วันพุธที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

10 เมืองใหญ่เสี่ยงถูกภัยธรรมชาติทำลายย่อยยับ



ผลการศึกษาขององค์การว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ “โออีซีดี” ระบุ กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของไทยติด “อันดับ 10 ของโลก” และ “อันดับ 1 ในอาเซียน” ในฐานะเมืองใหญ่ที่มีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก และถือเป็นเมืองสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งยวดต่อภัยคุกคามจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น และการทำลายล้างของคลื่น “สตอร์ม เซิร์จ” โดยคาดว่า มูลค่าทรัพย์สินในกรุงเทพฯ ที่สุ่มเสี่ยงต่อหายนะดังกล่าว อาจพุ่งสูงถึง 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 34.9 ล้านล้านบาท) ในปี ค.ศ.2070 หรืออีก 58 ปี นับจากนี้

รายงานขององค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศดังกล่าว ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1961 และมีฐานอยู่ที่กรุงปารีสของฝรั่งเศสระบุว่ามีเมืองท่ามากกว่า 130 แห่งทั่วโลกที่กำลังตกอยู่ในความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ต่อภัยคุกคามจากเหตุน้ำท่วมเพราะคลื่น “สตอร์ม เซิร์จ” ภัยคุกคามจากพายุ รวมถึง การที่ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น และมีอุณหภูมิอุ่นขึ้นกว่าปกติ ซึ่งทางโออีซีดีระบุว่า กรุงเทพมหานครเป็นหนึ่งในเมืองใหญ่ ที่ขาดการวางแผนด้านการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพ และยังมีการบริหารจัดการในเชิงโครงสร้างที่ “ย่ำแย่” ซึ่งแน่นอนว่า จะยิ่งส่งผลให้มีคนกรุงเทพฯต้องตกอยู่ในความเสี่ยงจากภัยคุกคามดังกล่าวมากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับในอีกหลายเมืองใหญ่ทั่วโลก     

ผลการศึกษาขององค์การระหว่างประเทศซึ่งมีสมาชิก 34 ชาติดังกล่าวระบุว่า เมืองหลวงของไทยซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่ไม่ต่ำกว่า 12 ล้านคนซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกขนานนามว่า “เวนิสตะวันออก” แห่งนี้ อาจตกอยู่ในอันตรายจากภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกมากขึ้น ซึ่งภายในปี ค.ศ. 2070 ประชากรของกรุงเทพฯ ไม่ต่ำกว่า 5.1 ล้านคนจะตกอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดจาก “สารพัดภัยธรรมชาติ” ไม่ว่าจะเป็นปรากฏการณ์คลื่นซัดกระหน่ำชายฝั่ง น้ำท่วม หรือ พายุ

ขณะที่มูลค่าทรัพย์สินในเมืองหลวงของไทยที่สุ่มเสี่ยงถูกทำลาย ก็คิดเป็นวงเงินมหาศาลถึง 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 34.9 ล้านล้านบาท และทำให้กรุงเทพฯ กลายเป็นมหานครที่เสี่ยงต่อภัยคุกคามจากสภาพอากาศโลกมากที่สุดเป็นอันดับที่ 10 ของโลก แต่เป็นเมืองที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดเป็นอันดับที่ 1 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ด้านโฮเซ อังเฆล กูร์เรีย อดีตนักการทูตชาวเม็กซิกัน วัย 62 ปี ในฐานะเลขาธิการใหญ่ของโออีซีดี ออกมาเปิดเผยว่า เหตุน้ำท่วมครั้งใหญ่ในประเทศไทยที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางปี 2554 ที่แล้ว และสร้างความเสียหายเป็นวงเงินมากกว่า 45,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 1.43 ล้านล้านบาท) นั้น ถือเป็นสัญญาณเบื้องต้นที่บ่งชี้ว่า นับจากนี้เมืองหลวงของไทยจะต้องเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น
     
ทั้งนี้ รายงานของโออีซีดีระบุว่า 10 เมืองใหญ่ของโลกที่สุ่มเสี่ยงจะถูกทำลาย หรือเสี่ยงได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลกมากที่สุด คือ
  1. เมืองไมอามี มลรัฐฟลอริดา ของสหรัฐฯ
  2. นครกว่างโจว ของจีน
  3. มหานครนิวยอร์กและเมืองนวร์ก ของสหรัฐฯ
  4. เมืองโกลกาตาหรือกัลกัตตาของอินเดีย
  5. นครเซี่ยงไฮ้ของจีน
  6. เมือง มุมไบของอินเดีย
  7. เมืองเทียนจินหรือเทียนสินของจีน
  8. กรุงโตเกียว เมืองหลวงของญี่ปุ่น
  9. เขตปกครองพิเศษฮ่องกงของจีน และ
  10. ปิดท้ายด้วยกรุงเทพมหานครของไทย ในอันดับที่ 10
แหล่งที่มา    เว็บไซต์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ 11 กรกฎาคม 2555 14:20 น. 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...