วันอังคารที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ด้วยสองเท้าเรานี้...ที่รักษ์โลก


การเดินเป็นรูปแบบการเดินทางดั้งเดิมที่ให้ความเท่าเทียมกันในสังคมมากที่สุด 

  • ไม่ว่าคุณจะเดินทางไปทำงานด้วยรถยุโรปราคาพอจะซื้อบ้านได้ หรือ
  • ด้วยรถเมล์ร้อนราคาแปดบาทตลอดสาย 
ในช่วงหนึ่งของการเดินทาง คุณจะต้องเดิน การเดินทางทุกรูปแบบมีการเดินเข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ 

  • จากประตูบ้านมาถึงรถยนต์ 
  • จากที่จอดรถไปสู่ห้องทำงาน 
  • จากที่ทำงานไปร้านข้าวแกงฝั่งตรงข้าม หรือ
  • จากป้ายรถประจำทางปากซอยเข้าหมู่บ้าน 
ล้วนแล้วแต่ต้องอาศัยพลังของสองเท้าพาเราไปทั้งสิ้น ขณะที่ประเทศต่างๆ ตระหนักถึงความสำคัญของการเดิน ซึ่งเป็นรากฐานของการเดินทางและการขนส่งอย่างยั่งยืน และพยายามพัฒนาเครื่องไม้เครื่องมือ รวมถึงองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการเดินมากขึ้น แต่บ้านเรามักจะละเลยการดูแลเอาใจใส่สิ่งอำนวยความสะดวกต่อการเดิน ได้แต่ปล่อยให้คนเดินถนนเผชิญกับความท้าทายบนเส้นทางอันหลากหลายตามยถากรรม อุปสรรคในแต่ละย่างก้าวผนวกรวมกับข้ออ้างต่างๆ และความรักสบายของคนไทยจึงทำให้เรามีกิจกรรมการเดินที่น้อยลงไปทุกวัน       

กิจกรรมการเดินเพื่อกิจธุระและการพักผ่อนหย่อนใจของคนไทย มักมีฉากเป็นห้างสรรพสินค้าและสวนสาธารณะ ถ้าคุณอยากเดินก็ขับรถฝ่ากระแสจราจรไปให้ถึงที่เหล่านี้ แล้วก็เริ่มเดินได้ตามอัธยาศัย คนไทยตื่นตัวมาเป็นเวลานานเรื่องการรักษาสุขภาพ ด้วยคำขวัญที่ได้ยินกันบ่อยๆ ว่า สุขภาพดีไม่มีขาย อยากได้ต้องออกกำลังกาย ตลกร้ายคือ ไม่รู้มีกี่คนที่ต้องขับรถฝ่ากระแสจราจรร่วมชั่วโมงไปเพื่อให้ได้วิ่งบนสายพาน หรือปั่นจักรยานอยู่กับที่ แล้วก็ขับรถกลับ ขณะที่ในประชากรในประเทศอื่นๆ มีทางเท้าหน้าบ้านเป็นลู่วิ่ง และจับจ่ายซื้อของกันตามร้านเล็กๆ ตลอดสองฝั่งถนน และถนนคนเดินที่อาจจะอยู่ห่างไปไม่กี่ร้อยเมตร การเดินเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนในหลายประเทศ และตัวเลขสถิติด้านสุขภาพก็เป็นสิ่งบ่งชี้ที่เด่นชัดถึงประโยชน์ทางอ้อมจากการให้ความสำคัญแก่คนเดินเท้า

