วันจันทร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

เกร็ดประวัติศาสตร์...สืบเนื่องจาก'ขุนศึก'


ในประวัติศาสตร์อโยธยานั้น นอกจากเรื่องการทำสงครามกับอาณาจักรเพื่อนบ้านแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ปรากฏอยู่มากไม่แพ้กันก็คือ เรื่องราวของการชิงราชสมบัติ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ล้วนมาจากฝีมือของผู้ใกล้ชิดของราชวงศ์ แต่ในเรื่องราวการแย่งชิงราชสมบัตินี้ มีบุรุษผู้หนึ่งที่ได้เป็นตัวการสำคัญในการเปลี่ยนแปลงผู้ครองราชย์กรุงศรีอโยธยาหลายครั้ง ซึ่งบุรุษผู้นั้นก็คือ จมื่นศรีสรรักษ์

  
จมื่นศรีสรรักษ์ มีนามเดิมว่า ไล กำเนิดเดิมนั้นไม่แน่ชัด แต่มีที่มาอยู่สองกระแส โดยกระแสแรกมีเรื่องเล่ากันมาว่า เมื่อครั้งสมเด็จพระเอกาทศรถยังเป็นพระมหาอุปราช วันหนึ่งได้เสด็จประพาสลำน้ำมาถึงเกาะบางปะอิน เรือพระที่นั่งถูกพายุพัดจนล่มจึงต้องเสด็จไปอาศัยบนเกาะบางปะอิน และได้พบกับหญิงงามนามว่า อิน ซึ่งเป็นสาวชาวบ้านบนเกาะ และในคืนนั้นเอง ก็ทรงได้นางเป็นบาทบริจาริกา ต่อมานางได้คลอดบุตรเป็นชาย สมเด็จพระเอกาทศรถจะรับเป็นพระโอรสก็ละอายพระทัยจึงทรงให้ออกญาศรีธรรมาธิราชรับไปเลี้ยงดูจนกระทั่งเติบใหญ่

ส่วนกระแสที่สอง มาจากจดหมายเหตุของนาย ฟานฟลีต หัวหน้าสถานีการค้าชาวดัชท์ ซึ่งเอกสารดังกล่าว เขียนขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง กล่าวว่าจมื่นศรีสรรักษ์เป็นบุตรออกญาศรีธรรมาธิราช ซึ่งเป็นพี่ชายคนใหญ่ของสมเด็จพระชนนีสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม คนทั้งหลายเรียกกันว่า พระองค์ไล ทรงประสูติในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

ในพระราชพงศาวดารได้เล่าไว้ว่า จมื่นศรีสรรักษ์ผู้นี้ได้รับราชการเป็นมหาดเล็กหุ้มแพรตั้งแต่อายุ 14 และเป็นที่โปรดปรานของสมาเด็จพระเอกาทศรถจนได้เลื่อนเป็นจมื่นศรีสรรักษ์เมื่อายุได้ 18 ปี ซึ่งจมื่นศรีสรรักษ์นี้เป็นผุ้ที่มีนิสัยค่อนไปทางนักเลง เชี่ยวชาญในการต่อสู้ทั้งยังมีพวกพ้องบริวารอยู่เป็นอันมาก ต่อมาได้ไปมีเรื่องกับพรรคพวกของพระยาแรกนาจนถูกลงพระราชอาญาจำคุก ทว่าบรรดาพวกพ้องได้ไปร้องขอให้เจ้าขรัวมณีจันทร์ พระชายาม่ายในสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงมาทูลขอพระราชทานอภัยโทษให้ จมื่นศรีสรรักษ์จึงได้รับพระราชทานอภัยโทษออกมารับราชการตามเดิม

มาถึงปลายรัชกาลของสมเด็จพระเอกาทศรถ เวลานั้น เจ้าฟ้าสุทัศน์ สมเด็จพระมหาอุปราช พระราชโอรสองค์โตของสมเด็จพระเอกาทศรถ เกิดขัดแย้งกับพระราชบิดาจนน้อยพระทัยเสวยยาพิษปลงพระชนม์ชีพพระองค์เอง ทำให้สมเด็จพระเอกาทศรถโทมนัสพระทัยจนประชวร ในระหว่างนั้นก็ได้ทรงแต่งตั้งให้ เจ้าฟ้าศรีเสาวภาคย์ พระอนุชาร่วมพระมารดาของเจ้าฟ้าสุทัศน์ขึ้นเป็นพระมหาอุปราชแทน 

