นพ.ทัตเทพ บุณอำนวยสุข แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรค คอ หู จมูก ประจำสถาบันบำราศนราดูร กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า การใช้ไม้แคะหูเมื่อคันหู หรือใช้ไม้พันสำลีเช็ดในรูหูหลังอาบน้ำหรือสระผม โดยเฉพาะตามร้านตัดผมชายซึ่งมีบริการหลังตัดผม เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เนื่องจากอาจทำให้ขี้หูเข้าไปอุดตันในรูหู หรือเกิดอันตรายต่อผิวหนังในรูหู เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรค หรือแก้วหูทะลุได้
ทั้งนี้โดยเฉพาะการใช้บริการแคะหูในร้านตัดผมชายนั้นไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากใช้เครื่องมือที่ไม่สะอาดมาแคะหู จะทำให้เกิดอันตรายในขณะแคะหู และติดเชื้อจากเครื่องมือไม่สะอาด ทั้งเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา หรือหากแคะลึกเกินไป อาจทำให้แก้วหูทะลุได้
นพ.ทัตเทพกล่าวว่า หูชั้นนอกจะมีขี้หู ซึ่งเกิดจากขี้ไคลที่ผสมกับน้ำที่อยู่ในต่อมที่อยู่ในหู ทำหน้าที่ดักฝุ่นละออง สิ่งแปลกปลอมต่างๆ และมีกลิ่นเฉพาะ ดังนั้นขี้หูจึงไม่ใช่สิ่งสกปรกแต่อย่างใด ไม่จำเป็นต้องแคะหรือปั่นออกมาเพราะโดยธรรมชาติขี้หูจะค่อยๆเลื่อนออกมาเอง แต่คนทั่วไปมักจะเข้าใจผิดว่าขี้หูเป็นสิ่งสกปรกและพยายามแคะออกเพื่อให้หูสะอาด
ทั้งนี้การทำความสะอาดรูหูโดยใช้แอลกอฮอล์ชุบไม้พันสำลีเพื่อเช็ดทำความสะอาดในรูหูก็ไม่ควรทำ เพราะแอลกอฮอล์ไม่ได้ฆ่าเชื้อโรคเท่านั้น แต่จะทำให้ผิวหนังบริเวณรูหูแห้ง หากแอลกอฮอล์ไหลเข้าไปถึงบริเวณหูชั้นกลางที่มีแผลถลอกอยู่แล้ว ก็จะเกิดการระคายเคืองและการอักเสบตามมา ทำให้เป็นหูน้ำหนวกได้
นอกจากนี้ การใช้คอดตอนบัดที่มีขนาดใหญ่หรือเท่ากับรูหู เข้าไปปั่นในรูหู เท่ากับว่าเป็นการดันขี้หูให้ลึกลงไปอีก ทำให้กลไกที่ขี้หูจะดันออกมาตามธรรมชาติเสียไป เกิดปัญหาขี้หูอุดตัน การได้ยินเสียงไม่ชัดเจนเหมือนปกติ ต้องมาพบแพทย์เพื่อหยอดยาและดูดขี้หูออกมา ซึ่งถ้าผู้ทำไม่มีความชำนาญก็เสี่ยงต่อหูน้ำหนวกได้ โดยที่สถาบันบำราศนราดูรพบผู้ป่วยประเภทนี้ได้เดือนละประมาณ 100 กว่าราย
สำหรับวิธีการทำความสะอาดหูอย่างถูกวิธีและไม่เป็นอันตรายนั้น ขอให้ทำความสะอาดเฉพาะใบหูและบริเวณปากรูหู โดยใช้สำลีหรือผ้าขนหนูนุ่มๆ ชุบสบู่หรือน้ำ เช็ดเบาๆบริเวณใบหู และขณะอาบน้ำ สระผม ขอให้ระวังอย่าให้น้ำเข้าไปในรูหู หากรู้สึกว่ามีน้ำเข้าหูบ่อย ควรป้องกันโดยใช้สำลีปั้นเป็นก้อนขนาดประมาณหัวแม่มืออุดหูก่อนอาบน้ำสระผม ในกรณีของเด็กเล็ก พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ควรใช้คอดตอนบัดทำความสะอาด เพราะเด็กมีรูหูที่ตื้น ก่อนอาบน้ำให้เด็กขอให้ใช้สำลีอุดหูเพื่อป้องกันน้ำเข้าหู ถ้าเกิดความผิดปกติแนะนำให้ไปพบแพทย์
“สิ่งที่คนเรามองข้ามไปเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพหู คือ ไม่ควรฟังเพลงเสียงดังนานเกินไป จะทำให้เกิดโรคหูตึงไปจนถึงหูดับถาวร ข้อจำกัดในการอยู่ในที่เสียงดังคือ ถ้าอยู่ในที่ที่มีเสียงดังตั้งแต่ 85 เดซิเบลขึ้นไป ไม่ควรอยู่นานเกินวันละ 8 ชั่วโมง และต้องมีเครื่องป้องกันเสียงสวมครอบหูไว้ด้วย รวมทั้งหากเกิดอาการเจ็บ ปวดบริเวณหู หรือได้ยินเสียงไม่ชัดเจน ไม่ควรซื้อยามาหยอดเอง ขอให้มาพบแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุและรักษาให้ตรงตามโรคและถูกวิธี” นพ.ทัตเทพกล่าว
แหล่งที่มา เว็บไซต์โพสทูเดย์ 18 มีนาคม 2555 เวลา 12:11 น.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น