  • คนญี่ปุ่นมีอายุขัยเฉลี่ยเกือบ 83 ปี 
  • คนฮ่องกงมีอายุขัยเฉลี่ย 82 ปี 
  • ขณะที่คนไทยมีอายุขัยเฉลี่ย 70 ปี 
การจัดแข่งขันสิงคโปร์มาราธอนและฮ่องกงมาราธอน สามารถกำหนดเส้นทางวิ่งตามแหล่งธุรกิจและแหล่งชุมชน ซึ่งปิดการจราจรเช้าวันอาทิตย์ได้อย่างสมบูรณ์แบบ โดยมีการแจ้งผู้ขับขี่ล่วงหน้า คนท้องถิ่นที่เดินและวิ่งอยู่เป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ มีสภาพร่างกายที่พร้อมเปลี่ยนชุดลงสนามวิ่ง ห้ากิโล สิบกิโลสบายๆ วันนั้นทั้งวัน คนทั่วเมืองก็จะอยู่ในอารมณ์สนุกสนาน เสมือนหนึ่งเป็นงานรื่นเริงประจำปี ส่วนกรุงเทพมหานครของเรา ก็จัดบางกอกมาราธอนกับเขาทุกปีเช่นกัน ซึ่งกลายเป็นรายการแข่งขันที่มีความแปลกประหลาดไม่เหมือนใคร เมื่อนักวิ่งต้องวิ่งบนพื้นทางที่ค่อนข้างวิบาก เคล้าไปกับไอเสียรถยนต์ ที่วิ่งแข่งอยู่ในช่องจราจรใกล้ๆ นักวิ่งต้องหยุดให้ทางรถยนต์ตามสี่แยกเป็นระยะ รวมทั้งได้ยินเสียงบ่นด่า จากผู้ขับขี่ที่ไม่ได้รับข่าวสารใดๆ มาก่อน และไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจกับความล่าช้าในการเดินทางเช้าวันอาทิตย์
     
นโยบายนักการเมืองบ้านเรา ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศพูดถึงทางหลวงยกระดับ ทางเลี่ยงเมือง ทางแยกต่างระดับ และระบบรางอันทันสมัย แต่ “ทางเท้า” ซึ่งเป็นสิ่งที่ตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานในการเดินทางมักจะถูกหลงลืม เหมือนไม่มีใครตระหนักถึงความสำคัญ หรือแม้แต่การมีอยู่ของมัน ทางเท้าเพียงแต่ทอดตัวทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์และเจียมตัว พร้อมกับต่อสู้กับการถูกรุกล้ำจากมอเตอร์ไซค์ แผงลอย วณิพก เสาไฟฟ้า ตู้โทรศัพท์ และสิ่งแปลกปลอมอื่นอย่างเงียบๆ ผมไม่ได้วาดภาพทางเท้าในอุดมคติสำหรับเมืองไทย ให้เป็นทางเท้าที่เรียบร้อยเกลี้ยงเกลาถึงกับไม่มีสิ่งของกีดขวางเลย บ้านเรามีความผูกพันกับกิจกรรมบนทางเท้าต่างๆ มากเกินกว่าจะเอามาตรฐานการจัดระเบียบที่เข้มงวดจากที่อื่นมาบังคับ เรายังคงต้องการวิถีการดำเนินชีวิต ที่มีเอกลักษณ์แบบไทยๆ เรายังคงต้องจัดพื้นที่ ให้ธุรกิจข้างถนน ให้ยืนอยู่ได้ แม้ว่าแผงขายเสื้อผ้าและรถขายน้ำแข็งไส อาจจะต้องเบียดบังพื้นที่คนเดินไปบ้าง แต่เราก็ได้ความมีชีวิตชีวาให้กับทางเท้า ตราบใดที่ไม่ถึงกับขับไสไล่ส่งให้คนต้องระเห็จไปเดินปะปนกับรถบนถนน แต่สำหรับวัตถุบางประเภท เช่น มอเตอร์ไซค์ กองทราย เสาไฟฟ้า ม้าหิน และหลุมบ่อเหล่านี้ คือสิ่งที่ไม่พึงประสงค์และไม่มีเหตุอันควรที่จะขึ้นมาอยู่บนทางเท้า
     
