วันจันทร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

อยากให้หมาเป็นอย่างไร ก็สอนมันอย่างนั้น


หลายท่านยังเข้าใจผิดอยู่ว่า การฝึกน้องหมาก็คือ การส่งไปตามศูนย์ฝึกฯ ต่างๆ เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญอบรมบ่มนิสัย หากแต่ความเป็นจริงแล้ว การฝึกน้องหมานั้น มันจะจดจำสิ่งต่างๆ รอบตัว มันตั้งแต่วันแรกที่ท่านพามันเข้าบ้าน วินาทีนั้นพวกมันจะรับรู้ และซึมซับทุกสิ่งอย่างที่มันมองเห็น มันจะจดจำ และเริ่มเลียนแบบ ไม่ว่าท่านจะทำสิ่งใดมันก็จะเฝ้าสังเกต และทดลองทำ หากสิ่งที่มันแสดงออกมาแล้ว เราพอใจ เราหัวเราะ เราชื่นชอบ และโอบอุ้มมัน มันก็จะจำว่าสิ่งนั้นๆ คือสิ่งที่ดี สิ่งที่ทำให้ชีวิตมันสนุก มีแต่คนชอบมัน รักมัน แต่หากสิ่งใดที่มันกระทำแล้วมันโดนดุหรือบางท่านอาจตีมัน มันก็จะจดจำเช่นกันว่า อาการเช่นนี้ไม่ควรทำ 

คราวนี้ก็อยู่ที่เจ้าของแล้วว่า ท่านอยากให้น้องหมาของท่านเป็นเช่นไร สิ่งใดที่มันแสดงออกแล้วท่านชื่นชอบก็ให้รางวัลมัน สิ่งใดที่ท่านเห็นว่าไม่เหมาะ ไม่ถูก ก็ต้องดุ ต้องตักเตือนมัน บอกมันด้วยว่าเราไม่ชอบสิ่งนั้นๆ เพราะเหตุใด สอนมันด้วยว่าหากมันอยากให้เรารักมัน มันก็ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมเสียใหม่ เช่น เมื่อวันแรกๆ ที่เราพามันเข้าบ้าน ความที่มันยังเด็ก ยังตัวเล็กๆ เมื่อมันอยากมาหาเรา มันก็จะวิ่งเข้ามาพร้อมกับกระโดดใส่เรา มันอยากให้เราอุ้ม เราก็ไม่ขัดขืน กลับแสดงอาการรักใคร่ กอดมัน จับมือมัน อุ้มมัน สิ่งเหล่านั้นมันก็จะซึมซับว่าเราชอบ และเริ่มเก็บไว้เป็นความทรงจำ สะสมไปเรื่อยๆ เมื่อมันโตขึ้นยังคงกระทำเช่นนี้อยู่เนืองๆ

แต่ความที่มันโตขึ้นทำให้น้ำหนักตัวก็มากขึ้นด้วย ความแรงของการโถมตัวก็มากขึ้นจนเรารับไม่ไหว เราอาจล้มลงไปตามแรงนั้น หรือมีบาดแผลโดยที่มันเองก็ไม่ได้ตั้งใจ หลายท่านที่เจอปัญหานี้ก็ตัดสินด้วยการดุด่า ทุบตี และผลักไส ถึงขั้นรุนแรง ก็คือไล่มันไม่ให้เข้าใกล้เรา โดยไม่อธิบายสาเหตุให้มันรู้ น้องหมา มันจะงงนะ มันไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น ก็เมื่อก่อนมันยังทำได้ ทำไมตอนนี้ทำไม่ได้ มันไม่รู้ว่ามันโตแล้ว มันตัวใหญ่ มันทำให้เราเจ็บ มันคิดซับซ้อนไม่เป็น เราต้องช่วยมันถ้าเรายังรักมันอยู่ บอกมันอธิบายให้มันเข้าใจว่าสิ่งนี้ทำไม่ได้แล้วนะ เราเจ็บ เมื่อเราเจ็บเราก็จะไม่รักมัน ไม่อยากเข้าใกล้มัน พูดกับมันด้วยสีหน้าที่จริงจังและน้ำเสียงที่หนักแน่น ทำตัวเราให้นิ่งๆ มันจะเริ่มรับรู้และจดจำ ในที่สุดมันจะค่อยๆ ปรับตัวเองให้ลดอาการนั้นๆ ลงจนกระทั่งสงบ อย่าลืมนะในขณะที่มันลดอาการลง พฤติกรรมดีขึ้น เราก็ต้องแสดงอาการชื่นชมมัน ให้รางวัลมัน จะเป็นอะไรก็ได้ที่มันชอบ แต่อย่าให้บ่อยจนเกินไป เดี๋ยวมันจะแยกไม่ออกว่าอันไหนคือรางวัลความดี อันไหนคือเรื่องปกติที่ได้รับ

ปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่เราน่าจะศึกษาก็คือ อุปนิสัยของน้องหมา เพราะว่ามันมีผลอย่างมากในการเลี้ยงดูพวกมัน น้องหมาบางตัวชอบการแสดงออก เช่น ยกมือสองข้างเป็นการขอสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นขนมหรือของเล่น เมื่อมันกระทำเช่นนั้น เราก็ชื่นชอบและให้รางวัลมัน มันก็จะจดจำว่าเป็นสิ่งที่ดี และจะกระทำบ่อยๆ ในขณะที่บางตัวชอบเก็บตัวเงียบๆ ไม่สุงสิงกับใครให้ของก็เอา ไม่ให้ก็อยู่เฉยๆ ไม่เดือดร้อนกับสิ่งรอบตัว กรณีเช่นนี้ หากเราพอใจอยู่แล้วก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าเราอยากให้มันเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นร่าเริง สนุกสนาน เราก็ต้องเหนื่อยหน่อยนะ เพราะเราต้องใช้แรงจูงใจเยอะทีเดียว

ความปรารถนาสูงสุดในการเลี้ยงน้องหมาของเราๆ ก็คือ การที่น้องหมาไม่ซุกซนจนเกินไป เพราะมันจะเป็นสีสันให้เราได้หัวเราะ ไม่ก้าวร้าวทั้งกับเราเองและผู้อื่น ไม่ทำลายข้าวของ เช่น กัดแทะโน่น นี่ นั่น ไม่เห่าพร่ำเพรื่อ และไม่ทำเลอะเทอะทั่วบ้าน ทุกสิ่งที่กล่าวมาล้วนแต่ฝึกสอนได้ทั้งสิ้น ทั้งตัวท่านเองหรือส่งเข้าศูนย์ฝึกฯ เพียงแต่วิธีการจะแตกต่างกันไปบ้าง ก็ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ของแต่ละท่าน ผลลัพธ์ที่ออกมาเร็วบ้าง ช้าบ้าง ก็ขอให้ใจเย็นๆ สักนิด ใช้คำพูดสั้นๆ ที่ฟังแล้วจะจำได้ง่าย เช่น มา นอน คอย สวัสดี ฯลฯ อ้อ! อย่าลืมให้รางวัลในเวลาที่มันทำถูกต้อง และทำโทษเวลาที่มันดื้อหรือทำผิด สำคัญจริงๆ นะ

แหล่งที่มา    เว็บไซต์กระปุกดอทคอม เรื่องโดย : วันไชย เจียมภักดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...