(วัดไชยวัฒนาราม สถาปนาขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง)
ต่อมาไม่นานสมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จสวรรคต เจ้าฟ้าศรีเสาวภาคย์จึงขึ้นครองราชย์แทน ทว่าพระองค์ทรงอ่อนแอและเอาแต่เชื่อฟังขุนนางที่เป็นข้าหลวงเดิม จนวันหนึ่งทรงรับสั่งให้ประหารออกญากรมนายไวย หัวหน้าทหารอาสาญี่ปุ่น ด้วยทรงระแวงว่า ออกญาผู้นี้จะคิดกบฎ ทำให้ทหารอาสาญี่ปุ่นจำนวนมากไม่พอใจ และรวมพลได้ห้าร้อยนายบุกเข้าวังหลวงจับกุมสมเด็จพระศรีเสาวภาคย์ไว้และจับขุนนางสี่นายที่กราบทูลยุยงให้ประหารออกญากรมนายไวย มาตัดคอเสีย จากนั้นก็บังคับให้สมเด็จพระศรีเสาวภาคย์อยู่ในอำนาจและแอบอ้างพระราชโองการขูดรีดทรัพย์สินผู้คนเอาตามใจชอบ

ในเวลานั้น พระอินทราชา โอรสของสมเด็จพระเอกาทศรถที่ประสูติแต่พระสนม ทรงผนวชอยู่ที่วัดระฆัง และได้สมณศักดิ์เป็นพระพิมลธรรมอนันตปรีชา ได้สมคบกับจมื่นศรีสรรักษ์ผู้ได้ถวายตัวเป็นศิษย์รวบรวมไพร่พลเพื่อก่อการ ครั้นเมื่อระดมกำลังมาพร้อมแล้ว พระพิลมลธรรมก็ลาผนวชและนำไพร่พลบุกเข้าวังหลวงจับสมเด็จพระศรีเสาวภาคย์ ไปปลงพระชนม์เสียที่โคกพญาและได้ปราบปรามกองทหารอาสาญี่ปุ่นที่ก่อความวุ่นวายจนราบคาบ จากนั้นจึงเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ส่วนจมื่นศรีสรรักษ์ซึ่งในยามนั้นมีวัยเพียงยี่สิบปีเศษๆ ก็ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นออกญาศรีวรวงศ์ จางวางมหาดเล็ก

(การชิงราชสมบัติในสมัยอยุธยา)
แปดปีต่อมา ครั้นถึงปลายรัชกาล พระเจ้าทรงธรรมทรงประชวรหนัก ก่อนจะสวรรคตทรงหมายพระทัยจะให้สมเด็จพระเชษฐาธิราชซึ่งเป็นพระราชโอรสวัยสิบสามชันษาขึ้นครองราชย์ต่อ แต่เหล่าขุนนางผู้ใหญ่กลับสนับสนุนพระศรีศิลป์ พระอนุชาของพระองค์ที่ยามนั้นกำลังผนวชอยู่ที่วัดระฆัง พระเจ้าทรงธรรมจึงทรงฝากเรื่องทั้งปวงให้ออกญาศรีวรวงศ์ เป็นธุระช่วยให้พระเชษฐาธิราชได้ขึ้นครองราชย์ ออกญาศรีวรวงศ์ได้ร่วมมือกับออกญาเสนาภิมุข เจ้ากรมทหารอาสาญี่ปุ่นจับเหล่าขุนนางที่ไม่เห็นด้วย ประหารเสียและให้คนไปลวงพระศรีศิลป์ให้ลาผนวชจากวัดระฆังและนำไปคุมขังไว้ในหลุมลึกโดยจะให้อดอาหารจนสิ้นพระชนม์ ทว่าออกหลวงมงคล ขุนทหารคู่พระทัยของมาช่วยเอาไว้และเชิญเสด็จไปประทับยังเพชรบุรี