ผมเชื่อว่า ประชาชนพึงตระหนักถึงสิทธิของตนเอง ที่สามารถจะเลือกมีคุณภาพชีวิตที่ดี ขณะที่หน่วยงานรัฐต้องเข้าใจหน้าที่ในการดูแลประชาชนทุกระดับ บ้านเราเคยมีคดีความเกี่ยวกับทางเท้าให้เป็นกรณีศึกษามาแล้วในปี พ.ศ.2553 เมื่อประชาชนรวมตัวกันฟ้องร้องเทศบาลนครอุบลราชธานี เนื่องจากได้รับความเดือดร้อนจากโครงการขยายผิวจราจรจำนวน 24 สาย ด้วยการทุบทางเท้าทิ้งและตัดย้ายต้นไม้ใหญ่ออกเพื่อเปลี่ยนเป็นพื้นที่ถนนและที่จอดรถ ทำให้ประชาชนผู้เสียหายได้รับผลกระทบเกิดความไม่ปลอดภัยจากการเดินเท้าและขาดต้นไม้ใหญ่ที่ช่วยฟอกอากาศให้บริสุทธิ์ ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำของเทศบาลฯ เป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักความเสมอภาคและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จึงตัดสินให้เทศบาลฯ ดำเนินการจัดให้มีทางเท้าตามเดิมในถนนที่มีการขยายผิวจราจรทุกสายที่เคยมีทางเท้าอยู่เดิม โดยพิจารณาความกว้างของทางเดินเท้า รวมทั้งการปลูกต้นไม้บนทางเท้าดังกล่าวให้เหมาะสมกับสภาพการใช้ประโยชน์ของชุมชนและขนาดของถนนแต่ละโครงการ และขณะนี้ก็อยู่ในขั้นตอนการกำกับให้เทศบาลดำเนินการตามคำสั่งศาลอย่างเคร่งครัด
     
       ...
     
ผมแบ่งปัจจัยที่ส่งเสริมการเดินเท้าเป็นสองด้าน

  1. หนึ่งคือสิ่งดึงดูดให้เดิน และ
  2. สองคือสิ่งอำนวยความสะดวกในการเดิน 
ความสำเร็จในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้คนไทย หันมาเดินกันมากขึ้นจะขึ้นอยู่กับทั้งสองปัจจัย คงไม่มีใครอยากเดินช้อปปิ้งบนเส้นทางคับแคบเบียดเสียด เป็นหลุมเป็นบ่อ มีรถมอเตอร์ไซค์โฉบเฉี่ยวไปมา หรือถ้ามีทางเท้าสวยงามกว้างขวางและราบเรียบ ก็คงจะดียิ่งกว่าหากมีสถานีรถไฟ ร้านขายของที่ระลึก ร้านกาแฟ ร้านหนังสือพิมพ์ ศิลปินวาดภาพ หรือแม้แต่การแสดงเปิดหมวกที่น่าสนุกสนานเรียงรายอยู่ตามเส้นทางที่เราจะเดินไป
     
นิวยอร์กซิตี้ มหานครที่แออัดด้วยความหนาแน่นประชากรกว่าหนึ่งหมื่นคนต่อตารางกิโลเมตรถูกยกให้เป็นภาพลักษณ์ของการก่อเกิดมลพิษและทำลายสิ่งแวดล้อมมาช้านาน ภาพของผู้คนเบียดเสียด รถติด อากาศเสียชักจูงให้เรามีความคิดแบบนั้นได้โดยง่าย แต่ถ้าเราดูตัวเลขสถิติกันจริงๆ เราจะพบว่ามหานครแห่งนี้เป็นต้นแบบแห่งการประหยัดพลังงานและการวางแผนพัฒนาเมืองแบบยั่งยืน คนนิวยอร์คพึ่งพาสองขาของตัวเองมากกว่าและพึ่งพารถยนต์น้อยกว่าคนเมืองอื่นๆ ในอเมริกา สถิติเมื่อปี ค.ศ. 2000 พบว่ากว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนครัวเรือนทั้งหมดไม่มีรถยนต์ โดยเฉพาะบ้านในเขตแมนฮัตตั้นกว่า 74% ไม่มีรถยนต์ และเกือบหกเปอร์เซ็นต์ของประชากรเดินไปทำงานโดยไม่ใช้ระบบขนส่งอื่นเลย

