การดำรงชีวิตในสังคมทุกวันนี้ไม่ว่าใครคงมิอาจหลีกเลี่ยงในการเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทำสัญญาต่าง ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นสัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น สัญญาซื้อขาย สัญญากู้เงิน สัญญาจ้างแรงงาน สัญญาให้ หรือพินัยกรรม เป็นต้น โดยบุคคลอาจเกี่ยวพันเป็นคู่สัญญากันในฐานะของผู้ให้สัญญาและผู้รับสัญญา ซึ่งก็แล้วแต่สถานะ เจตนารมย์ หรือวัตถุประสงค์ในการทำสัญญาที่คู่สัญญาตกลงกัน
การทำสัญญาซื้อขาย เป็นเรื่องที่มีความสำคัญเพราะผู้ซื้อจะต้องผูกพันกับผู้ขาย การได้เปรียบเสียเปรียบของคู่สัญญาจะเกิดขึ้นก็เพราะข้อตกลงในหนังสือที่คู่สัญญาทำกัน ดังนั้นเพื่อความ ไม่ประมาท และความรอบคอบในการทำสัญญาดังกล่าว จึงควรรู้ถึงหลักในการทำสัญญาไว้ เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเปรียบใคร หรือช้ำใจหลังทำสัญญา โดยหลักการทำสัญญาที่ผู้บริโภคควรทราบ ได้แก่
- วัตถุประสงค์หรือเจตนารมย์ของสัญญาว่า ต้องการทำอะไร ควรระบุให้ชัดเจน
- ชื่อที่อยู่ของคู่สัญญา เพื่อประโยชน์ในการติดตามบังคับให้ปฏิบัติตามสัญญา
- ความสามารถของคู่สัญญา หากเป็นผู้เยาว์ต้องให้ผู้แทนโดยชอบธรรม ได้แก่ บิดา มารดา หรือผู้ปกครองของผู้เยาว์ให้ความยินยอมก่อน
- ถูกต้องตามแบบหรือไม่ เช่น ซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ คือ ที่ดิน โรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้าง ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน กู้เงินต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ เป็นต้น
- ความยินยอมของคู่สมรส หากเป็นการทำสัญญาเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ เช่น ซื้อ ขายแลกเปลี่ยน ให้ ขายฝาก เช่าซื้อ จำนอง ก่อให้เกิดภารจำยอม สิทธิเก็บกิน หรือนำเงินสินสมรสไปให้กู้ต้องให้ คู่สมรสของคู่สัญญาให้ความยินยอมด้วย มิฉะนั้น คู่สมรสอาจฟ้องเพิกถอนสัญญาในภายหลังได้
- ค่าเสียหาย หรือเบี้ยปรับ เมื่อมีการผิดสัญญา ควรระบุให้ชัดเจน
- ค่าธรรมเนียม ภาษี ควรระบุว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้รับผิดชอบหรือให้รับผิดชอบร่วมกัน
- ลายมือชื่อคู่สัญญา หากพิมพ์ลายนิ้วมือ ต้องมีพยานรับรอง ๒ คน จึงจะบังคับได้
- พยานที่รู้เห็นการทำสัญญา แม้กฎหมายจะไม่บังคับให้ต้องมีพยาน แต่ก็ควรมีพยานไว้เพื่อเบิกความยืนยัน การทำสัญญา หากมีกรณีพิพาทเกิดขึ้น
ดังนั้น ก่อนการทำสัญญาใดๆ เพื่อประโยชน์ของตัวผู้บริโภคเอง และเพื่อความไม่ประมาท จึงควรศึกษาและดูข้อสัญญาให้ละเอียดและรอบคอบ ถ้วนถี่ อย่าเพียงอ่านแต่ผ่านตา เมื่อเห็นว่าข้อสัญญายาวจนละเลยไม่ใส่ใจ ต้องอ่านข้อความ ทุกหน้าก่อนเซ็นชื่อหรือลงนามในสัญญา “เสียเวลาสักนิด คิดก่อนเซ็น จะไม่ลำเค็ญแน่นอน”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น