั้ง 2 ข้าง

รมว.สธ. กล่าวด้วยว่า สถานการณ์โรคในปี 2555 ตั้งแต่มกราคม-พฤษภาคมสำนักระบาดวิทยา รายงานพบผู้ป่วยโรคฉี่หนูทั่วประเทศ 722 รายเสียชีวิต 17 ราย พบผู้ป่วยกระจายอยู่ทุกภาค มากที่สุดในภาคอีสาน พบร้อยละ 59 รองลงมาภาคใต้ร้อยละ 28 จังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุด ได้แก่
  1. สุรินทร์ 78 ราย
  2. ศรีสะเกษ 71 ราย และ
  3. บุรีรัมย์ 57 ราย
อาชีพที่ป่วยสูงสุด ได้แก่
  1. เกษตรกรร้อยละ 59
  2. รองลงมาอาชีพรับจ้างร้อยละ 19 และ
  3. นักเรียนร้อยละ 9
ได้มอบนโยบายกำชับให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและ อสม. ทั่วประเทศ เฝ้าระวังโรคฉี่หนูอย่างใกล้ชิด ในช่วงฤดูฝนต่อเนื่องจนถึงต้นฤดูหนาว เร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้วิธีการป้องกันตัวแก่ประชาชนขอให้หลีกเลี่ยงการเดินย่ำน้ำหรือการแช่น้ำนานๆ เพื่อลดการป่วยและการเสียชีวิต

ด้าน นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า โรคฉี่หนูขณะนี้ทั่วโลกยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่สามารถป้องกันไม่ให้เจ็บป่วยได้ หากต้องเดินลุยน้ำ ย่ำโคลน ต้องใส่รองเท้าบู๊ท และเมื่อขึ้นจากน้ำต้องรีบชำระล้างทำความสะอาดร่างกาย กำจัดขยะ โดยเฉพาะขยะเปียก เช่น เศษอาหาร ไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนูเก็บอาหารที่ค้างคืนในที่มิดชิด ล้างผักสดที่เก็บจากท้องไร่ท้องนาให้สะอาดก่อนรับประทาน

นพ.สุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า หากมีอาการไข้สูงอย่างทันทีทันใด ปวดเมื่อยตามร่างกายมาก ควรไปพบแพทย์แจ้งประวัติการลุยน้ำ ย่ำโคลนให้แพทย์ทราบด้วยเพื่อให้การรักษาอย่างถูกต้อง ขณะนี้โรงพยาบาลทุกแห่งมียาปฏิชีวนะรักษาหายขาด อย่าซื้อยากินเอง เพราะยาลดไข้แม้ว่าจะทำให้ไข้ลดก็ตาม แต่ไม่ได้ฆ่าเชื้อโรค เชื้อโรคยังอยู่ในร่างกาย จะทำให้อาการรุนแรงขึ้น อาจเสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อน เช่น ปอดบวมไตวายหัวใจล้มเหลว สมองและไขสันหลังอักเสบ ที่ผ่านมาอาการของโรคนี้ มีประชาชนบางคนเข้าใจผิด คิดว่าเป็นไข้จากปวดเมื่อยเพราะทำงานหนักไปซื้อยาลดไข้กินและนวดบรรเทาเมื่อย ทำให้อาการรุนแรงและเสียชีวิต โดยโรคนี้สามารถป่วยซ้ำได้อีก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...