ฮ่องกงและสิงคโปร์ก็เป็นตัวอย่างของประเทศ ที่ประชากรใช้การเดินเป็นวิธีการเดินทางหลัก เมืองเหล่านี้มีปัจจัยที่ส่งเสริมการเดิน คือมีความหนาแน่นสูง และมีลักษณะของการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบผสมผสาน สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อยู่รอบที่อยู่อาศัยในระยะเดินถึง คนสามารถเดินลงมาซื้อขนม หนังสือพิมพ์ กาแฟ หรือยาแก้ปวดได้ที่ร้านรอบๆ อพาร์ตเมนท์ด้วยการเดิน ส่วนการเดินทางที่ไกลกว่านั้นก็ใช้รถไฟและการเดินอีกครั้งจากสถานีรถไฟไปยังจุดหมายสุดท้าย คนรุ่นใหม่ในนิวยอร์คสามารถนำเงินไปลงทุนกับที่อยู่อาศัยหรือหลักทรัพย์อื่นๆ ที่มีมูลค่าเพิ่มแทนที่จะต้องมาจมกับรถที่เสื่อมราคาลงทุกวัน
     
Walk score เป็นการให้คะแนนความน่าเดินของพื้นที่หรือของเมืองที่คำนวณจากระยะห่างจากสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รวม 13 ประเภท เช่น ร้านสะดวกซื้อ ร้านกาแฟ ร้านอาหาร โรงหนัง สวนสาธารณะ ร้านขายยา ฯลฯ มีงานวิจัยในสหรัฐอเมริกาพบว่าที่ดินที่มีคะแนนความน่าเดินนี้มากก็จะมีมูลค่าที่ดินมากกว่าเมื่อเทียบกับที่ดินในเขตเมืองเดียวกัน (Cortright, J. “Walking the Walk: How Walkability Raises Housing Values in U.S. Cities”, August 2009.) เว็บไซต์ www.walkscore.com กลายเป็นเว็บไซต์ที่มีคนอเมริกันนิยมเข้าไปใช้ตรวจสอบความน่าอยู่ของบ้านที่กำลังจะซื้อและอพาร์ตเมนท์ที่กำลังจะเช่าเป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นถึงความตื่นตัวในการปรับวิถีชีวิตให้มีความซับซ้อนยุ่งยากน้อยลง
     
กรุงเทพมหานครและอีกหลายๆ เมืองของบ้านเรามีการเติบโตออกไปในทุกทิศทางอย่างอิสระ การวางผังเมืองมุ่งเน้นการขยายตัว และการพัฒนาเมืองออกไปในแนวระนาบ ซึ่งนอกจากจะทำให้สิ้นเปลืองการลงทุนในด้านสาธารณูปโภคและการขนส่งแล้ว ยังเป็นการบังคับให้คนจำเป็นต้องใช้รถ เนื่องจากการให้บริการของระบบขนส่งสาธารณะไม่สามารถเติบโตได้ทัน ลักษณะของบ้านจัดสรรชานเมืองทำให้บ้านเดี่ยวอยู่ไกลจากสิ่งอำนวยความสะดวกทุกอย่างและไม่เอื้ออำนวยต่อการเดิน นอกจากนี้ ย่านธุรกิจและย่านพาณิชยกรรมใหญ่ๆ ยังกระจุกตัวอยู่ไม่กี่ที่ ทั้งวันธรรมดาและวันหยุดสุดสัปดาห์ เราก็จะเห็นการเดินทางเข้าเมืองมาเผชิญรถติดในทิศทางและเวลาเดียวกัน และออกจากเมืองพร้อมๆ กัน สิ่งนี้ไม่ได้เป็นความผิดพลาดในอดีตเท่านั้น แม้กระทั่งคอนโดมีเนียมที่เกิดขึ้นใหม่หลายแห่งยังไม่คำนึงถึงวิถีการดำเนินชีวิตของผู้อยู่อาศัย