จากนั้นหลวงมงคลได้ระดมไพร่พลจากพรรคพวกญาติพี่น้องและหัวเมืองข้างเคียงจัดเป็นกองทัพใหญ่ตั้งมั่นอยู่ที่เพชรบุรี เพื่อให้พระศรีศิลป์เตรียมยกมาตีกรุงศรีอโยธยา ทว่า ออกญาศรีวรวงศ์ได้ให้ออกญากำแหงสงครามและออกญาเสนาภิมุขนำทัพไปปราบปรามจนฝ่ายพระศรีศิลป์แตกพ่าย พระศรีศิลป์ถูกจับได้และถูกนำไปปลงพระชนม์ ส่วนหลวงมงคลภายหลังได้ถูกจับกุมและถูกประหารชีวิตเช่นกัน



และด้วยความชอบในครั้งนี้ ออกญาศรีวรวงศ์จึงได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ และกลายเป็นขุนนางใหญ่ที่มีบารมีมากล้นเป็นที่หวาดเกรงแก่เหล่าขุนนางข้าราชการทั้งปวง จนในไม่ช้าก็กลายเป็นที่หวาดระแวงของยุวกษัตริย์ สมเด็จพระเชษฐาธิราช

ต่อมา มารดาของเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ถึงแก่กรรม เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ได้จัดงานศพอย่างใหญ่โต ขุนนางทั้งหลายต่างไปช่วย บางคนถึงกับไปนอนค้าง เมื่อสมเด็จพระเชษฐาธิราชออกว่าราชการ ทรงพบว่ามีข้าราชการหายไปจำนวนมากจึงพิโรธว่าจะลงอาญาข้าราชการเหล่านั้น เหล่าข้าราชการจึงไปขอพึ่งเจ้าเจ้าพระยากลาโหมและไม่ไปเข้าเฝ้า

พวกข้าหลวงเดิมของสมเด็จพระเชษฐาธิราชได้ทูลยุยงว่าเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์คิดเป็นกบฏ จึงทรงให้ข้าหลวงไปหลอกให้เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์เข้าวังมาเพื่อสังหารทิ้ง แต่เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์รู้ตัวก่อนจึงประกาศแก่คนทั้งปวงว่า …เราได้ทำราชการมาด้วยความสุจริต เดี๋ยวนี้พระเจ้าแผ่นดินพาลเอาผิดว่าคิดกบฏ เมื่อภัยมาถึงตัวก็จำต้องเป็นกบฏตามรับสั่ง…

เหล่าขุนนางข้าราชการทั้งปวงพากันเข้าด้วย เจ้าพระยากลาโหมจึงคุมกำลังเข้ามาปล้นพระราชวัง จับสมเด็จพระเชษฐาธิราชซึ่งในยามนั้นมีชันษาได้ราว 15 ปี ไปปลงพระชนม์ จากนั้นขุนนางทั้งปวงจึงอัญเชิญเจ้าพระกลาโหมสุริยวงศ์ให้ขึ้นครองราชย์ แต่เจ้าพระกลาโหมสุริยวงศ์ปฏิเสธและอัญเชิญสมเด็จพระอาทิตยวงศ์ พระโอรสองค์เล็กของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมขึ้นครองราชสมบัติสืบไป โดยมีเจ้าพระกลาโหมสุริยวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน

ทว่าพระอาทิตยวงศ์ยังทรงพระเยาว์นักจึงได้แต่ทรงเล่นสนุกจนไปล่วงเกินขุนนางผุ้ใหญ่หลายครั้ง สุดท้ายขุนนางทั้งปวงจึงไปข้อร้องให้เจ้าพระกลาโหมสุริยวงศ์ขึ้นครองบัลลังก์แทนเพื่อเห็นแก่บ้านเมือง เจ้าพระกลาโหมสุริยวงศ์จึงถอดพระอาทิตยวงศ์ลงจากราชสมบัติ แล้วจึงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ใน พ.ศ. 2173 เมื่อมีพระชนมายุได้สามสิบพรรษา(บางตำราว่า สามสิบห้า) โดยทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง

แหล่งที่มา    เว็บไซต์ Mthai News 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...