วันอาทิตย์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

เกณฑ์กลางบริหารบุคคลพนักงานมหาวิทยาลัย


เครือข่ายพนักงานมหาวิทยาลัยฯ ระดมความคิดเห็นเสนอเกณฑ์กลางบริหารบุคคลพนักงานมหาวิทยาลัย 5 ด้าน “สวัสดิการไม่น้อยกว่าข้าราชการ-เงินเดือนแรกบรรจุ 2 ปีแรก ไม่ต่ำกว่า 1.5 เท่าของเงินเดือนข้าราชการ-ได้รับเงินประจำตำแหน่ง-สัญญาจ้างทดลองงาน 1 ปี สัญญาต่อไปจนถึง 60 ปี-มีส่วนร่วมในการบริหาร” วอน สกอ.ตั้งคณะกรรมการอย่างเป็นทางการเพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไข
   
รศ.น.ท.ดร.สุมิตร สุวรรณ
ประธานเครือข่ายพนักงานมหาวิทยาลัย
ในสถาบันอุดมศึกษา
วันนี้ (6 ก.ค.2555) รศ.น.ท.ดร.สุมิตร สุวรรณ ประธานเครือข่ายพนักงานมหาวิทยาลัยในสถาบันอุดมศึกษา กล่าวในการเสวนาทางวิชาการเรื่อง “การระดมความคิดเพื่อหาแนวปฏิบัติที่เป็นธรรมต่อพนักงานมหาวิทยาลัย” ว่า เครือข่ายฯ ได้ระดมความคิดเห็นพนักงานมหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิก เพื่อเสนอแนวทางปฏิบัติ หรือเกณฑ์กลางในการบริหารงานบุคคลสำหรับพนักงานมหาวิทยาลัย 5 ด้าน ได้แก่ 

  1. ด้านสวัสดิการและผลประโยชน์เกื้อกูล ควรไม่น้อยกว่าข้าราชการ โดยเฉพาะค่ารักษาพยาบาลบิดามารดา คู่สมรสและบุตร, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนสวัสดิภาพบุคลากร เป็นต้น
  2. โครงสร้างค่าตอบแทน/อัตราเงินเดือนแรกบรรจุ 
    • โดย 2 ปีแรก ให้จ้าง
      • พนักงานสายวิชาการไม่ต่ำกว่า 1.5 เท่าของเงินเดือนข้าราชการแรกบรรจุ
      • สายสนับสนุนวิชาการไม่ต่ำกว่า 1.3 เท่าของเงินเดือนข้าราชการแรกบรรจุ 
    • ระยะ 2 ปีถัดมา 
      • พนักงานสายวิชาการได้ในอัตรา ไม่ต่ำกว่า 1.6 เท่าของเงินเดือนข้าราชการแรกบรรจุ
      • พนักงานสายสนับสนุนได้ไม่ต่ำกว่า 1.4 เท่าของเงินเดือนข้าราชการแรกบรรจุ 
  3. การได้รับเงินประจำตำแหน่ง 
  4. การออกจากงาน โดยสัญญาจ้างทดลองงาน 1 ปี สัญญาต่อไปจนถึง 60 ปี แต่ยกเลิกสัญญาจ้างได้ ถ้าไม่ผ่านการประเมิน และใช้วิธีการประเมินในรูปคณะกรรมการ
  5. การมีส่วนร่วมในการบริหาร

รศ.น.ท.ดร.สุมิตร กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา ทางเครือข่ายฯ เคยทำเรื่องเสนอปัญหาต่อ ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.ศึกษาธิการ ซึ่งได้รับการตอบรับโดยมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เข้ามาช่วยประสานแก้ไข โดยทางเครือข่ายฯ คาดหวังว่าจะมีแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดีขึ้น หากยังไม่มีอะไรคืบหน้าก็จะยื่นหนังสือถึง รมว.ศึกษาธิการ อีกครั้ง และยื่นถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

“พนักงานมหาวิทยาลัยก็เป็นอาจารย์ผู้สอนเหมือนกัน ซึ่งก็ควรได้รับการดูแลมีเกียรติและศักดิ์ศรีเหมือนอาจารย์ที่เป็นข้าราชการ ซึ่งมีกฎหมายรองรับสถานภาพ แต่พนักงานมหาวิทยาลัย ไม่มีตัวตนในสังคม ไม่มีกฎหมายรองรับ จึงอยากเรียกร้องให้มี พ.ร.บ.พนักงานมหาวิทยาลัยในสถาบันอุดมศึกษา หรือแก้ไข พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ให้ครอบคลุมพนักงานมหาวิทยาลัยด้วย ทั้งขอให้ สกอ.ตั้งคณะกรรมการอย่างเป็นทางการเพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไข” รศ.น.ท.ดร.สุมิตร กล่าว     

ขณะที่ รศ.นพ.กำจร ตติยกวี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า สกอ.พร้อมตั้งคณะกรรมการตามที่เครือข่ายฯ ร้องขอ เพื่อร่วมกันยกร่าง พ.ร.บ.พนักงานมหาวิทยาลัยในสถาบันอุดมศึกษา เพื่อเสนอต่อ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานอนุกรรมการดูแลมหาวิทยาลัยจัดตั้งใหม่ ทั้งให้เครือข่ายฯ จัดทำร่างเกณฑ์กลางอัตราเงินเดือนแรกบรรจุของพนักงานมหาวิทยาลัยของทุกแห่ง เพื่อตนจะได้นำเสนอที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งประเทศ (ทปอ.) ม.รัฐเดิม, ทปอ.มหาวิทยลัยราชภัฏ และ ทปอ.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ซึ่งตนเชื่อว่า ผู้บริหารก็ต้องการช่วยเหลือพนักงานมหาวิทยาลัยของตนเองอยู่แล้ว นอกจากนี้ จะได้จัดกลุ่มหารือกับที่ประชุมนายกสภามหาวิทยาลัยซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดในมหาวิทยาลัยให้เกิดความเข้าใจด้วยอีกทาง หากทุกฝ่ายเห็นตรงกันก็จะได้ประกาศเกณฑ์กลางอัตราเงินเดือนพนักงานมหาวิทยาลัย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำให้น้อยลง

แหล่งที่มา     เว็บไซต์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ 6 กรกฎาคม 2555 17:42 น. 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...