อย่างไรก็ตามการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ส่วนใหญ่ทุกวันนี้เริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้น คอนโดมีเนียมหลายแห่งสร้างร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหาร และสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานไว้ที่ชั้นล่าง ผมเชื่อว่าคอมมูนิตี้มอลล์ที่ผุดขึ้นเหมือนดอกเห็ดทั่วเมือง จะมีส่วนช่วยให้คนกรุงเทพฯ ลดการใช้รถยนต์และหันกลับมามีความสามารถในการเดินมากขึ้น แต่ก็ยังต้องรอองค์ประกอบอื่นๆ ในบริเวณข้างเคียงเติบโตให้เต็มที่เพื่อเติมเต็มความสมบูรณ์ของเมืองขนาดย่อยตามย่านต่างๆ สิ่งที่น่าสนใจศึกษาสำหรับกรุงเทพคือความเหมาะสมในการนำ walk score นี้มาปรับใช้เพื่อวิเคราะห์ความน่าอยู่ของพื้นที่รวมทั้งเป็นแนวทางในการพัฒนาการใช้ประโยชน์ที่ดินในอนาคต

นอกจากการวางแผนและผังของสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ แล้ว อีกส่วนหนึ่งที่เราน่าจะต้องเอาใจใส่คือเส้นทางการเดินซึ่งดูเหมือนจะเป็นเรื่องง่ายๆ แต่เราก็ยังไม่สามารถทำได้สำเร็จไม่ว่าในยุคไหนๆ ผมเชื่อว่า ผมไม่ใช่คนเดียวที่เคยอยากจะบอกผู้สมัครผู้ว่าฯ ทั้งหลาย ว่ากรุงเทพฯ ไม่ได้มีความต้องการเทคโนโลยีหรือสิ่งปลูกสร้างใดๆ ที่ซับซ้อนนัก ขอแค่ทางเดินเท้าดีๆ ต้นไม้ร่มๆ ภูมิทัศน์สวยๆ สำหรับกรุงเทพฯ รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกให้คนเดินเท้าได้อย่างปลอดภัยก็พอที่จะทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่ขึ้นมากแล้ว

มนุษย์มีความไม่สมบูรณ์แบบอยู่ในตัว เราสามารถทำผิดพลาดได้เสมอในชีวิตประจำวัน แต่เราเชื่อว่าความผิดพลาดในกิจกรรมพื้นฐานเช่นการเดินทาง ไม่ควรถูกลงโทษอย่างรุนแรงถึงบาดเจ็บหรือเสียชีวิต เราจึงออกแบบถนนและทางหลวงที่ลดผลกระทบจากความผิดพลาดเหล่านั้น ด้วยหลักการคิดที่เรียกว่า Forgiving Road เช่น การติดตั้งแถบสั่นสะเทือนไว้บนผิวถนนเพื่อเตือนให้ผู้ขับขี่ตื่นตัว การเคลื่อนย้ายสิ่งกีดขวางออกนอกเส้นทาง หรือหากเคลื่อนย้ายไม่ได้ก็ทำให้มันมีความยืดหยุ่น ชนแล้วไม่เป็นอันตราย แต่การออกแบบทางเดินเท้า บาทวิถี ทางข้าม ให้ลดอันตรายจากการสัญจรกลับไม่มีใครใส่ใจ ทั้งๆ ที่คนเดินถนนน่าจะเป็นคนที่ต้องดูแลก่อน เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถทำอันตรายใครได้ และมีความสามารถในการป้องกันตัวเองต่ำที่สุด ผู้ขับขี่รถยนต์มีสิทธิเลือกที่จะขับอย่างเสี่ยงอันตรายหรือปลอดภัย ถ้าสุดท้ายแล้วคุณขับรถเข้าไปอยู่ในสถานการณ์คับขันและไม่สามารถหยุดรถได้ คุณยังมีเสี้ยววินาทีที่จะเลือกรักษาตัวเอง รักษารถ หรือจะรักษาต้นไม้ แต่ในสถานการณ์ฉุกเฉินคนเดินถนนมีโอกาสเลือกน้อยเหลือเกิน

นักวิชาการจากหน่วยงานวิจัยหลายแห่งพยายามพัฒนา Walkability index ในรูปแบบต่างๆ โดยรวมหลักการของ walk score ที่วิเคราะห์ความใกล้ไกลของกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับสภาพการใช้งานและประสิทธิภาพของสิ่งอำนวยความสะดวกการเดินเท้า ได้แก่ทางเท้า ทางข้าม ทางลาด ไปจนถึงสิ่งอำนวยความสะดวกแก่คนพิการ แม้ว่าจะพัฒนาจากรากฐานและวัตถุประสงค์ แต่ก็ยังมีความคลาดเคลื่อนกันในแต่ละทฤษฎี เนื่องจากความต้องการและความเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละท้องที่แตกต่างกันอย่างที่ผมเกริ่นนำไว้ข้างต้นสำหรับเมืองไทย     
       ...
     
