วันจันทร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ภาษีตัวแทนประกันชีวิตหนึ่งในปัญหาเมื่อไทยเข้าสู่ AEC


Asean Economic Community (AEC) หรือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) เป็นการรวมกลุ่มของ 10 ประเทศในภูมิภาคอาเซียน คือ ไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน เวียดนาม ลาว พม่า และกัมพูชา ซึ่งจะมีผลสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2558 จุดมุ่งหมายของการรวมตัว คือ ให้สินค้า บริการ แรงงานมีฝีมือ การลงทุนและเงินทุนสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรีในกลุ่มประเทศสมาชิก เพื่อการนำอาเซียนไปสู่การเป็นตลาดและฐานผลิตร่วมกัน อันเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเสมอภาค เพื่อการบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของอาเซียน เนื่องจากปัจจุบันมีการรวมกลุ่มกันในภูมิภาคต่าง ๆ เช่น สหภาพยุโรป (EU) เขตการค้าเสรีในภูมิภาคอเมริกาเหนือ (NAFTA) สหภาพแอฟริกา (AU) หากแต่ละประเทศในกลุ่มอาเซียนไม่มีการรวมตัวกันขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจและการค้ากับประเทศในประชาคมเศรษฐกิจอื่น ๆ ก็มีข้อจำกัด

ดังนั้น การเป็นเออีซี จะช่วยลดอุปสรรคต่างๆ ในด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิก สร้างความเป็นปึกแผ่น เพิ่มอำนาจในการเจรจาต่อรองทางการค้ากับประชาคมเศรษฐกิจอื่นๆ และเวทีทางการค้าต่างๆ ของโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น สร้างอาเซียนให้เป็นศูนย์กลางภายในภูมิภาค รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆ ระหว่างประเทศสมาชิก

ธุรกิจประกันชีวิตเป็นอาชีพหนึ่งที่จะได้รับผลกระทบจากการเป็นเออีซีและยังถือว่ามีความสำคัญต่อประเทศ เพราะเป็นการออมทรัพย์ อันเป็นการประกันความมั่นคงให้กับชีวิต เมื่อกล่าวถึงธุรกิจประกันชีวิตทำให้คิดถึงผู้ที่เกี่ยวข้องคือ บริษัทผู้รับประกัน ผู้เอาประกัน ผู้รับผลประโยชน์ และตัวแทนประกันชีวิต

ปัจจุบันโครงสร้างภาษีของตัวแทนประกันชีวิตถูกจัดให้อยู่ในหมวด 40(2) ของประมวลรัษฎากรในหมวดรายได้จากค่าธรรมเนียม ค่าเช่าบ้าน เบี้ยประชุม โดยสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ร้อยละ 40 แต่ไม่เกิน 60,000 บาท ทั้งๆ ที่อาชีพตัวแทนประกันชีวิตจะมีค่าใช้จ่ายต่างๆ มากมาย เช่น ค่าเดินทางในการนำเสนอการประกันชีวิต ค่าเดินทางเยี่ยมผู้เอาประกัน ค่ากระเช้าดอกไม้สำหรับเยี่ยมผู้เอาประกันเวลาเจ็บป่วย ค่าเบี้ยประกันรถยนต์ ค่าอบรมสัมมนาต่างๆ ซึ่งในเรื่องนี้ สมาคมตัวแทนประกันชีวิตได้เคยเรียกร้องขอให้นำรายได้ของตัวแทนประกันชีวิตไปอยู่ในหมวด 40(8) ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจ และเสนอให้หักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ร้อยละ 30 เพื่อให้เท่าเทียมกับอาชีพอิสระอื่นๆ เช่น แพทย์ ทนายความ นักบัญชี เพราะมีความคล้ายคลึงกันในลักษณะของงาน แต่ทั้งนี้จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมายืนยันในเรื่องนี้แต่อย่างใด

ในขณะที่ประเทศอื่นในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะมีระบบโครงสร้างภาษีที่ดีกว่า เช่น

  • ประเทศอินโดนีเซีย ตัวแทนประกันชีวิตสามารถหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ถึงร้อยละ 50 ของรายได้ 
  • ส่วนประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย ถือว่าตัวแทนแต่ละคนเปรียบเสมือนผู้ประกอบการ สามารถนำค่าใช้จ่ายต่างๆ มาประเมินได้ถึงร้อยละ 40 ถึง ร้อยละ 60 เช่น ค่ารับรอง ค่าอบรมสัมมนา ค่าน้ำมัน

อาชีพตัวแทนประกันชีวิตของไทยต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาถึงร้อยละ 37 โดยไม่สามารถนำค่าใช้จ่ายตามที่กล่าวมาหักได้เหมือนกับประเทศอินโดนีเซีย สิงคโปร์และมาเลเซีย ทั้งยังต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอีกร้อยละ 7

การเข้าเป็นเออีซีไม่ใช่คำนึงถึงแต่เรื่องความทันสมัยเสมือนเช่นประชาคมเศรษฐกิจอื่นๆ แต่ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่าการเป็นเออีซีจะทำให้เกิดการแข่งขันกันมากขึ้น ธุรกิจตัวแทนประกันชีวิตเป็นธุรกิจหนึ่งที่มีความสำคัญไม่แตกต่างจากอาชีพอิสระอื่นๆ เช่น แพทย์ ทนายความ นักบัญชี

รัฐบาลไทยควรให้ความสำคัญของอาชีพตัวแทนประกันชีวิตโดยเร่งดำเนินการแก้ไขหรือปรับปรุง ตลอดจนออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภาษีเพื่อให้สอดคล้องกับการก้าวเข้าสู่เออีซีเพราะเมื่อเข้าสู่เออีซี การแข่งขันกับประเทศสมาชิกอื่นจะเพิ่มมากขึ้น ตัวแทนประกันชีวิตเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งในหลายๆ อาชีพที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับอาชีพต่างๆ ของคนไทยด้วย ไม่ใช่เพียงแต่การนำพาประเทศเข้าสู่เออีซีแต่ต้องคำนึงถึงว่าเมื่อเป็นเออีซีแล้ว ทำอย่างไรจะให้อาชีพของคนไทยสามารถแข่งขันกับอาชีพของประเทศอื่นๆ ได้

แหล่งที่มา    เว็บไซต์เดลินิวส์ โดย รุจิระ บุญนาค วันจันทร์ที่ 9 กรกฎาคม 2555 เวลา 00:00 น. 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...