David Owen นักเขียนแห่งนิตยสารเดอะนิวยอร์กเกอร์ ชี้ให้เห็นว่าวันที่เรามีเทคโนโลยีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแบบไดอัลอัพ เราเคยเชื่อว่าการเพิ่มความเร็วในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต จะทำให้เราทำงานเสร็จรวดเร็วขึ้นและลดการใช้ไฟฟ้าลง ปัจจุบันเราเชื่อมต่อด้วยความเร็วมากกว่าเดิมเป็นร้อยเท่า แต่เรากลับใช้เครื่องคอมพิวเตอร์นานขึ้นและสิ้นเปลืองพลังงานมากขึ้น พฤติกรรมในลักษณะเดียวกันของมนุษย์สามารถอธิบายได้กับปริมาณพลังงานที่ใช้ในเครื่องจักรไอน้ำ ไฟฟ้าแสงสว่าง และเครื่องปรับอากาศที่เพิ่มขึ้นทั้งๆ ที่ประสิทธิภาพความประหยัดพลังงานของสิ่งเหล่านี้ดีกว่าในอดีตมาก การใช้รถก็เช่นเดียวกัน รถประหยัดน้ำมันวิ่งได้ไกลกว่ารถธรรมดาร่วมสิบกิโลเมตรต่อน้ำมันเชื้อเพลิงหนึ่งลิตร แต่เรากลับขับรถเพิ่มขึ้นด้วยความรู้สึก “ประหยัด” ทำให้อัตราการเผาผลาญพลังงานในภาคการขนส่งโดยรวมของเรากลับเพิ่มขึ้น ไม่ว่ารถของคุณจะมีประสิทธิภาพต่อการเผาผลาญเชื้อเพลิงดีเพียงใดก็ตามมันก็จะมีส่วนเพิ่มรอยเท้าคาร์บอนให้แก่โลกอยู่ดี การขับรถแบบประหยัดน้ำมันไกลขึ้นหนึ่งกิโลเมตรไม่ได้แปลว่าเราช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น
     
การเดินเป็นวิธีการเดินทางที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษและเป็นรากฐานที่แข็งแรงที่สุดในการพัฒนาระบบขนส่งอย่างยั่งยืน กลุ่มคนเดินเท้าที่ไม่เคยอยู่ในสายตาของใครๆ เริ่มปรากฏตัวตนและมีความสำคัญมากขึ้น มีความพยายามหลากหลายในการปกป้องและเรียกร้องสิทธิของคนเดินเท้า ซึ่งแท้ที่จริงหมายรวมถึงเราทุกคน คนกลุ่มเล็กๆ ภายใต้ชื่อกรุงเทพเดินสบาย (Bangkok Sabai Walk) ได้รวมตัวกันจัดกิจกรรมเป็นระยะเพื่อส่งเสริมความเป็นเมืองน่าอยู่ โดยใช้การเดินเป็นเครื่องมือหลัก ผมเชื่อว่ายังมีอีกหลากหลายความพยายามที่อาจจะยังเสียงไม่ดังพอ แต่ผมเชื่อว่าเสียงเหล่านี้จะดังขึ้นเรื่อยๆ จนถึงจุดพลิกผัน (tipping point) จุดหนึ่งในวันที่ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญ ว่าการเดินด้วยสองเท้าของเรานี้จะช่วยให้เราใช้ชีวิตอยู่บนโลกนี้ได้นานขึ้น และช่วยให้โลกนี้อยู่กับลูกหลานเราได้นานขึ้น


ดร.ศิรดล ศิริธร
ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีประยุกต์ด้านการขนส่งและโลจิสติกส์
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี


แหล่งที่มา   เว็บไซต์ ASTV โดย ดร.ศิรดล ศิริธร 3 กรกฎาคม 2555 19:49 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...